เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ ศาสนากับสังสารวัฏ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ศาสนากับสังสารวัฏ

 

เมื่อเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมในพิธีลาสิกขาของสามเณรทั้ง 12 รูปในโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 8 ที่วัดธารน้ำไหล จ.สุราษฎร์ธานี

โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมนี้ผมเคยเขียนถึงไปแล้วตอนเริ่มเปิดโครงการ หลังจากที่ได้ถ่ายทอดห้องเรียนธรรมะแบบสดๆ 24 ช.ม. ผ่านการเรียนรู้ของเหล่าสามเณรมา 1 เดือนเต็ม ก็ถึงวาระปิดโครงการลงอย่างสวยงาม

ใครที่ได้ติดตามชมรายการนี้ คงจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กชายอายุ 7-10 ปี จำนวน 12 คนที่เปลี่ยนสู่สมณเพศ

การได้เรียนรู้ธรรมะประกอบกับการฝึกปฏิบัติกิจวัตรของสามเณร ทำให้ทุกคนเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเอง

วันที่สึกจึงเห็นถึงความสงบนิ่งมากขึ้น

ยิ่งเมื่อได้ฟังการเทศน์ของแต่ละรูปแล้ว ก็พลอยปลาบปลื้มในพัฒนาการของทุกสามเณรจริงๆ

วันนั้นคนที่เป็นพ่อเป็นแม่คงจะปีติไม่น้อย ที่เห็นลูกชายของตนได้อยู่กับธรรมะ 1 เดือนเต็มและได้พัฒนาไปสู่คนที่คิดชอบ ทำชอบ

เมื่อเณรได้สละผ้าเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นชุดปกติ และพิธีกรบอกให้ไปหาผู้ปกครองได้

เราจึงได้เห็นภาพของความรักที่อบอวลไปทั่ว สัมผัสจากการกอดรัดของพ่อ-แม่และลูกเป็นคุณค่าทางใจมหาศาล

ผู้ชมผ่านหน้าจอหลายคนก็อดที่จะมีน้ำตาซึมไม่ได้

 

หลังจากที่ลูกชายที่รักต้องห่างอกไปศึกษาธรรมะ 1 เดือนเต็ม วันนี้ก็ได้กลับมาสู่อ้อมอก และเหมือนเป็นลูกชายคนใหม่ที่เป็น “คน” เต็มคนมากขึ้น

ระหว่าง 1 เดือนนั้นที่พอจะได้ใกล้ชิดบ้างก็เพียงการมาตักบาตรให้กับสามเณรในตอนเช้า แต่เท่านั้นก็เป็นสุขพอแล้ว

จากภาพพิธีลาสิกขาวันนั้น ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปชมมา เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศนะครับ เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง นั่นคือประเทศเมียนมา

ภาพยนตร์ที่ว่านี้ชื่อเรื่องคือ Mone Swal แปลว่า “อาฆาตแค้น” ลงโรงฉายเมื่อราว 1 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นหนังเมียนมาจึงฉายจำกัดโรงและเวลาฉาย ไม่ได้มีทุกโรง และฉายวันละ 1 รอบเอง

วันที่ผมไปดูมีคนดูไม่มาก และทั้งหมดเป็นแฟนหนังชาวเมียนมา มีผมเป็นชนกลุ่มน้อยคนเดียวในโรง เป็นการชมหนังจากประเทศเมียนมาครั้งแรกของผมก็ว่าได้

ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่า เป็นภาพยนตร์ที่ดีเกินคาดหมายของผมมากทีเดียว ที่โดดเด่นคืองานด้านโปรดักชั่น ซึ่งทำออกมาได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพนั้นสวยมาก การตัดต่อก็ทำได้น่าสนใจชวนติดตามไม่เยิ่นเย้อ และมีการใช้ดนตรีประกอบที่เสริมอารมณ์ได้อย่างดี

พูดได้ว่าดีกว่าหนังไทยหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว

 

Mone Swal เป็นเรื่องที่นำเอาความเชื่อและหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่อง “สังสารวัฏ” มาเป็นแก่นของเรื่อง “สังสารวัฏ” หรือ “วัฏสงสาร” ที่เราคุ้นเคย ก็คือการเวียนว่ายตายเกิด ชาติแล้วชาติเล่า สาเหตุของการที่ยังต้องเวียนว่ายเกิดดับอยู่เช่นนี้ก็มาจากกิเลสและตัณหานั่นเอง

จากข้อมูลบอกว่าเป็นการสร้างจากเรื่องจริงจากคำสอนของ “อาจารย์ฉันทะดิกะ” ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาที่มีบทบาทเด่นในสังคมเมียนมา ด้วยแนวทางการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนตามหลักพุทธศาสนา

หนังเปิดเรื่องมาก็น่าติดตามแล้ว

เมื่อคนเป็นแม่ร้องด้วยความเจ็บปวดจากการคลอดลูก ผู้เป็นพ่อก็เฝ้ารอการเกิดมาของลูกด้วยความเคียดแค้น เมื่อลูกออกมาเป็นแฝดชาย ผู้เป็นพ่อก็ถึงกับจะเอาดาบไปฆ่าลูกเสียให้ตาย ดีที่มีพระที่นับถือมาขอไว้

ถึงกระนั้นผู้เป็นพ่อก็ยังคงเก็บความแค้นชิงชังสุมอกไว้ในขณะที่ผู้เป็นแม่ก็ไม่ยอมให้นมลูกแม้แต่สักหยด และพูดถึงลูกที่ตนให้กำเนิดด้วยความเคียดแค้นไม่แพ้กัน

“ถ้าฉันให้นมมัน ก็ขอให้นมหนึ่งหยดนั้นเปลี่ยนเป็นยาพิษในทันที”

ทำให้เราอยากรู้อย่างยิ่งว่าอะไรทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่คนถึงเกลียดลูกตนเองได้ขนาดนั้น

และเรื่องก็เล่าคู่ขนานกันไประหว่างความสัมพันธ์ที่เลวร้ายของลูกแฝดที่เติบโตขึ้นกับพ่อและแม่ของตน กับเรื่องราวแต่หนหลังให้เราได้ค่อยปะติดปะต่อเรื่องเข้าด้วยกัน

 

สาเหตุนั้นก็มาจาก 2 พี่น้องที่เป็นนักเลงชอบรังแกข่มเหงชาวบ้าน ตัวพี่นั้นมีเมียท้องแก่อยู่แล้ว ส่วนตัวน้องเกิดไปติดใจสาวคนหนึ่งซึ่งมีคนรักใกล้จะแต่งงานกัน เจ้าพี่ชายยกสินสอดไปขอสาวคนนั้น เมื่อถูกแม่และตัวผู้หญิงปฏิเสธก็เกิดผูกใจเจ็บ และทิ้งคำขู่ว่าต้องเอามาเป็นเมียให้ได้

คนรักของฝ่ายหญิงหาทางช่วยโดยการยืมมือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาช่วย โดยบอกว่าไอ้สองคนพี่น้องเป็นสายให้กับรัฐบาล 2 คนนั่นจึงถูกกองกำลังจับตัวมา

ขอเล่าข้ามไปหน่อยเพื่อไม่เป็นการสปอยล์หนังเกินไป เป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างเกิด “ความอาฆาตแค้น” และต่างฝ่ายก็มุ่งที่จะจองเวรแก้แค้นกันไปไม่สิ้นสุด

คู่รักชาย-หญิงที่เจอวิบากกรรมนี้ก็คือ -คนเป็นพ่อเป็นแม่ในตอนต้นเรื่องนั่นเอง ส่วนลูกที่เกิดมาเป็นแฝดนั้น คือ 2 พี่น้องชั่วที่ทำกรรมไว้กับตนกลับชาติมาเกิดนั่นเอง และเด็กแฝดนั้นก็เกลียดแค้นพ่อเช่นกัน

คนในครอบครัวกลัวเด็กจะได้รับอันตรายจากพ่อที่แค้นไม่เลิก จึงพาไปให้หลวงพ่อบวชให้ หวังให้ศาสนาช่วยเป็นเกราะคุ้มกัน และหวังให้ช่วยขัดเกลาชีวิตให้เด็กทั้งสองด้วย

จากสามเณรก็ได้เติบโตมาเป็นพระหนุ่ม ศาสนาพุทธได้กล่อมเกลาจิตใจให้พระทั้งสองรูปอยู่ในร่องในรอย และแลเห็นสัจธรรมของวัฏสงสาร

พระนั้นรำลึกถึงชีวิตตนในชาติที่ผ่านมาได้ จึงรู้สึกผิดและอยากให้โยมพ่อโยมแม่ให้อภัย เพราะถ้าโยมพ่อโยมแม่ยังเคียดแค้นอยู่เช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข และความแค้นนี้ก็จะติดไปในชาติหน้าเป็นการชดใช้กรรมไม่มีที่สิ้นสุด

ตัวแม่นั้นยังคงเกลียดแค้นลูก แม้เมื่อลูกที่เป็นพระมายืนนิ่งหน้าบ้านเพื่อรอรับบาตรจากโยมแม่ ตัวเองก็ไม่เคยใจอ่อนเลย

แต่ด้วยคำพูดบางประการทำให้แม่เกิดคิดได้ ฉากที่โยมแม่วิ่งตามเรียกลูกให้หยุดก่อน และตนก็นำอาหารมาใส่บาตร เป็นฉากที่เรียกน้ำตาจากผู้ชมได้

โยมแม่เมื่อได้ปลดเปลื้องความอาฆาตแค้นออกไปได้ ใจก็พบแต่ความสุข น้ำตาที่ไหลออกมาตอนใส่บาตรนั้นเป็นความปลื้มปีติโดยแท้

ที่น่าเสียดายคือผู้เป็นพ่อที่นอนป่วย แม้พระจะไปเยี่ยมเพื่อให้โยมพ่ออโหสิกรรม จะได้ไม่เป็นเวรเป็นกรรมกันไป

แต่โยมพ่อกลับเคียดแค้นไม่ลดละ ซ้ำยังทวีความเจ็บช้ำน้ำใจมากขึ้นด้วย

สุดท้ายก็จบชีวิตลงโดยมีความอาฆาตแค้นติดตัวไป

 

ในหนังได้ถ่ายทอดวิธีคิดและหลักธรรมออกมาได้อย่างน่าชื่นชม บทพูดที่ออกมาจากปากของพระลูกทั้งสองชวนฟังและคิดตามให้เกิดรู้สึกและเกิดปัญญาตามมาได้อย่างดี มีการใช้สัญลักษณ์ทางธรรมแทรกอยู่ในเรื่องด้วย เช่น การขีดเส้นที่พื้น 3 เส้น เป็นการพูดถึงหลักธรรม 3 ข้อคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ครูบาอาจารย์ของเมียนมานิยมหยิบมาสอนกัน

ปริยัติ คือการเรียนรู้หลักธรรม ปฏิบัติ คือการฝึกตนให้อยู่ในธรรม ปฏิเวธ คือการดับกิเลส

เราได้เห็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์หลายอย่างของชาวเมียนมา และได้เห็นการแสดงออกที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น เมื่อเกิดความแค้นมากๆ จะแสดงออกโดยการ “เต๊าะปาก” ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นเก่า เด็กรุ่นใหม่มักไม่ทำกันแล้ว

ที่สำคัญ เรารู้สึกได้เลยว่า ชาวเมียนมานั้นมีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ในบ้านเมืองของเขาจึงมีวัดเต็มไปหมด และผู้คนก็นิยมเข้าวัดเพื่อแสดงศรัทธาและทำพิธีกรรมต่างๆ ตามแบบพุทธศาสนิกชน

ส่วนของนักแสดงนั้นก็แสดงกันออกมาได้แบบไม่ห่วงสวยห่วงหล่อกันเลย แสดงกันเต็มความรู้สึก แค้นก็คือแค้น ไม่พอใจก็ออกมาชัดแจ้ง แม้บางทีจะดูมากเกินไปนิดติดแบบลิเกบ้าง แต่เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมก็กลมกลืนไปกันได้ดี นำโดย Nay Toe, Kyaw Kyaw Bo, Min Thway

ผู้กำกับฯ เรื่องนี้คือ Aww Yatha และภาพสวยๆ ก็มาจากฝีมือของ Winn Lwin Htet

หนังเรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นว่าแสงสว่างของชีวิตนั้นมาจากการมีธรรมะของศาสนาพุทธช่วยชี้นำ หากปล่อยให้ลุ่มหลงไปกับกิเลสตัณหา ชีวิตก็จะเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏตลอดไป และจากการได้สัมผัสกับสามเณรปลูกปัญญาธรรม ก็รู้ว่ายิ่งจะดีถ้าเราปลูกฝังธรรมะให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เขายังเล็ก ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า “ศีลธรรมของยุวชน คือสันติภาพของโลก”

มาหยุดกิเลส ดับตัณหา ด้วยธรรมะกัน ฝากบอกไปถึงลุงๆ ป้าๆ นักการเมืองด้วยก็ดีนะครับผม…แฮ่ม