เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | จุดประทีปตีนกา

สํานักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งมี ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร เป็นอธิการบดี และ ผศ.ฟ้อน เปรมพันธุ์ เป็น ผอ.สำนักฯ ได้มีโครงการยกย่องผู้มีผลงานดีเด่นทางศิลปะและวัฒนธรรม โดยพิจารณาบุคคลในเขตพื้นที่สามจังหวัดคือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี

แบ่งเป็นวัฒนธรรมสามด้านคือ ศาสนา ศิลปะ และพหุวัฒนธรรม

จำเพาะปี 2562 นี้ มีบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นจำนวน 9 คน เก้าสาขาดังนี้

ด้านศาสนา นายสมพงษ์ สุทินศักดิ์ กาญจนบุรี

ด้านศิลปะ สาขาศิลปะการแสดง พระครูพิภักษ์ศิลปาคม หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี

ด้านศิลปะ สาขาดุริยางคศิลป์ นายอณิวัชร์ พนม กาญจนบุรี

ด้านศิลปะ สาขาวรรณศิลป์ นายศิวกานท์ ปทุมสูติ สุพรรณบุรี

ด้านศิลปะ สาขาหัตถศิลป์ นายสมชาย ขำพาลี กาญจนบุรี

ด้านศิลปะ สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ราชบุรี

ด้านศิลปะ สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง สุพรรณบุรี

ด้านศิลปะ สาขาขนบธรรมเนียมประเพณี นายน้ำเงิน เบ็ญพาด สุพรรณบุรี

ด้านวัฒนธรรม สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่น นางพยุง ใบแย้ม สุพรรณบุรี

ยินดีกับผู้ได้รับยกย่องทุกท่าน พิเศษคือ ยินดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีมีโครงการดีๆ ทำนองนี้ โดยเฉพาะงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นงานสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏพึงทำในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

จำเพาะครั้งแรกนี้ผู้อาวุโสสูงสุดคือ นายน้ำเงิน เบ็ญพาด อายุ 99 ปี ชาวบ้านเรียก “ปู่น้ำเงิน” หรือ “ปู่เงิน” อยู่บ้านเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

คนเบญพาด นามสกุลเบ็ญพาดนี้น่าสนใจ

เริ่มแต่ชื่อบ้านเบญพาด ซึ่งหมายถึง “ตัวไม้ที่ค้ำยันเสาตะลุง” พจนานุกรมว่าอย่างนี้ เสาตะลุงคือเสาสำหรับผูกช้าง

ส่วนนามสกุลเบ็ญพาดนี้เป็นสกุลใหญ่ดั้งเดิมของคนในหมู่บ้าน ที่มีชาวบ้านอยู่ราวสามพันคน ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่า ประเพณี “จุดประทีปตีนกา” นี้ทำติดต่อกันมากว่า 200 ปีแล้ว และปู่เงินหรือทวดเงินนี้แหละที่เป็นหลักสืบช่วงมาตลอด ตามตำนานเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ที่ปู่เงินจะเล่าขานให้ลูกหลานชาวบ้านรวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้อยู่เป็นประจำ

เรื่องย่อคือ

สมัยต้นปฐมกัปมีพญากาเผือกคู่ผัวเมียทำรังอยู่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระโพธิสัตว์ห้าพระองค์ได้ปฏิสนธิในครรภ์แม่กาเผือกพร้อมกันในไข่ 5 ฟอง

วันหนึ่งพญากาเผือกทั้งคู่ไปหากินแดนไกล เกิดพายุฟ้าคะนองพัดกิ่งมะเดื่อหัก ไข่ทั้งห้าจมน้ำ สุดที่พญากาเผือกจะช่วยได้ ทั้งคู่มีความทุกข์อาลัยกระทั่งสิ้นใจ

ด้วยอานิสงส์ของลูกที่เป็นพระโพธิสัตว์ในฟองไข่จึงส่งให้แม่กาเผือกไปเกิดในสวรรค์ชื่อ “ผกาพรหม” หรือผกามหาพรหม

ส่วนลูกทั้งห้าถูกน้ำพัดสู่ผู้ดูแลรักษาห้าสัตว์จึงได้นามพระเจ้าห้าพระองค์ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ดังนี้

ฟอง 1 แม่ไก่รักษาจึงได้นาม พระกกุสันโธ

ฟอง 2 แม่นาครักษาได้นาม พระโกนาคมโน

ฟอง 3 แม่เต่ารักษาได้นาม พระกัสสโป

ฟอง 4 แม่โครักษาได้นาม พระโคตโม

ฟอง 5 แม่ราชสีห์รักษาได้นาม พระศรีอาริยเมตโย

ดังนามพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ห้ายุคกัปกัลป์พุทธันดร เล่าขานสืบมานั้นแล

ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ได้ผนวชเป็นฤๅษี แม่กาเผือกได้มาปรากฏและเล่าเรื่องให้ฤๅษีซึ่งเป็นลูกจากฟองไข่ฟัง ฤๅษีทั้งห้าจึงนมัสการแม่กาเผือกผู้เป็นแม่แล้วกราบขอสัญลักษณ์เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้บังเกิดเกล้าไว้บูชา สัญลักษณ์นี้คือผ้าฝ้ายรูปตีนกา ให้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาในวันเพ็ญเดือน 11 ช่วงประเพณีออกพรรษาของทุกปีเป็นเวลาสามวันสามคืน ซึ่งตรงกับวันเทโวโรหณะ หรือที่เรียกตักบาตรเทโวนั้น

ชาวเบญพาดจะตั้งเสาไม้ไผ่ใช้กะพ้อคือภาชนะใส่น้ำมันละหุ่งหรือมะพร้าวตั้งไว้บนราวไม้ไผ่เก้าที่ ชาวบ้านใช้ด้ายตีนกาเก้าเส้นต่อคนทำเป็นไส้จุดประทีปพร้อมถวายดอกไม้ธูปเทียน

จำนวนเก้าประทีปแทนพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ห้าที่ อีกสี่ที่แทนธาตุสี่คือดิน น้ำ ลม ไฟ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อที่มนุษย์สร้างขึ้นจนเป็นประเพณีสืบทอดเพื่อเป็นศูนย์รวมความดีงามของชุมชนหลายประการ เช่น ความรักสามัคคี ความเคารพนับถือผูกพันกตัญญูที่มีต่อกันของชุมชน

โดยเฉพาะชุมชนบ้านเบญพาด ที่ประกอบพร้อมด้วยพลังสามประสานคือ บ้าน วัด โรงเรียน สามคำ “บวร” ที่คุณหมอประเวศ วะสี ท่านให้นิยามไว้

น่าสังเกตคือ ประเพณีจุดประทีปตีนกาของชาวบ้านเบญพาดเป็นเรื่องสร้างสรรค์ของชุมชนจนกลายเป็น “อัตลักษณ์” เฉพาะถิ่น

ก็นี่แหละทุกชุมชนมีเรื่องราว ขาดแต่การร่วมมือทำให้ปรากฏเท่านั้น

ขอแม่กาเผือกบินไปบอกข่าวแก่ชาวโลกที่กำลังจะแตกร้าว

นี้ด้วยเถิด