มะกันไม่ขึ้นบัญชีแทรกแซงบาท | จีนขึ้นแท่นแชมป์คู่ค้าผ่านแดน | กอ.ประเมินราคาอ้อยปี “62 ยังต่ำ

แฟ้มข่าว

สศก.ยิ้มสินค้าเกษตรแนวโน้มดี

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรไทยกับอาเซียนช่วงไตรมาสแรกปี 2562 พบว่า ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าในอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 53,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.02% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล อาหารปรุงแต่งจากเนื้อปลา เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ข้าวเจ้าและข้าวหอมมะลิ ผลไม้ และยางพาราธรรมชาติ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อาหารปรุงแต่ง วัตถุปรุงแต่งอาหาร ของปรุงแต่งจากผักและผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังได้ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับตลาดหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน โดยพบว่า ไตรมาส 1/2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้าจีน 31,861 ล้านบาท สหรัฐ 11,564 ล้านบาท ญี่ปุ่น 35,200 ล้านบาท และสหภาพยุโรป 18,215 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาสแรกปี 2562 สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีทิศทางดีขึ้น มีการขยายตัวของการส่งออกในตลาดอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลดลง

มะกันไม่ขึ้นบัญชีแทรกแซงบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงการคลังสหรัฐได้เผยแพร่รายงานประเทศคู่ค้า 9 ประเทศ ที่ถูกจับตามองในเรื่องของการแทรกแซงค่าเงิน โดยไม่มีรายชื่อของประเทศไทยในบัญชีที่ถูกจับตามองว่า แม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อแทรกแซงค่าเงินครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ ยังต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐได้มีการปรับหลักเกณฑ์ในพิจารณาการขึ้นบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในหลายเกณฑ์ และมีการติดตามประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแข่งขันการค้าโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ 9 ประเทศที่ถูกจับตามองใกล้ชิด ได้แก่ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ อิตาลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งกรณีที่ไทยไม่ติดในรายชื่อ ทำให้เห็นว่าตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาในการหารือร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐ มีความเข้าใจกันดีว่าไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน เพื่อหวังการได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐแต่อย่างใด

เครื่องหนังจับตาสงครามค้าป่วน

นายสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์เครื่องหนังไทยว่า ขณะนี้สภาวะอุตสาหกรรมหนัง เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนังทรงตัว บางช่วงเพิ่มบางช่วงลด ไม่สะท้อนการเติบโตที่ต่อเนื่อง ล่าสุดอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า เดือนมกราคม 2562 มีมูลค่าการส่งออก 137 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.77% เป็นการลดลงจากการส่งออกกลุ่มเครื่องหนังเป็นหลัก ซึ่งมีมูลค่า 86 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% ขณะที่การส่งออกกลุ่มรองเท้ามีมูลค่า 51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.4% เป็นผลมาจากผลกระทบปัญหาความขัดแย้งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมทั้งเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ค่าเงินมีความผันผวนส่งผลต่อการคำนวณต้นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิต

จีนขึ้นแท่นแชมป์คู่ค้าผ่านแดน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2562 มีมูลค่ารวม 458,513.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.61% เป็นการส่งออก 256,419.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.43% และการนำเข้า 202,094.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.15% เกินดุลการค้า 54,324.82 ล้านบาท หากแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มีมูลค่า 369,365.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.05% เป็นการส่งออก 208,714.26 ล้านบาท ลดลง 3.01% นำเข้า 160,651.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.33% เกินดุลการค้า 48,063.09 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 89,147.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.75% เป็นการส่งออก 47,704.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.77% นำเข้า 41,443.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.45% เกินดุลการค้า 6,261.73 ล้านบาท สำหรับการค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 185,252.52 ล้านบาท ลดลง 0.70% เป็นการส่งออก 88,591.76 ล้านบาท ลดลง 8.78% นำเข้า 96,660.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.08% ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 38,940.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.89% เป็นการส่งออก 16,122.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.13% นำเข้า 22,817.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.62%

กสทช.เคาะค่าใบอนุญาตคลื่น 700

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 703-733/758-788 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นร่างประกาศสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่เรียกคืนคลื่นความถี่จากกิจการทีวีดิจิตอล เพื่อจัดสรรในกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะนำร่างประกาศดังกล่าวพร้อมร่างประกาศแผนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์เข้าที่ประชุม กสทช. และนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์นั้น คณะทำงานด้านการจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีมติคงราคาการจัดสรรคลื่นฯ จำนวน 3 ชุดใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท แบ่งการชำระเป็น 10 งวด (10 ปี) อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยคลื่นความถี่เริ่มใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563

กอ.ประเมินราคาอ้อยปี “62 ยังต่ำ

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูผลิตใหม่ (ฤดูการผลิต 2562/2563) ว่า คณะกรรมการอ้อย (กอ.) ได้ทำการประเมินผลผลิตอ้อยในฤดูหีบใหม่ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ คาดอยู่ที่ 119 ล้านตันอ้อย ลดลงจากฤดูหีบปี 2561/2562 ที่ได้ปิดหีบไปแล้ว ซึ่งมีผลผลิตอ้อยเข้าป้อนโรงงาน 55 แห่ง รวม 130.97 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 14 ล้านตัน โดยปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตลดลงมาจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำต่อเนื่อง จนสะท้อนไปยังราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/2563 มีแนวโน้มต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน

ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม และบางส่วนลดพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นที่ราคาดีกว่า ประกอบกับบางพื้นที่เผชิญกับภาวะภัยแล้ง