ธุรกิจพอดีคำ | หลักสำคัญสร้างนวัตกรรม

“กางเกงตัวนั้น”

วันนี้วันดี

มานี ภรรยาท่านประธานกรรมการบริษัท อายุ 55 ปี

มาเยี่ยมท่านประธานมานะถึงออฟฟิศ

กะว่าจะมากินกลางวันด้วยกัน

ระหว่างที่เดินขึ้นไปที่ห้องของท่านประธานกรรมการบริษัท

ก็สังเกตเห็นคนหนุ่ม-สาวมากหน้าหลายตา ทำงานอย่างขยันขันแข็ง

และเหลือบไปเห็นสาวนางหนึ่ง แต่งตัวเปรี้ยว เสื้อรัดรูป กางเกงเข้ารูป เห็นสัดส่วนชัดเจน

ทำเอาเหล่าชายหนุ่ม ชายแก่ในออฟฟิศ ต่างหันมองกันตาไม่กะพริบ

มานี ภรรยาท่านประธานเห็นดังนั้น

เลยอยากจะเอาใจสามี

รีบบอกคนขับรถให้ไปซื้อกางเกงตัวเดียวกันกับสาวสวย

ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ก็ได้กางเกงตัวใหม่มาไว้ในครอบครองสมใจ

เธอจัดแจงเปลี่ยนกางเกงรัดรูป สีสันฉูดฉาด

เดินขึ้นไป หวังสร้างความประทับใจให้ท่านประธาน

หากแต่เพียงว่า

ผมเองได้มีโอกาสสอนเรื่อง “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)”

ให้ผู้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมๆ ก็หลายพันคน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ที่คนได้ยินคำนี้ ก็คิดว่าผมจะสอน “วาดรูป” หรือเปล่า

มาจนถึงวันนี้ที่องค์กรใหญ่ทุกแห่งอยากจะเรียน อยากจะรู้

หากแต่ว่า จากการที่ได้พบปะผู้บริหารมามากมาย

ทำให้ผมรู้ว่า มีผู้บริหารหลายๆ ท่านที่ใช้ “ความคิดเชิงออกแบบ” มานานแล้ว

เพียงแต่ไม่ได้เรียกชื่อนี้เท่านั้นเอง

หนึ่งในนั้นคือ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์

เจ้าของบริษัทเวิร์คพอยท์ และนักแต่งเพลงชื่อดัง

ผมนี่เป็นแฟนคลับวงเฉลียงเลยครับ ตั้งแต่เด็กๆ

เด็กๆ ฟังเพราะๆ โตขึ้นมา พอฟังความหมายของหลายๆ เพลง

ทำเอาน้ำตาไหลเลยนะครับ เช่นเพลง อื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

พี่จิกเป็นคนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างธุรกิจจาก “ความคิดสร้างสรรค์” อย่างแท้จริง

งานรายการทีวี แต่งเพลง เป็นงานที่ต้องสร้างสรรค์ออกมาจริงๆ

ไม่ใช่แค่คิดๆ เขียนๆ บน powerpoint อย่างที่หลายๆ ธุรกิจมักทำกัน

การวางแผนสวยหรู กับการลงมือทำนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การคิดเองเออเอง นั่งประชุมว่าผู้บริหารชอบอะไรอย่างไร

กับการนำผลงานออกสู่สายตาประชาชนเพื่อรับการวิจารณ์นั้น แตกต่างกันมาก

และแบบหลัง จะเป็นข้อมูลที่ “จริง” เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ในตอนท้ายๆ ของคลาส พี่จิกแบ่งปันประสบการณ์เอากับในกลุ่มผู้บริหารครับ

พี่จิกบอกว่า เรื่องของการทดสอบต้นแบบที่เราเพิ่งเรียนกันไปนั้น คล้ายๆ กับสิ่งที่แกทำมาตลอด

ยกตัวอย่างเช่น การแต่งเพลง

หลายๆ ครั้ง พี่จิกก็จะมีน้องๆ ที่เป็นนักแต่งเพลง เอาเพลงที่แต่งมาขาย

เอามาให้ลองฟัง

แต่ก่อนที่จะเปิดให้ฟัง นักแต่งเพลงเหล่านี้มักจะทำสิ่งหนึ่ง

นั่นคือ การ “อารัมภบท” ครับ

เขาจะพูดถึงแรงบันดาลใจ ที่มาที่ไป ส่วนผสม เรื่องราวต่างๆ

ทำไมเขาจึงแต่งเพลงนี้ ได้ไอเดียมาจากไหน ต่างๆ นานา

โหมโรงให้เข้าถึงกันไป ก่อนที่จะได้ฟังเพลงเสียอีก

แต่พี่จิกมักจะ “เบรก” และบอกให้ “เปิดเลย”

ไม่อยากฟัง “อารัมภบท”

พอถามว่า “ทำไม”

พี่จิกบอกว่า “คนฟังเขาไม่ได้ฟังอารัมภบท”

คนฟังจริงๆ ไม่มีเวลามาก

ฟังเลย สิบวิแรก ชอบเลย น่าสนใจก็ฟังต่อ

ไม่ชอบ ก็เปลี่ยนคลื่นวิทยุทันที

ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสมานั่งฟังที่มาที่ไป

เหมือนขนมญี่ปุ่น ที่มีเรื่องราวมากมาย

“เพลง” นั้นไม่ใช่ เพลงไม่มีอารัมภบท

เช่นเดียวกับงานความคิดสร้างสรรค์หลายๆ อย่าง

อาทิ การดูงานโฆษณาสักชิ้น

ผมเคยเห็นผู้บริหารองค์กรที่นั่งบนตึกสูงๆ

มานั่งออกความเห็นกันเป็นจริงเป็นจัง

สีนั้นดีกว่า ตรงนี้น่าจะพูดแบบนี้ ยังงั้นยังงี้

เหมือนเป็นการคลายเครียดจากงานอื่นๆ ที่ท่านๆ ต้องพบเจอมา

หากแต่ว่า งานโฆษณา การตลาด นั้นก็มีวิชาของมันเช่นกัน

มีวิธีการบอกว่า แบบไหนควรไปต่อ แบบไหนควรปรับ

โดยเฉพาะในยุคดิจิตอล ที่การทดสอบ โฆษณา ว่าโดนใจลูกค้านั้น

ทำได้ง่ายมากๆ จากการโพสต์ลงไปใน Facebook

ได้เห็นกันจริงๆ ว่า ปกติเวลาคนเล่น Facebook

เขาไม่ได้มีเวลามากมายมานั่งวิจารณ์งานโฆษณา

เขาเลื่อนๆ ไปเรื่อยๆ อะไรที่เขาสะดุดตา ก็กดดู

อะไรที่ไม่สะดุดตา ก็ปล่อยผ่าน ไม่มีเวลามาดูรายละเอียด

ที่เขาเรียกกันว่า A-B Testing ทำหลายๆ เวอร์ชั่นง่ายๆ

แล้วดูว่าคนชอบอันไหน ค่อยลงเงินเพิ่ม

เรียนรู้จากลูกค้าให้ไว แล้วค่อยๆ ปรับ

มิใช่มานั่งประชุมออกความเห็นกัน

คุณค่าที่ได้จากความเห็นนั้นไม่คุ้ม เสียเวลาพี่ๆ ผู้บริหารแน่ๆ ครับ

หลักการที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรมก็คล้ายๆ กัน

คือการ “ทดสอบต้นแบบ (Prototype Testing)”

ทำต้นแบบเสร็จแล้ว ต้องนำไปทดสอบกับผู้ใช้งาน

ย้ำนะครับ ผู้ใช้งาน

ไม่ใช่ผู้บริหาร

ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรใหญ่ๆ พูดง่าย แต่ทำยากมาก

เพราะจะทำได้ ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติ

ว่า “ความคิดเห็น” ของตัวเองนั้น ไม่สำคัญมากอีกต่อไป

การประชุมที่ลูกน้องมานั่งทำสไลด์นำเสนอ จะต้องมีน้อยลง

การออกไปคุยกับลูกค้า จะต้องมีมากขึ้น

หลายๆ ครั้งอาจจะทำให้พี่ๆ ผู้บริหารรู้สึก “ไร้ค่า” ขึ้นมาเลยก็เป็นได้

แต่ก็นี่แหละครับ การเปลี่ยนแปลงที่เราชอบพูดกัน

บทบาทที่จะเปลี่ยนไปของผู้บริหารระดับสูง ที่กำลังจะถูกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงถาโถม

จากคนเก่งสุดในห้อง กลายเป็นคนที่รู้น้อยสุด เพราะอยู่ห่างจากลูกค้ามากที่สุด

กลายเป็นบทบาทที่จะต้องสนับสนุนน้องๆ

หาคนเก่งๆ มาร่วมทีม ทำกระบวนการทำงานให้ง่าย รวดเร็ว

เหล่านี้แหละ ที่พูดว่าจะทำนั้นง่าย

แต่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริงๆ ให้ลูกน้องเห็นนั้น เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง

พูดน้อยลง ฟังมากขึ้น อะไรประมาณนี้

เริ่มต้นที่ “ทัศนคติ” นั่นเอง

ท่านประธานเห็นภรรยาใส่กางเกงตัวนั้น

เหมือนสาวน้อยเป๊ะ

คิดในใจ

“เนื้อหาใช่ แต่บริบทไม่ใช่”