มนัส สัตยารักษ์ | ประกาศตัดเพื่อน

ว่ากันอันที่จริงเรื่องนี้ “จบไปแล้ว” ส่วนจะเอาเข้าลิ้นชักแห่งความจำ หรือลบทิ้งไปจาก cloud หรือก้อนเมฆ ในโลกโซเชียล ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่น่าจะเกี่ยวกับสาธารณะแต่อย่างใด

ว่ากันอันที่จริง (อีกครั้ง) เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะผู้มีฐานะเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เท่านั้น ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับศิลปินสามัญ แต่บังเอิญว่าผมถูกพาดพิงถึง จึงอาศัยสิทธิ์ที่ถูกพาดพิงถึงก็พอจะเขียนชี้แจงให้เข้าใจได้เล็กน้อย

เป็นเรื่องสุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่พอใจเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และสุรชัย จันทิมาธร ที่ไม่แสดงอาการต่อต้านรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของ คสช. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า

ในห้วงเวลานั้นผมเพิ่งหันมาจับ Facebook (โซเชียลมีเดียที่ลูกเขาเลิกเล่นแล้ว) เป็นการหวนคืนมาจับคีย์บอร์ดของเครื่องคอมพิเวเตอร์อีกครั้งหลังจากวางมือไปกว่า 20 ปี เหตุที่จับแป้นคีย์บอร์ดอีกครั้งก็สืบเนื่องมาจาก “มติชนสุดสัปดาห์” เปิดโอกาสให้เขียนคอลัมน์ประจำ

การเขียนหนังสือหรือทำงานหนังสือพิมพ์ในห้วงเวลาหลังจากเกษียณอายุ แตกต่างกับสมัยที่เรายังเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่ม ซึ่งมักจะมีการสังสรรค์พูดคุย ดื่ม กิน และเที่ยวเตร่ด้วยกัน (เกือบทุกคืน) แต่ในปัจจุบันเชื่อว่านักเขียนส่วนใหญ่ต่างคนต่างทำงานกันที่บ้าน ทำเสร็จแล้วส่ง E-Mail เราจึงใช้ FB เป็นมีเดีย พูดคุย ติดตามข่าว รวมทั้งนัดพบกันเพื่อดื่มกิน

FB มีฟังก์ชั่น Add friend สำหรับทำความรู้จักหรือจับมือคุย หรือฟังเพื่อนคุย เสมือนหนึ่งทดแทนการสังสรรค์อย่างในยุคที่ยังหนุ่ม ขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชั่น Unfriend ไว้ให้สำหรับบอกเลิกการเป็นเพื่อนคุยหรือยุติการคุยสังสรรค์ด้วย

เมื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี “ชวนทะเลาะ” กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และสุรชัย จันทิมาธร ผมรู้สึกว่าสุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำผิดวัตถุประสงค์ของ Add friend เสียแล้ว และผมซึ่งเบื่อหน่ายกับ “วิวาทะ” มาตั้งแต่รับราชการเป็นฝ่ายข่าวของ บช.น. ผมก็เลย Unfriend กับเขาเสียโดยพลัน ทั้งๆ ที่ชอบฟังเขาคุยมาตลอดตั้งแต่รู้จักกัน

ดูเหมือนจะเพียงวันเดียวกันนั้น เราก็เจอกันในงาน “สมานมิตรบรรเทิง” ของมติชน ผมก็บอกไปตรงๆ ตามประสาซื่อว่า “ผมอันเฟรนด์กับคุณน่ะ ไม่ได้หมายความอันเฟรนด์นะ ผมแค่ไม่อยากฟังเพื่อนมาด่าเพื่อนที่ผมรักและนับถือเท่านั้น”

นั่นหมายความชัดเจนว่าผมไมได้อันเฟรนด์เพราะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่อย่างใด ผมยังคงรังเกียจและเบื่อหน่ายกับวิวาทะที่ทำให้ผมไม่ได้พักผ่อน (ตามสิทธิ์ของข้าราชการและมนุษยชน)

นอกจากนั้น ผมยังใช้เวลาส่วนหนึ่งไปในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้ง หรือแค่มีดาบกายสิทธิ์ (ม.44) อยู่ในมือ

อีกจุดปมหนึ่งของความไม่สบายใจก็คือ การชวนวิวาทะหนนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวระหว่างศิลปินแห่งชาติหรือเปล่า? ผมชักเอะใจว่าสถาบันศิลปินแห่งชาติอาจจะมี “ปฏิญญา” ศักดิ์สิทธืไว้เป็นการเฉพาะหรือเปล่า ที่จะต้องไม่วางเฉยกับการรัฐประหาร การวางเฉยถือเป็นการทรยศต่อปฏิญญา และเป็นความผิดที่ควรประณาม

อย่างไรก็ตาม ผมค่อยคลายใจไปได้ในปมนี้ เนื่องจากมีศิลปินแห่งชาติอีกหลายคนที่วางเฉยกับการรัฐประหาร และหลายท่านก็ยังต่อต้านทุนสามานย์มากกว่าการรัฐประหาร บางท่านก็ต่อต้านเรื่องทุจริตของทุกขั้วเหมือนผม

ว่าถึงเจ้าตัวที่ถูกประณามทั้งสองคนคงตอบโต้ไปตามประสาผู้ตกเป็นเหยื่อ ผมเคยอ่านเจอบทกวีของทั้งสอง ต่างใช้ฝีปากที่ถนัดและเป็นอัจฉริยะ ดังนั้น จึงทั้งคมคายด้วยสาระและไพเราะด้วยสัมผัส แต่ผมไม่ได้สำเนาหรือแชร์ต่อ ก็คงจะด้วยเหตุผลของความเบื่อหน่าย “วิวาทะ” นี่แหละ

ท่านที่สนใจคงต้องขวนขวายหาอ่านกันเอง

ส่วนคนที่รู้สึกมีความสุขแบบสะใจกับ “วิวาทะ” ผมแนะนำให้หาอ่านเอาจาก “คอมเมนต์” ในเพจของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็แล้วกัน…รับรองครบรส (ฮา)

ผมถูกพาดพิงถึง จากคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” ที่ “มติชน” ตีพิมพ์ เรื่อง “วิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (ฉบับที่ 2010 วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งตอนท้ายของบทความนี้ผมแสดงความชื่นชมธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วิพากษ์ยุทธศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา แล้วผมตบท้ายบทลงด้วยประโยคว่า

“ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ช่างเถอะ… แต่สภาผู้แทนราษฎรควรมีคนอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เยอะๆ ก็แล้วกัน”

ข้อเขียนนี้คงจะเป็นที่ถูกใจสุชาติ สวัสดิ์ศรี เขาจึงเชิญชวนให้แฟนคลับอ่าน ผมไม่ทราบว่าเขาโพสต์ชวนไว้ที่ใด ญาติของผมคนหนึ่งแคปต์ส่งมาให้พร้อมคำถามว่า “หมายความว่าอะไร?” ผมจึงส่งสำเนาคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” ไปให้ญาติรับทราบถึงต้นเหตุที่มา

ญาติโทรศัพท์มาบอกว่า เหมือน ผมเปลี่ยน “จุดยืน” จากเชียร์รัฐประหารเป็นต่อต้านรัฐประหาร ผมจึงกลับไปอ่านที่ถูกพาดพิงถึงอีกครั้ง ซึ่งถ้าหากจะมองในแง่ลบ ก็เป็นเหมือนกับที่ญาติเข้าใจ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนไม่มีจุดยืนในการแยกขั้วมาแต่ไหนแต่ไร

หลังจากรัฐประหารแล้วผมไม่กล้าเขียนยกย่องหรือเชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ผมมีบทเรียนเจ็บปวดมากมายจากการเขียนทำนองนี้แม้จะทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม ส่วนที่ชมเชยก็พยายามเขียนในลักษณะรายงานข่าว เช่น กรณี คสช.ปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบ และคืนโฉนดที่ดินแก่ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อเกือบทั่วประเทศ เพราะกรณีนี้หลายรัฐบาลก่อนหน้าไม่อยากทำและกล้าทำ

แต่ผมก็จำได้ว่าผมเขียนด้วยความไม่พอใจ คสช.หลายหนในประเด็นของการ “ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกฎหมาย หรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เนื่องจากประเด็นเหล่านี้หลายครั้งที่ คสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาแสดงบทบาทประหนึ่ง “ตาบอดคลำช้าง” และฉวยโอกาสตำหนิและประณามองค์กรตำรวจโดยไม่เป็นธรรม

ผมเขียนย้ำถึงความสิ้นเปลืองงบประมาณในการแจกหรือจ่ายเป็นการตอบแทนบุญคุณซึ่งดูเป็นเรื่องทุจริตที่ไม่แนบเนียนนัก ที่สำคัญก็คือทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่ค่อนข้างเพี้ยนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการไม่จริงใจในการปราบปราม

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เคยลืมเรื่องเก่าก่อนรัฐประหาร ไม่ว่าจะเรื่องซื้อเครื่องบินมาทิ้ง เรื่องโรงพักร้าง เรื่องเรือเหาะ 530 ล้าน เรื่องจำนำข้าว ฯลฯ เรื่องจีทูจี ที่ คสช.ใช้เป็นข้ออ้างในครั้งยึดอำนาจ แล้วอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” เป็นตัวประกันที่จะอยู่ในอำนาจต่อ

ขณะเดียวกันผมก็ไม่ลืมแม้แต่เรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 1,300 ล้านบาท ผมก็ยังรอคอยคำชี้แจงอยู่ครับ