งานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากแทงก์แมน จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา มีผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ “แทงก์แมน” ชายนิรนามที่ยืนขวางหน้ารถถังอย่างห้าวหาญที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก ปรากฏตัวขึ้นในเมืองหลวงของไต้หวัน ในวาระครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

แทงก์แมน (Tank man) หรือขบถนิรนาม (Unknow rebel) เป็นฉายาของชายชาวจีนไม่ทราบชื่อ ผู้หาญกล้ายืนขวางรถถัง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 1989 ในยามเช้า หนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ภาพของชายที่กำลังยืนจังก้าหน้ารถถัง รวมถึงเดินขวางทางรถถังที่ขับเลี้ยวหนีเขา ในขณะที่กำลังเคลื่อนขบวนออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

ภาพถ่ายที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดเป็นภาพถ่ายของเจฟฟ์ ไวด์เนอร์ จากชั้นหกของโรงแรมปักกิ่ง

อีกภาพเป็นภาพถ่ายของสจ๊วต แฟรงกลิน ซึ่งเป็นภาพมุมกว้าง ที่แสดงให้เห็นแถวของรถถังที่ยาวต่อไปอีก

ภาพนี้ได้รางวัลเวิลด์เพรสอวอร์ด และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “100 ภาพถ่ายเปลี่ยนโลก” ของนิตยสารไลฟ์ ในปี 2003

เหตุการณ์นี้ก็ยังถูกบันทึกเป็นวิดีโอโดยสื่อต่างชาติอย่างซีเอ็นเอ็นและบีบีซี ซึ่งนำไปออกอากาศเผยแพร่ไปทั่วโลก

มันกลายเป็นหนึ่งในภาพจำที่โด่งดังและทรงพลังที่สุดตลอดกาล และกลายเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปทั่วโลก

นิตยสารไทม์ยังยกให้แทงก์แมนเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20

หากแต่ในประเทศจีนเอง ทั้งภาพและเหตุการณ์นี้ถูกเซ็นเซอร์และปิดกั้นอย่างหนักโดยรัฐบาลจีน จนทำให้มันถูกสาธารณชนลืมเลือนไปในที่สุด

ประติมากรรมเป่าลม“แทงค์แมน” หน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ภาพโดย Sam Yeh/AFP,ภาพจาก https://bit.ly/2WhtJJP

ผลงานศิลปะชิ้นที่ว่านี้ เป็นประติมากรรมเป่าลมรูปแทงก์แมนผู้ยืนขวางหน้ารถถัง มันปรากฏตัวขึ้นหน้าสถานที่สำคัญอย่างอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็กในไทเป ถูกทำขึ้นโดยศิลปินท้องถิ่นชาวไต้หวัน ผู้มีนามว่าเชค (Shake) โดยเธอกล่าวว่า

“ฉันหวังว่าประเทศจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยสักวันหนึ่ง ดังนั้น ฉันคิดว่ามันจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนชาวไต้หวันที่จะต้องพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ (แทงก์แมน) กันต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาหลงลืมเหตุการณ์นี้ และย้ำเตือนชาวไต้หวันว่าระบอบการปกครองในประเทศจีนนั้นอันตรายเพียงไร ซึ่งสิ่งนี้ถูกลบล้างจนสูญสิ้นไปด้วยความคิดของผู้นำเผด็จการจีน”

ผู้ที่มาเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานต่างก็โพสท่าถ่ายรูปกับประติมากรรมเป่าลมชิ้นนี้กันถ้วนหน้า

ประติมากรรมเป่าลม“แทงค์แมน” หน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ภาพโดย Sam Yeh/AFP,ภาพจาก https://bit.ly/2WhtJJP

“การจัดแสดงผลงานชิ้นนี้ ในสถานที่แห่งนี้ ในเวลานี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก เพราะในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่มากมายมาเยี่ยมเยือนอนุสรณ์สถานแห่งนี้” นักศึกษาชาวไต้หวันที่มาเยี่ยมชมผลงานกล่าว เธอยังเรียกผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาลจีน

และยังกล่าวอีกว่า “ฉันคิดว่าศิลปินกล้าหาญมากที่เอางานชิ้นนี้มาแสดงที่นี่ และฉันเป็นห่วงว่าอาจมีบางคนแอบเอาเข็มมาจิ้มมันให้แตกในตอนกลางคืนก็เป็นได้”

ประติมากรรมเป่าลม“แทงค์แมน” หน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ภาพโดย Sam Yeh/AFP,ภาพจาก https://bit.ly/2WhtJJP

ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนโหมโรงของการจัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2019 ซึ่งตรงกับช่วงสุดสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรำลึกถึงเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในไต้หวัน ซึ่งจะมีพิธีจุดเทียนรำลึก, การบรรยายและสัมมนาในวาระครบรอบ 30 ปีของการเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ประติมากรรมเป่าลม“แทงค์แมน” หน้าอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ภาพโดย Sam Yeh/AFP,ภาพจาก https://bit.ly/2WhtJJP

ในสาธารณรัฐไต้หวัน เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกถูกปกป้องด้วยระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะถือว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตนก็ตามที

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 4 มิถุนายน 2016 ปาติวเฉ่า (Badiucao/巴丢草) ศิลปินการ์ตูนการเมืองชาวจีนก็ทำเพอร์ฟอร์แมนซ์หรือศิลปะแสดงสด “One TankMan” ในเมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เพื่อสดุดีให้แก่แทงก์แมน

ปาติวเฉ่าเพอร์ฟอร์แมนซ์เป็นแทงค์แมนในเมืองแอดิเลดประเทศออสเตรเลีย,ภาพโดยBadiucao,ภาพจาก https://bit.ly/2WhtJJP

หลังจากนั้นในปี 2018 เขาก็รณรงค์ให้ผู้คนโพสท่าเป็นแทงก์แมนในแบบของตัวเอง โดยแต่งตัวเหมือนแทงก์แมน ด้วยการสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาวสีดำ และรองเท้าดำ ถือถุงกระดาษสองใบที่แสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ปาติวเฉ่าออกแบบ แล้วถ่ายรูปติดแฮชแท็ก #TankMen2018 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระครบรอบ 29 ปีของเหตุการณ์ในครั้งนั้น

 

ซึ่งก็มีผู้คนมากมายทำการโพสท่าถ่ายรูปเป็นแทงก์แมน และโพสต์เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ จากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ ฯลฯ

“พวกเขาเข้าใจสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารในทันทีทันใด และช่วยกันเผยแพร่การแสดงนี้กันแบบบ้านๆ ด้วยตัวเอง”

“สิ่งที่ผมต้องการที่สุดจากการแสดงนี้ คือการกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่าพวกเขามีพลังอำนาจแค่ไหนในการใช้หนทางอันแปลกใหม่และสร้างสรรค์เพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงจิตวิญญาณในเหตุการณ์ในปี 1989 ครั้งนั้น

และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะสามารถรักษาความทรงจำนี้และส่งให้ไปคนรุ่นใหม่ๆ มีความรู้สึกร่วมกับมันได้อย่างไร?

แทงก์แมนแสดงให้ผมเห็นถึงความกล้าหาญอย่างมากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีได้ เมื่อเทียบกับพฤติการณ์อันยิ่งใหญ่ของเขา พวกเรายังห่างไกลจากเขาอีกหลายก้าว ผมหวังว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ และได้เห็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกันไปในทั่วโลกครั้งนี้ ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยวเดียวดายและไม่ถูกหลงลืมอีกต่อไป

โครงการศิลปะในครั้งนี้ไม่ใช่โครงการสำหรับคนจีนที่ใส่ใจกับเหตุการณ์นี้เท่านั้น หากแต่เป็นโครงการสำหรับทุกคนในโลกนี้ มันบอกผมว่า ความปรารถนาในเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน มันเป็นคุณค่าอันเป็นสากล ที่เราทุกคนล้วนมีร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์”

ปาติวเฉ่ากล่าว

ดูงานเหล่านี้แล้วอดนึกไม่ได้ว่า จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบ้านเรานั้นถูกรำลึกและย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังจดจำและรับรู้ผ่านผลงานศิลปะมากน้อยแค่ไหนกัน

ถ้ามีเวลาผมจะค้นหามาเขียนให้อ่านในโอกาสต่อไปก็แล้วกันนะครับ

ข้อมูลจาก https://bit.ly/2WhtJJP, https://bit.ly/2JKOt6E, https://reut.rs/2WvXAyp