ฐากูร บุนปาน | แข่งกับใครเขาไม่ได้ จะมีสายการบินแห่งชาติไปทำไม ?

ตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดทำให้เกิดการปิดประเทศ

ซึ่งส่งผลให้จำนวนคนเดินทางด้วยเครื่องบินลดลงร้อยละ 95

สถานการณ์ล่าสุดของสายการบิน และบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินก็จะประมาณนี้

บริติชแอร์เวส์ลดพนักงานลง 1/3 จากทั้งหมด 42,000 คน

ไรอันแอร์ปลดพนักงานออก 3,000 ตำแหน่งจาก 19,000 คน

ลุฟท์ฮันซ่า (หนึ่งในสตาร์อัลไลแอนซ์ แต่ฐานะการเงินดีกว่าการบินไทย เพราะที่ผ่านมายังไม่ขาดทุน) วิ่งหาเงิน 30,000 ล้านยูโร ทั้งจากรัฐบาลเยอรมันและรัฐบาลออสเตรีย (รัฐบาลหลังสัญญาว่าจะให้เงินช่วย 18,000 ล้านยูโร ถ้าลุฟท์ฮันซ่ายอมย้ายสำนักงานใหญ่บางส่วนมาอยู่ที่กรุงเวียนนา)

โรลส์-รอยซ์ ตัดงาน (ในส่วนผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน) ออก 8,000 ตำแหน่ง จากพนักงานทั้งหมด 52,000 คน

โบอิ้งลดพนักงานลง 16,000 คน

จีอี เอวิเอชั่น บริษัทลูกที่ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินของเครือจีอี หั่นพนักงานออกอีก 13,000 คน

หลังการผลิตของสองผู้ผลิตเครื่องบิน “โบอิ้ง-แอร์บัส” ลดลงร้อยละ 50

แล้วสถานการณ์สายการบินของเราจะเป็นอย่างไร

– 6 สายการบินเอกชน รวมตัวกันยื่นขอ “ซอฟต์โลน” หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล 25,000 ล้านบาท

ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

– การบินไทย “สายการบินแห่งชาติ” รัฐวิสาหกิจลูกครึ่ง ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลให้กู้เงินใหม่อีก 50,000 ล้านบาท

ไม่เท่ากับที่การบินไทยขอมา 70,000 ล้าน

โดยรัฐบาลบอกว่า อีก 20,000 ล้านให้ไป hair cut-เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่เอง

ถามว่า แค่นี้พอจะทำให้การบินไทยอยู่รอดจนกลับมายืนขึ้นใหม่หลังวิกฤตโรคระบาดผ่านไปได้ไหม

ไม่แน่ใจครับ

เพราะปัญหาการบินไทยไม่ใช่แค่เรื่องเงิน (ขาดทุนบักโกรก หนี้ท่วมหัว)

แต่มีรากฐานมาจากเรื่องการบริหาร การตลาด ความอุ้ยอ้ายอันมากับระเบียบของรัฐ

คือถ้าให้เงินไปแล้วไม่ผ่าตัดโครงสร้างด้วย

ก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

เนื่องจากความรู้น้อย

ขออนุญาตสรุปข้อมูล-ความเห็นของท่านที่ให้ภาพนี้ได้ชัดเจนคือคุณบรรยง พงษ์พานิช

อดีตกรรมการการบินไทย อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ดังนี้

ประเด็นแรก ก่อนโควิด การบินไทยก็ไปไม่รอดอยู่แล้ว

ขาดทุนตั้งปีละกว่าหมื่นล้านติดต่อกันมาหลายปี

ทุนที่เหลือแค่หมื่นล้าน เทียบกับหนี้เกือบสามแสนล้าน ก็อยู่ได้ไม่เกินปีอยู่แล้ว

เหตุผลที่ตกต่ำมาจากคำว่า “การแข่งขัน”

เพราะจากปี 2000 ที่มีเครื่องบินพาณิชย์ทั้งโลกแค่ 20,000 ลำ

ปัจจุบันมีเป็น 46,000 ลำ

มีการเกิดของ Low Cost Carriers ทุกคนแข่งกันปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดราคา

มีการเปิดเสรีการแข่งขันกันเต็มที่

ตั้งแต่เราเปิดเสรีการบิน ในปี 2004 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 12 เป็น 38 ล้านคน

คนบินปีละ 18 ล้านเที่ยว เป็น 110 ล้านเที่ยว

แต่ตั๋วไม่เคยขึ้นราคามายี่สิบปี กลับลดด้วยซ้ำ

และต้นทุนการบินไทยกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการจัดซื้อ และต้นทุนบุคลากร

พนักงานตั้ง 28,000 คน เทียบ Capacity กับคนอื่นน่าจะมีแค่ 15,000

ไตรมาสสามปีที่แล้ว ยอดขาย 40,000 กว่าล้าน ขาดทุนสี่พันห้าร้อยล้าน ทั้งๆ ที่มี Load Factor ตั้ง 80%

ก็แปลได้เลยว่า จะเท่าทุนได้ต้องขายแพงขึ้น 10%

(ซึ่งตอนนี้ก็แพงสุดอยู่แล้ว)

หรือลดต้นทุนให้ได้ 10%

ประเด็นต่อมา ผมคิดว่าไม่ควรแค่ให้ค้ำประกันเฉยๆ อย่างที่ขอ

โดยรัฐควรให้กู้มากกว่าค้ำให้

เพราะสุดท้ายต้องจ่ายเหมือนกัน

แต่สถานะของผู้ให้กู้กับผู้ค้ำไม่เหมือนกัน

และก่อนที่จะให้กู้ ควรจะให้การบินไทยขอเข้าแผนฟื้นฟูตามกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย

เพราะภายใต้แผน ผู้ให้กู้รายสุดท้ายสามารถมีอำนาจต่อรองสูงได้

สามารถขอ Hair cut เจ้าหนี้อื่นได้บ้าง

สามารถล้มเลิกสิทธิประโยชน์อดีตพนักงานและต่อรองกับสหภาพได้ดีกว่า

รวมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขประเภท Last in-First out (คนใส่เงินทีหลังได้รับคืนก่อน)

หรือ preferrable status อื่นๆ ได้ จะได้ผ่าตัดใหญ่ทีเดียวเลย

ทั้งหมดนี่เป็นหลักการใหญ่ ต้องไปศึกษารายละเอียดทางการเงินและกฎหมายต่างๆ อีกเยอะครับ

ถ้าให้แต่เงินเฉยๆ ก็จะยืดได้แค่ห้าเดือนก็น่าจะหมด

ใครสนใจอ่านละเอียดตามไปพูดในเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ของคุณบรรยงได้ครับ

ขออนุญาตแถมตบท้ายว่า

1. เอาเข้าจริง รัฐไม่ได้ช่วยการบินไทยแค่ 50,000 ล้าน

ที่บอกว่าที่เหลือให้ไปเจรจา Hair cut หรือลดหนี้กับเจ้าหนี้รายใหญ่เอาเองนั้น

ถามว่าเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทยคือใคร

ก็แบงก์กรุงไทยกับแบงก์ออมสิน แบงก์ของรัฐหรือจริงๆ คือแบงก์ของชาวบ้าน

ลดหนี้ให้ ก็คือการเอาเงินชาวบ้านไปโปะให้

ถ้าจะเอาเงินชาวบ้านไปใช้

ถามชาวบ้านบ้างหรือยัง

2. ถามใครๆ ทุกคนก็เห็นตรงกันกับข้างต้นว่า

การบินไทยต้องผ่าตัดใหญ่

คนอื่นที่เขาไม่เจ๊ง เขายังปรับตัวกันจ้าละหวั่น

นี่เจ๊งจนเหลือแต่ซาก อยากจะเอาเงินไปชุบชีวิต

ถ้าฟื้นแล้วเป็น “ผีดิบแฟรงเก้นสไตน์” เหมือนเดิม

จะต้องเอาเงินชาวบ้านอีกเท่าไหร่ไปอุ้ม

ถามชาวบ้านบ้างหรือยัง

ใครก็อยากให้มีสายการบินแห่งชาติที่องอาจ สง่างาม เป็นหน้าเป็นตากับเพื่อนร่วมชาติได้

แต่ความงามสง่านั้นต้องมาคู่กับประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้

ถ้ามีสายการบินแห่งชาติที่มีแต่เปลือก แต่ไส้ในกลวงโบ๋

ดีแต่ล้วงกระเป๋าเพื่อนร่วมชาติไป “แต่งหน้า” ให้สวยหรู ดูดี

แต่แข่งกับใครเขาไม่ได้

จะมีสายการบินแห่งชาติไปทำไม