GDP ส่อแววซึมยาว พิษสงครามการค้าทุบส่งออก คลังเล็งใช้ยาแรงกระตุ้นอีกรอบ

ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและจีน นอกจากจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังทำให้การส่งออกไทยในเดือนเมษายน 2562 ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขยายตัวติดลบ 2.57% ส่งผลให้ยอดส่งออกรวม 4 เดือนแรกปี 2562 ยังคงติดลบ 1.86%

นั่นห่างไกลจากเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% เป็นปัจจัยกดดันให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เรียกประชุมทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำอยู่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศใน 58 ประเทศทั่วโลกมาประเมินสถานการณ์

นำมาสู่การประกาศปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2562 เหลือเพียง 3% หรือคิดเป็นมูลค่า 260,184 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยในช่วงที่เหลืออีก 8 เดือนนับจากนี้ ไทยต้องผลักดันส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงทำให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว

 

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การที่หลายประเทศนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ และสถานการณ์เบร็กซิท เป็นต้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยลดลง

ซึ่งหากจะผลักดันให้การส่งออกขยายตัว 3% ได้นั้น ในแต่ละตลาดต้องผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวตามเป้าหมาย เช่น จีนเพิ่ม 1-3% ญี่ปุ่นเพิ่ม 1-2% อาเซียนเพิ่ม 5.2% อาเซียน CLMV เพิ่ม 7.9% สหภาพยุโรปเพิ่ม 0% ตะวันออกกลางเพิ่ม 0-2% แอฟริกาเพิ่ม 2-4% เอเชียใต้เพิ่ม 6% อเมริกาเหนือเพิ่ม 4% และละตินอเมริกาเพิ่ม 1% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนสะท้อนภาพว่าการส่งออกไทยน่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย 3% โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน ยังคงคาดการณ์ว่ายอดส่งออกไทยปี 2562 จะเหลือเพียง 0-1% เป็นผลจากสงครามการค้าที่ฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลก หากสหรัฐตอบโต้กันไปมายืดเยื้อ หรือมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดจะยิ่งฉุดให้ส่งออกต่ำกว่า 0%

แน่นอน หากเป็นไปได้รัฐบาลควรตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (war room) ขึ้นมาจึงสำคัญ เพราะจะช่วยให้แต่ละรายอุตสาหกรรมเตรียมตัวรับมือผลกระทบที่จะตามมาได้ทัน

สอดคล้องกับมุมมองนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ว่าจะขยายตัว 1% จากเดิมที่อยู่ 3% จากสงครามการค้ายืดเยื้อ และผลจากการปรับขึ้นภาษีรอบที่ 4 วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สองประเทศต้องหาช่องทางระบายสินค้าไปยังประเทศที่สามแทน รวมถึงมาตรการทางการค้าที่สหรัฐดำเนินกับประเทศอื่น ส่งผลกระทบกับการค้าทั่วโลก

แนวทางแก้ไขในส่วนของผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าโดยการหาตลาดใหม่ รวมถึงขอให้ภาครัฐ โดยคณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ ตั้ง War room เพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น และดำเนินนโยบาย “Speed and Strategy” เพื่อรับมือ

พิษจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 1/2562 ทำขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมองบวกว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีโอกาสจะ “ฟื้นตัว” จากไตรมาสแรก โดยประเมินจากภาพรวมอุปสงค์ในประเทศเติบโต การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการสำคัญต่างๆ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนเมษายนมีการขยายตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่เรื่องการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.8% ซึ่งหลังจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าอย่างใกล้ชิด โดย ธปท.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อทบทวนถึงผลกระทบของสงครามการค้า เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบวันที่ 26 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

เมื่อภาคการส่งออกติดบ่วงสงครามการค้า เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลเชื่อมโยงถึงภาคการผลิต การลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงทิศทางกำลังซื้อในไตรมาส 2 ซึ่งในการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ร่วมกับหอการค้าไทย 76 จังหวัดเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีเสียงสะท้อนจากหอการค้าหลายจังหวัดว่าต้องการให้รัฐบาลเร่งกำหนดมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนไทย และกระตุ้นกำลังซื้อให้ประชาชน

หนึ่งในสมาชิกหอการค้า 5 ภาค “นายจิตร์ ศิรธรานนท์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนอยากให้รัฐบาลเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำ โดยควรมีมาตรการใหม่ที่เพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับประชาชนฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเจาะตลาดผู้ที่มีอำนาจการซื้อมาก ปรับปรุงกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการค้าการลงทุน การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแต่ละจังหวัด ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน ปรับกระบวนทัศน์และวิธีการคิดแก้ไขปัญหาความยากจน การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพคน

ขณะที่ภาครัฐอย่าง “นายลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มอบหมายให้แต่ละสำนักงานของ สศค. ร่วมกันกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ โดยโฟกัสไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เน้นระดับเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุด โดยเบื้องต้นมาตรการนั้นต้องเพิ่มกำลังซื้อ สร้างแรงจูงใจในการบริโภคมากขึ้น เช่น อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำ “มาตรการช้อปช่วยชาติ” มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวมาใช้ในรูปแบบใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ด้วยความหวังที่ว่า หากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจถูกอัดลงไปในระบบร่วมกับผลพวงเม็ดเงินลงทุนภาครัฐและเอกชน รายได้จากการท่องเที่ยว และรายได้ภาคการส่งออกที่จะไม่ลดลงไปมากกว่านี้ จากการเจรจาระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐ ในการประชุม G20 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ สามารถผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าได้บ้าง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังให้ขยายตัวตามเป้าหมายได้