หวัง รบ.ใหม่พลิกฟื้น ศก. | บังคับนักเที่ยวจ่ายประกันตน | เอ็นพีแอลแบงก์พาณิชย์พุ่ง

แฟ้มข่าว

ยุโรปหนุนพัฒนาข้าวไทย

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือต่างประเทศเยอรมนี (จีไอแซด) จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือโครงการ Thai Rice NAMA ได้รับเงินสนับสนุน 14.9 ล้านยูโร หรือประมาณ 600 ล้านบาท จากรัฐบาลเยอรมนี รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์ก และสหภาพยุโรป (อียู) ผ่านโครงการ NAMA Facility ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี หรือปี 2561-2566 โดยพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี แบ่งเป็นนาปรัง 2.8 ล้านไร่ และนาปีอีก 2.8 ล้านไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตสูงสุดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี และตั้งเป้าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ภายในปี 2573

บังคับนักเที่ยวจ่ายประกันตน

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 มีสาระสำคัญคือ เป็นประกาศกระทรวงแทนกฎกระทรวง เพื่อเพิ่มลดหรือเปลี่ยนแปลงเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหรือคลัสเตอร์ท่องเที่ยวได้คล่องตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรอความเห็นชอบเพราะคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการและปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับกำหนดให้ภาครัฐสามารถบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยต้องชำระค่าประกันภัยประกันชีวิตให้ตนเอง เพื่อที่จะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อกรมธรรม์คุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แบบครอบคลุมทุกคน โดยไม่ต้องรบกวนเงินภาษีจากประชาชน เพราะแต่ละปีรัฐต้องเสียเงินส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถจัดตั้งหรือปรับปรุงคลัสเตอร์ท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น พัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุมเพื่อจะไม่มีจังหวัดใดหลุดจากแผนที่ท่องเที่ยวอีกต่อไป

ธนารักษ์จ่อเก็บค่าที่ รสก.

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ปี 2563 เตรียมจะจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ มีอยู่ 5 แสนไร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ราชพัสดุ 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยขณะนี้ดูด้านโครงสร้างว่าจะจัดเก็บอย่างไร คาดว่าทำให้รายได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรมเพิ่มขึ้นพอสมควร เพราะที่ผ่านมาบางรัฐวิสาหกิจ เช่น รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า ไม่เคยเสียค่าเช่าให้กรม และใช้ฟรีมานาน ซึ่งการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจากรัฐวิสาหกิจ อาจใช้วิธีการเฉลี่ยค่าจัดเก็บ อาทิ รัฐวิสาหกิจที่นำที่ราชพัสดุไปใช้เชิงพาณิชย์ ต้องแบ่งรายได้มายังกรม คาดว่าถ้าสามารถจัดเก็บค่าเช่ารัฐวิสาหกิจได้ จะทำให้รายได้ของกรมธนารักษ์ถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมมีรายได้ 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับโครงการสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยที่กรมธนารักษ์ ในส่วนบ้านคนไทยประชารัฐกว่า 2,000 ยูนิตมียอดจองเกินจำนวนและอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติเตรียมเฟส 2 และกรมเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว 10 แห่ง ส่วนโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐผ่านการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้าง

ดันเกิด “อินโนสเปซ”

แหล่งข่าวจากภาคเอกชน เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมเพื่อจัดตั้งอินโนสเปซไทยแลนด์ และสนับสนุนสตาร์ตอัพในไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกแล้ว หลังการดำเนินงานของบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรืออินโนสเปซไทยแลนด์ โดยที่ประชุมได้กำหนดกฎเกณฑ์ให้จัดตั้งคณะกรรมการในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารอินโนสเปซไทยแลนด์ และคณะกรรมการเพื่อการขับเคลื่อนการลงทุนอินโนสเปซไทยแลนด์ เบื้องต้นหลักเกณฑ์คณะกรรมการบริหารฯ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และภาคเอกชนร่วมลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกันในวันที่ 11 มิถุนายน จากนั้นภายใน 2-3 เดือนจะทำให้มีผู้ประกอบการผ่านหลักเกณฑ์เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มได้ 5-10 ราย

เอ็นพีแอลแบงก์พาณิชย์พุ่ง

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.0% ของจีดีพี หรือประมาณ 5-6% จากแรงหนุนการขยายตัวสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวดี ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ชะลอตัวลง ซึ่งไตรมาส 1/2562 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 5.6% สอดคล้องกับรายงานจีดีพีของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 2.8% โดยยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 13.22 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อธุรกิจโต 3.4% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคโต 10.1%

ซึ่งการเร่งปล่อยสินเชื่อบ้านก่อนเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) บังคับใช้พบว่าสินเชื่อบ้านไตรมาส 1/2562 มียอดปล่อยใหม่ถึง 1.4 แสนล้านบาท จากค่าเฉลี่ยอยู่ที่ไตรมาสละ 9 หมื่นล้านบาท แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อบ้านไตรมาส 2/2562 อาจชะลอตัวลง และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงไตรมาส 3-4 ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.94% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2561 แต่ยอดคงค้างเอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.0 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อเอสเอ็มอีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.60% เพิ่มขึ้นจาก 4.46% แนวโน้มเอ็นพีแอลยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

หวัง รบ.ใหม่พลิกฟื้น ศก.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (เทรดวอร์) ว่า ธุรกิจคงต้องปรับตัวเรื่องคุณภาพและสำรวจว่าถ้าจีนกับสหรัฐไม่รับสินค้าระหว่างกัน ประเทศใดจะเข้าไปทดแทน ไทยต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการพัฒนาสินค้าและหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น อินเดีย อาเซียน เป็นต้น โดยต้องติดตามการเจรจาต่อรองของ 2 ประเทศในหลายเวทีโลก แม้จะยังไม่กระทบต่อธุรกิจการตลาดในไทยแต่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง จากส่งออกและเศรษฐกิจโลกลดลง 0.5-1% ขณะนี้สถานการณ์การเมืองในประเทศชัดเจนขึ้นจะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจทำการตลาดในไทยช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังเติบโตประมาณ 2-4% หากสถาการณ์ในประเทศชัดเจนขึ้น จีดีพีในประเทศยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกแน่นอน จะทำให้ครึ่งหลังปีนี้ นักการตลาดต้องเตรียมพร้อมรอบด้าน ต้องมีความเข้าใจในเรื่องการค้าให้ครบทุกมิติ อาทิ มิติทางสังคม, มิติด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

เพื่อเตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป