G20 หนุนลด “ขยะในทะเล” เบื้องหลัง “ญี่ปุ่นโมเดล”

ปัจจุบันขยะพลาสติกในทะเลกลายเป็นปัญหาในระดับโลก นอกจากจะทำลายระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การประมง การท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่ง ยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การประชุมของรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานของกลุ่มประเทศ “จี 20” ที่เมืองคารุอิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันถึงแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ชาติสมาชิกแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล

“เกียวโด” รายงานว่า นายโยชิอากิ ฮาราดะ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น กล่าวในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ
การจัดประชุม จี 20 กรอบข้อตกลงนี้ถือเป็น “ความสำเร็จครั้งสำคัญ” โดยเน้นแผน “วงจรสะอาด” เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลของแต่ละประเทศควรสนับสนุนให้เอกชนใช้นวัตกรรมที่ก้าวหน้าในอุตสาหกรรม และออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบการจัดการขยะ และเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย

“ฮิโรชิเกะ เซโกะ” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุถึงมาตรการล่าสุดของญี่ปุ่น คือ เรียกร้องให้ภาคธุรกิจเก็บค่าถุงพลาสติกจากลูกค้าอย่างต่ำ 10 เยน/ถุง ภายในเดือน เม.ย. 2020 เพื่อกระตุ้นการลดปริมาณขยะพลาสติก ทั้งนี้ ได้มีการใช้มาตรการนี้แล้วในบางพื้นที่ของญี่ปุ่น เช่น จังหวัดโทยามะ ที่ออกมาตรการยกเลิกการให้ถุงพลาสติกฟรีในร้านสะดวกซื้อตั้งแต่ปี 2008 โดยสัดส่วนของผู้ที่นำถุงผ้ามาเองเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 95% ในปัจจุบัน

สำหรับ “โคคา-โคลา (เจแปน)” ได้ออกแบบขวดที่ลดปริมาณการใช้พลาสติก ส่วน “เซเว่นแอนด์ไอโฮลดิ้งส์” ได้ออกแคมเปญช่วยกันเก็บขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เป็นขวดบรรจุแบบรีไซเคิลรอยเตอร์ส รายงานว่า นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ระบุว่า ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศผู้นำของโลกในการลดขยะพลาสติก รวมถึงการพัฒนาถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม กรอบข้อตกลงนี้ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย เป็นมาตรการตาม “ความสมัครใจ” และนำมาแลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาให้กับประเทศอื่น เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันสำหรับประเทศต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้

ปัจจุบันมีขยะพลาสติกในทะเลราว 8 ล้านตัน กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์ทะเลบางส่วนกลืนกินไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรสะสมไว้ในตัว กลายเป็นพิษต่อมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลเหล่านั้น ทั้งนี้ ยังต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการของกลุ่ม จี 20 จะช่วยแก้วิกฤตทำให้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลลดน้อยลงเหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่