ชำแหละ! LGBTQI+ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี

Participants march during a Pride event in support of LGBT rights in Seoul on June 1, 2019. - Tens of thousands of gay rights supporters paraded through central Seoul despite South Korea's main conservative opposition party denouncing the Pride event in a country where Christian churches have enduring political influence. (Photo by Ed JONES / AFP)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ มีชุดความคิดแบบชายเป็นใหญ่หรือสังคมนิยมชายเป็นชุดความคิดครอบงำสังคมอย่างเข้มข้นไม่แพ้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกประเทศอื่นๆ และชุดความคิดนี้ก็ยังฝังรากในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีพร้อมๆกับชุดความคิดที่ว่าเพศสภาพมีเพียงสองเพศอีกด้วย เพราะฉะนั้นอาจจะฟังดูไม่น่าเชื่อเท่าใดนักหากมีคนพูดขึ้นมาว่าในวงการบันเทิงเกาหลีก็มีทรานส์ที่เปิดตัวออกมาอยู่เหมือนกันนะ แม้จะเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากก็ตาม

(Photo by JUNG YEON-JE / AFP)

Hallyu หรือ Korean Wave หมายถึง ปรากฏการณ์วัฒนธรรมป็อปเกาหลีที่ส่งผ่านเพลงและละครโทรทัศน์เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่1990และเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในต่างประเทศ ปี 2000 ในช่วงยุคเริ่มต้นของฮันรยูนี่เอง ฮงซ็อกชอน ดาราตลกชื่อดัง เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ถือเป็นดาราคนแรกในวงการบันเทิงเกาหลีที่ออกมาบอกถึงเพศสภาพที่ ‘ผิดขนบ’ ของสังคมบ้านเกิด จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใดนักเมื่อฮงซ็อกชอนถูกถอดจากรายการทั้งหมดและโดนแบนจากวงการทันที แม้แต่สื่อก็ไม่มีสำนักใดยอมให้รูปหรือชื่อของฮงมีพื้นที่ข่าว

“ตอนนั้นฉันยังเด็กแต่ก็ยังจำได้ดีเพราะ(เรื่องของฮงซ็อกชอน)เป็นข่าวใหญ่ ฮงซ็อกชอนโดนแบนอยู่นานมาก กว่าจะกลับมามีพื้นที่ในสื่ออีกก็สิบกว่าปีให้หลัง ถึงเขาสามารถกลับไปมีที่ยืนในวงการบันเทิงแต่มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะถึงแม้ว่าสังคมเราดูเหมือนจะเปิดกว้างขึ้น แต่เรื่องLGBTQI+ก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามและกระอักกระอ่วนสำหรับสังคมกระแสหลักอยู่ดี การที่ฮงซ็อกชอนกลับมาปรากฏบนสื่อครั้งนั้นก็เพราะว่าเขาเปิดผับเกย์ของตัวเองแถวอีแทวอนเพื่อเป็นที่ให้คนเกาหลีที่เป็นแบบเขามีพื้นที่แสดงออก ตอนนี้เขามีร้านอาหารเป็นของตัวเองเยอะแยะด้วยนะ” อี (ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม) นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวากล่าว “สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮงซ็อกชอนก็น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนอื่นๆในวงการบันเทิงไม่กล้าเปิดตัวว่าเป็นเกย์ เพราะราคาที่ต้องจ่ายมันสูงเกินจะรับไหว”

ถึงกระนั้น หนึ่งปีให้หลัง หลังจากฮงซ็อกชอนเปิดเผยว่าเป็นเกย์ต่อสาธารณะชนชาวเกาหลี “Dodo” แบรนด์เครื่องสำอางค์เกาหลีชื่อดังก็ปล่อยโฆษณาสั่นสะเทือนวงการและขนบกระแสหลักด้วยการจ้างพรีเซนเตอร์ที่เป็นtransgender ฮารีสุ (Harisu) หรือ อีคยองอึน (Lee Kyeing-Eun) เป็นนักแสดงที่เป็นสาวประเภทสองหนึ่งเดียวในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี อีกทั้งเป็นคนเกาหลีคนที่สองที่แปลงเพศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสื่อโฆษณาของDodoตัวนี้ก็ท้าทายโครงสร้างสังคมและความรับรู้ต่อเพศสภาพในสังคมเกาหลีได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

(Photo by Ed JONES / AFP)

Korroch (2019:165-6) ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาจากสื่อโฆษณาของDodoที่ใช้ฮารีสุเป็นพรีเซนเตอร์สามารถมองได้จากสองมุมมอง หนึ่ง คือ สังคมเกาหลีปรารถนาที่จะบริโภคสื่อที่แสดงถึงรูปร่างและความสวยของผู้หญิงในอุดมคติ หรือพูดในอีกทางหนึ่งว่า ความสวยงามดั่งเทพธิดา อีกประการหนึ่ง คือ การที่Dodoจ้างนักแสดงที่เป็นทรานส์ก็เพื่อที่จะส่งสารถึงการเปลี่ยนลักษณะนิยมไม่ใช่แค่เรื่องความสวยความงาม แต่เรื่องเพศสภาพด้วย รวมถึงความต้องการสื่อสารว่าความงามไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดให้อยู่ที่เพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่ง

Korroch (Ibid 166) ยังเสริมอีกว่า ช่วงต้นทศวรรษที่2000เป็นถือเป็นช่วงเวลาทองของวงการผลิตภัณฑ์ความงามของเกาหลี เพราะกระแสกำลังบูมขึ้นมา และการที่ฮารีสุเข้าร่วมอุตสาหกรรมความงามในช่วงเวลานี้ก็ถือเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งวงการเครื่องสำอางค์แห่งเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้ และความพิเศษเฉพาะของทศวรรษ2000ตรงนี้เองที่ส่งให้ฮารีสุกลายเป็นที่รู้จักและโด่งดัง จากที่เมื่อก่อนเธอเป็นแค่นางแบบโนเนมเท่านั้น หลังจากงานโฆษณากับDodo เธอกลายเป็นเซเลบริตี้แถวหน้า เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง และนางแบบ เธอถูกแปะป้ายว่าเป็นทรานส์มากกว่าเป็นผู้หญิง Patty Jehyun Ahn บอกว่า สื่อเกาหลีมักจะให้คำอธิบายฮารสุว่า “เธอสวยกว่า เซ็กซี่กว่า และมีเสน่ห์กว่าผู้หญิงเสียอีก” (Ahn 2009:261) ฮารีสุบอกถึงวิธีที่สาธารณะรับมือกับเพศสภาพของเธอว่า “ฉันไม่คิดว่าฉันเป็นทรานส์ นั่นคือสิ่งที่สังคมตั้งให้ฉัน พวกเขาจะเรียกฉันว่าทรานส์ ไม่ใช่ผู้ชายหรือว่าผู้หญิง แล้วฉันก็ไม่คิดว่า ‘ป้าย’ ที่มีชื่อว่าทรานส์นี้จะหายไปจากฉัน มันจะคงอยู่ไปเหมือนกับความสำเร็จของฉันนี่แหละ” (Park in Ahn, 2009:268)

 (Photo by Ed JONES / AFP)

เป็นที่น่าเสียดาย เพราะถึงแม้ว่าDodoจะทำให้ฮารีสุมีชื่อเสียงจากโฆษณาและDodoเองก็ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง Dodoก็ประสบกับภาวะล้มละลายและเปลี่ยนมือเจ้าของไป แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าDodoได้สร้างปรากฏการณ์ต่อวงการอุตสาหกรรมความงามของเกาหลีไว้อย่างยิ่งใหญ่ ในขณะที่บริษัทคอสเมติคส่วนใหญ่สร้างค่านิยมและเสนอทางเลือกที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้หญิงไปถึงความงามแบบอุดมคติ และพยายามทำให้ความงามในอุดมคตินั้นเป็นบรรทัดฐานความสวยงามของผู้หญิง Dodoและฮารีสุก็ตัดบทความพยายามนั้นด้วยการนำเสนอความสวยงามแบบอุดมคติโดยtransgender

เพราะเหตุใดกระแสตอบรับจากกรณีของฮงซ็อกชอนและฮารีสุจึงแตกต่างกันแม้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก? ประการแรก คือ เพศสภาพและตัวตนของฮารีสุเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เข้ากับความสำนึกรู้ครอบงำของสังคมเกาหลี การอยู่นอกกรอบความเข้าใจของสังคมแวดล้อมส่งเสริมให้ฮารีสุทำอะไรได้มากกว่าและมีพื้นที่ให้แสดงออกให้มากกว่า ในโฆษณาผลิตภัณฑ์ของDodoที่ถ่ายให้เห็นลูกกระเดือกของฮารีสุเพื่อจะสื่อว่าเธอเป็นทรานส์ แต่คนเกาหลีส่วนใหญ่ก็เชื่ออย่างจริงจังว่าลูกกระเดือกนั้นถูกตัดต่อเข้ามา ไม่ใช่ของจริง ประการที่สอง คือ สังคมเกาหลีประสบปัญหาเรื่องความเข้าใจในการวางที่ทางให้ฮารีสุ เพราะฉะนั้นเธอจึงถูกปฏิบัติในแบบที่ไม่ปกติธรรมดา ถึงแม้ว่าฮารีสุจะเปลี่ยนเพศสภาพ แต่เธอก็เปลี่ยนร่างกาย(แปลงเพศ)และการกระทำของเธอให้เข้ากับเพศสภาพใหม่ที่เธอเลือก ซึ่งไม่ได้ไปไกลกว่าความคาดหวังของสังคมมากนัก ขณะที่ฮงซ็อกชอนกลับไปเพิ่มความคาดหวังต่อเพศและการแสดงออกของเพศชาย ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลลัพธ์ของทั้งสองกรณีออกมาต่างกัน (Korroch 2019:169)

แม้ในปัจจุบันสังคมและวงการบันเทิงเกาหลีดูจะเปิดกว้างต่อLGBTQI+มากกว่ายุคเริ่มแรกของฮันรยู แต่สุดท้ายก็ยังติดอยู่กับรากวัฒนธรรมที่เชื่อว่าเพศสภาพมีเพียงสองเพศแบบหนีไม่พ้น และความขลุกขลักของชุดความคิดก็สะท้อนออกมาเป็นประเด็นต่างๆในวัฒนธรรมป๊อป เช่น แฟนคลับนิยมชมชอบการเห็นศิลปินที่ชอบมีสกินชิพ (การแตะเนื้อต้องตัว) หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆในวงและนอกวง หรือที่เรียกว่า “คู่จิ้น” แต่แฟนคลับเหล่านี้ก็พร้อมจะแบนหากศิลปินที่ชอบเปิดตัวว่าเป็นเกย์ หรือการที่คนเกาหลีมักจะพูดติดปากว่าประเทศฉันไม่มีเกย์ แต่ในกรุงโซลก็มีผับและบาร์เกย์กระจายอยู่ทั่วย่านแห่งแสงสีช่วงกลางคืน ถึงแม้ว่าในช่วงหลังมานี้ศิลปินและนักแสดงเกาหลีจะสามารถพูดถึงเพศสภาพนอกเหนือจากแค่หญิงกับชายได้มากขึ้น แต่การพูดออกมาตรงๆก็ยังคงเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนอยู่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮงซ็อกชอนยังคงเป็นบทเรียนบทใหญ่ที่ทำให้คนที่อยู่ในวงการบันเทิงรุ่นหลังๆต้องระมัดระวังหากไม่อยากให้การถูกแบนเป็นเวลากว่าสิบปีนั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง.

อ้างอิง
Ahn, Patty Jehyun. 2009. “Harisu: South Korean Cosmetic Media and the Paradox of Transgendered Neoliberal Embodiment.” Discourse 1(3): 248-72.

Korroch, Kate. 2019. “The Isolated Queer Body: Harisu’s Dodo Cosmetics Advertisement.” Pp.165-83 in Queer Asia: Decolonising and Reimagining Sexuality and Gender, edited by J. D. Luther and J. Ung Loh. London: Zed Books.

Special thanks to H.S. Lee