ฉัตรสุมาลย์ : เอกภาพที่ต้องฟูมฟัก

หลังจากการขับเคลื่อนสร้างเวทีให้ภิกษุณีสงฆ์มีพื้นที่มารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และพูดคุยกันถึงงานที่ตนเองทำในอารามต่างๆ เช่น ที่ลำปาง ยโสธร สงขลา หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา อุทัยธานี นครปฐม ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 12 เมษายน ที่เพิ่งผ่านมานี้ 2562

การพบปะกันครั้งนั้น สร้างความเป็นเอกภาพและสมานฉันท์ที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม ภิกษุณีรูปหนึ่งเดินทางมาไกลจากสุโขทัย โดยที่คณะผู้จัดงานก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีภิกษุณีในจังหวัดสุโขทัยแล้ว

18 ปีแล้วค่ะ ที่ท่านธัมมนันทาออกบวชในสายเถรวาทเป็นรูปแรก ปีแรกก็เดินรูปเดียวจริงๆ เมื่อมีรูปที่สองตามมาในปีถัดมา ท่านก็พูดทีเล่นทีจริงว่า จำนวนภิกษุณีเพิ่มขึ้น 100% ก็เถียงท่านไม่ได้

ตอนนี้มีอย่างน้อย 270 รูป กระจายกันอยู่อย่างน้อย 30 จังหวัดในประเทศไทยแล้วค่ะ

 

การจัดงานวันที่ 12 เมษายน เป็นหมายของการขับเคลื่อนของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทที่สำคัญ เป้าหมายคือการขับเคลื่อนไปด้วยกัน ภิกษุณีสงฆ์ต้องอิงอาศัยกัน โดยพระวินัยก็เป็นเช่นนั้น ให้เราอิงอาศัยกัน อยู่ด้วยกัน จะทำสังฆกรรมก็ต้องอาศัยสังฆะ จะรับกฐิน ก็ต้องอยู่กันเป็นสังฆะตลอดพรรษาจึงจะรับกฐินได้ เช่นนี้เป็นต้น

ในช่วงนั้นเอง มีภิกษุณีที่ได้เริ่มตระหนักว่า ที่ไปบวชกลับมาจากศรีลังกานั้น เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ต้องมีครูบาอาจารย์ ภิกษุณี 4 รูป จาก 4 อารามต่างๆ กัน ขอให้ท่านธัมมนันทารับเป็นศิษย์

เมื่อรับเป็นศิษย์แล้ว ไม่ใช่ทำพิธีดูดีเท่านั้น แต่ต้องน้อมนำไปสู่การสร้างคุณภาพที่ตนเองด้วย จึงนำมาสู่การจัดโครงการอบรม ช่วงนี้ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จึงอบอุ่น มีภิกษุณีสงฆ์มาจากหลากหลายอาราม มาค้นพบสหายธรรมในกันและกัน มีความตระหนักรู้ว่า แต่ละรูปต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งสิ้น

เราจึงได้เห็นเอกภาพที่งดงามในภิกษุณีสังฆะ

แต่เอกภาพนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลายาวนานให้เกิดความตระหนักรู้ในตน และเอกภาพนี้อย่าถือว่าได้มาแล้ว ต่อไปจะยังไงก็ได้ ไม่ได้ค่ะ

เมื่อได้มาแล้ว เห็นความสำคัญ จึงต้องฟูมฟัก

 

ภาษาไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่า อบรม บ่มเพาะ ปลูกฝัง ล้วนมาจากบริบทของเกษตรกรรม เดิมนั้น ประเทศไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรมนะ คำที่มีความหมายทางเกษตรจึงติดมากับวัฒนธรรมไทยด้วย

เมื่อพิจารณาบริบทของภิกษุณีก็เป็นเช่นนั้น

คนที่จะเป็นภิกษุณีนั้น ต้องให้เวลาอย่างต่ำ 4 ปี ที่จะได้รับการอบรมอยู่กับครูบาอาจารย์ จนกว่าจะออกไปอยู่ตามลำพังได้ นั่นคือ เป็นสิกขมานา 2 พรรษา เมื่ออุปสมบทแล้วถือนิสสัยอยู่กับปวัตตินี (คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์) อีก 2 พรรษา

ต่างจากพระภิกษุ ผู้ชายนั้น เมื่ออายุครบ 20 ก็อุปสมบทเป็นภิกษุได้ทันที ถือนิสสัย อยู่กับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อย 5 ปี พระอาจารย์จึงจะอนุญาตให้ไปเองได้ บางกรณีก็ต้องถือนิสสัยตลอดไปก็มี

พระภิกษุต่างชาติที่บวชกับหลวงปู่ชานั้น เพื่อให้มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านจิตใจ ในการรักษาพระวินัย และบริบทของความเป็นพระ แต่ละรูปอยู่ถือนิสสัยกับหลวงปู่กว่า 10 ปีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์สุเมโธ พระภิกษุชาวอเมริกัน ที่ไปอยู่ที่อังกฤษ สร้างวัดอมราวดี และวัดป่าชิตเฮิร์ส หรือท่านอาจารย์พรหมวังโส ชาวอังกฤษที่ไปอยู่ที่ออสเตรเลีย สร้างวัดที่นั่น ต้องบอกด้วยว่า ทั้งสองรูปนี้มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณทั้งคู่

ที่ว่าเช่นนี้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการอบ รม บ่ม เพาะ เพื่อจะได้เติบใหญ่เป็นไม้ที่แข็งแรงพอที่จะให้ร่มเงาแก่ชาวพุทธได้จริง

 

ภิกษุณีไทยบางรูป ตื่นเต้นกับการบวช อยากเป็นภิกษุณี แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการการปลูก ฝัง บ่ม เพาะ ขัด เกลา ในพระธรรมวินัย เมื่อบวชมาแล้วก็จะสร้างปัญหาให้กับตนเอง และสังฆะ ทั้งยังไม่สามารถที่จะมีร่มเงาเป็นที่พึ่งให้ญาติโยมได้

ตรงนี้เอง ที่ผู้เขียนเห็นความสำคัญในกระบวนการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ภิกษุณีบางรูปอยู่กันตามลำพัง ก็จะเกิดการตระหนักรู้ว่า ไม่ได้แล้ว เราจะเป็นไม้ใหญ่ไม่ได้เลยหากตัวเราเองไม่มีแก่นและราก

แก่นและรากคือพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงเน้นกับพระอานนท์ในวาระสุดท้าย ว่า ให้ถือพระธรรมวินัยเป็นทีป คือเป็นเกาะ เป็นหลักที่เราจะยึดเหนี่ยวไว้ได้

ผู้ที่รักษาพระวินัยโดยปราศจากธรรมก็จะแข็งตึง แห้งแล้ง และตายไปในที่สุด เราต้องระลึกเสมอว่า ธรรมะต้องกำกับพระวินัย

พระวินัยจะเป็นกรอบการปฏิบัติที่ออกมาจากใจที่ได้อบรมมาดีแล้วในธรรมะ เช่นนี้ภิกษุณีสังฆะก็จะก้าวย่างไปด้วยกันได้

พระสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีให้เคารพกันในอายุพรรษา โดยทำความเข้าใจว่า ผู้ที่บวชมาก่อนก็ย่อมได้รับการอบรมบ่มเพาะมายาวนานกว่า ก็ย่อมจะสั่งสอนผู้ที่เข้ามาบวชทีหลังได้

เรื่องการอบ รม บ่ม เพาะนี้ ท่านธัมมนันทาท่านเพิ่งสอนโดยการเปรียบเทียบกับการทำขนมไทยบางอย่างที่มีการรมด้วยเทียน เอาขนมที่จะรมเรียงลงในโหลแก้ว นั่นคือ จำกัดพื้นที่ พระสงฆ์จึงให้อยู่ในวัด

เมื่อใส่เทียนที่จุดไฟติดแล้ว วางลงไปกลางโหล แล้วปิดฝา การปิดฝา คือ กระบวนการดับไฟ แล้วเทียนยังวาบอยู่ส่งควันขึ้นมา หอมอบอวล ควันหอมนั้น เข้าไปเนื้อขนม เวลาเรากินขนม นอกจากจะสัมผัสกับรสทางลิ้นแล้ว ก็ยังสัมผัสกับกลิ่นทางจมูก และเพราะอบมาอย่างดี ทุกคำที่กัดกิน ก็จะสัมผัสได้ทั้งกลิ่นและรส

 

การอบรมภิกษุณี ก็ต้องจำกัดพื้นที่ อยู่ภายในวัด ถ้าเปิดฝาโหลทุกบ่อย ความหอมก็จะไม่เข้าเนื้อ

จะให้ได้ทั้งรส ทั้งกลิ่น จึงต้องมีเงื่อนไขทางการจำกัดพื้นที่ เงื่อนไขของเวลาที่จะอบให้หอม และเทียนที่ใช้อบ คือ ความรู้จากครูบาอาจารย์เอง ถ้าครูบาอาจารย์เป็นประเภทอุ๊กแก๊ส (คือบ่มด้วยแก๊ส) ก็อาจจะได้กลิ่นตุๆ ไปแทน

หากภิกษุณีแต่ละรูปที่อุปสมบทกลับมาแล้ว มีความชัดเจนที่จะช่วยกันสืบพระศาสนาให้ยั่งยืน ก็ต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า ต้องมีความพร้อมที่จะผ่านกระบวนการฝึกฝนอบรมอยู่ในสังฆะ เพื่อให้ตนเองมีความสามารถที่จะประสานกลมกลืนกับสังฆะได้ ไม่ทำตัวโด่เด่

ไม้ที่จะยืนหยัดบนเขาได้ ต้องเป็นไม้ที่แข็งแกร่ง รากยาว ลึก และแผ่ออกในวงกว้าง ผู้เขียนเคยดูสารคดีที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงสนับสนุนการปลูกข้าวนั้น พบว่า ข้าวที่ถือว่าพันธุ์ดีนั้น รากยาวกว่าลำต้นกว่าเท่าตัว เช่น ลำต้นสูง 1 เมตร รากนั้นลึกกว่า 2 เมตร เช่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ในการที่จะเป็นพระสงฆ์ที่จะสืบพระศาสนาได้นั้น รากทางธรรมต้องหยั่งลึกมากเพียงใด

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่ช่วงระยะเวลา 2 ปี หรือ 5 ปีที่ต้องถือนิสสัยกับพระอาจารย์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติและฝึกปรือไปจนตลอดชีวิต และอีกหลายชาติ จนกว่าจะถึงฝั่งพระนิพพานทีเดียว

การอบรม การพบปะกัน การมาลงปาฏิโมกข์ด้วยกันทุกกึ่งเดือนจึงเป็นโอกาสที่พระวินัยกำหนดให้สังฆะได้เข้ามาหากันอยู่แล้ว

เอกภาพของพระสงฆ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องฟูมฟักทะนุถนอมเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระสงฆ์เป็นหมายหนึ่งของพระศาสนา

ลองนึกถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยที่ศาสนาไม่มีตัวแทนที่เป็นพระสงฆ์ที่มีตัวตนเดินดินจริงๆ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่มีธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์นั้น จะอยู่ได้ไหม

เช่นนี้จึงขึ้นหัวข้อว่า เอกภาพของพระสงฆ์ทั้งภิกษุและภิกษุณีเป็นสิ่งที่ต้องฟูมฟักรักษา