ลึกแต่ไม่ลับ : คดีประวัติศาสตร์ ‘เอกชน’ ชนะคดีฟ้ององค์กรรัฐ…และอาจถึงศาลระหว่างประเทศ

จรัญ พงษ์จีน

“ลึกแต่ไม่ลับ” ฉบับส่งท้ายปีเก่า 2559 ต้อนรับปีระกา 2560 ขอปิดดีลด้วยคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งบริษัทเอกชน หาญกล้ายื่นฟ้ององค์กรของรัฐ และชนะคดี แม้การนำเสนอข่าวของสื่อจะไม่ใหญ่ไม่โต ดังอึกทึกครึกโครม เทียบเท่ากับประกาศใช้ “มาตรา 44” ไม่ได้

แต่ขอบันทึกคดีประวัติศาสตร์นี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจ สำหรับผู้ที่อยู่ในศูนย์อำนาจ ว่าอย่าไปหลงใหลได้ปลื้มกับหัวโขนเด็ดขาด

กับคดีที่ “บริษัท อินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด, บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด และ บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ ซี จำกัด” หรือเรียกชื่อโดยรวมว่า “บริษัทกัลฟ์” ในฐานะผู้ฟ้อง

โดย ผู้ถูกฟ้อง ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 2.สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 3.กระทรวงการพลังงาน และ 4.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา กรณี

“การตรวจสอบโครงการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จำนวน 5,000 เมกะวัตต์”

คำฟ้องสรุปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 กระทำการตรวจสอบการประมูลโครงการที่พิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินการโครงการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างมาก ทำให้ต้องพบปัญหาอุปสรรค ถูกรบกวนและถูกขัดขวางการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำให้ไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อันเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหาย

“ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว และห้ามนำผลการตรวจสอบไปใช้หรืออ้างอิงไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่น”

ซึ่ง “ศาลปกครอง” มีคำพิพากษา โดยสรุปว่า กรณีที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI )ให้ชะลอการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนแก่ “เครือกัลฟ์”

จนข่าวรั่วไหลไปถึงธนาคารไทยพาณิชย์ และไม่ให้ปล่อยเงินกู้แก่ “เครือกัลฟ์” จนทำให้เกิดความเสียหาย

 

ในการดำเนินการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ฟังได้ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหนังสือแจ้งแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ว่า ธนาคารไม่สามารถพิจารณาเงินกู้ให้ได้ เพราะการประมูลโครงการดังกล่าวถูกตรวจสอบ และธนาคารต้องการทราบถึงสถานะของโรงไฟฟ้าทั้งสอง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต่อการให้สนับสนุนเงินกู้ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ย

“โดยเสนอเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 มีความชอบธรรมที่จะได้รับสิทธิ ในการลงนามในสัญญากับ กฟผ. เพียงสัญญาเดียว จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ และขอยกเลิก 1 สัญญา จำนวน 2,500 เมกะวัตต์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ระงับการพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ไว้ก่อน เนื่องจากโครงการดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คตร. จึงเห็นควรรอให้ผลการพิจารณาให้เป็นที่สุดก่อน”

จากข้อเท็จจริงข้างต้น เห็นว่า ในการตรวจสอบดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก คตร. ในการตรวจสอบโครงการประมูลดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่อาจกระทำการใดๆ นอกจากอำนาจหน้าที่ของ คตร. ตามที่หัวหน้า คสช. แต่งตั้งได้

“การดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจาก คตร. และไม่ใช่เป็นการดำเนินการตรวจสอบโครงการประมูลดังกล่าวที่เป็นการดำเนินการเพียงขอบเขตภายในขององค์กรฝ่ายปกครองตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำที่ล้ำแดน การติดตามตรวจสอบภายในองค์กรฝ่ายปกครอง ออกไปสู่ภายในองค์กรฝ่ายปกครอง อีกทั้งเป็นการตรวจสอบโดยปราศจากความระมัดระวัง ทำให้เป็นข่าวเผยแพร่ออกไปจนเป็นเหตุให้ธนาคารชะลอการพิจารณาเงินกู้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้ตามแผนภายในกำหนดเวลา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 แล้ว

“พิพากษา ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องทั้ง 3 รวมทั้งนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยังบีโอไอเกี่ยวกับการชะลอการสนันสนุน การส่งเสริมการลงทุนกับผู้ฟ้องคดีทั้ง 3”

ทั้งหมดคือ คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยสรุป ในคดีประวัติศาสตร์ ที่ “เครือกัลฟ์” ฟ้อง โดยชนะคดีสั่งลาปีลิง และไม่ทราบว่าจะดำเนินฟ้องร้องใน “คดีแพ่ง” เพื่อเยียวยาความเสียหายที่ได้รับหรือไม่

และมีสิทธิ์น้ำบานเข้าไปใหญ่ กรณ์ที่ “เครือกัลฟ์” ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานจากประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นร่วมทุนอยู่ คิดเล่นของหนัก ยกระดับเป็นคดีนานาชาติสู่เวทีโลก ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลระหว่างประเทศ ซึ่งกฎเหล็ก หรือคำสั่งต่างๆ ไม่สามารถปกป้องได้ เนื่องจากเป็นการฟ้องร้องนอกเหนือราชอาณาจักรไทย