ความจริงที่เกินความคิด โลกแคบจนกระทั่งอาจจะพบว่า วุฒิภาวะไม่ได้ขึ้นกับคุณวุฒิ วัยวุฒิ

แม้เครื่องมือสื่อสารจะเชื่อมโลกให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะเชื่อมหว่างคนต่างถิ่นต่างที่ให้มีปฏิสัมพันธ์กันสะดวกขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างวัยที่เคยเข้าอกเข้าใจกันยากถูกถมให้แคบลงเพื่อเดินเข้าหาความรู้สึกนึกคิดของกันและกันได้มากขึ้น

ไม่เพียงอุปสรรคด้านภาษาจะถูกทำให้ลดลงด้วยโปรแกรมที่คิดค้นขึ้นมาแปลผ่านเครื่องมือออนไลน์ได้ดีขึ้นเรื่อยเท่านั้น โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ได้ทำให้คนแต่ละเพศละวัยสามารถสื่อสารความรู้ ความคิด ทัศนคติและความสนใจของตัวเองให้คนอื่นๆ ได้รับรู้มากขึ้น

ความกลมกลืนระหว่างคนต่างถิ่นต่างวัยมีมากขึ้น จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียว

ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหากอยากรู้ว่าคนในวัยไหน หรือในกลุ่มอาชีพ ระดับฐานะต่างๆ มีความรับรู้และคิดเห็นอย่างไร สามารถสำรวจตรวจสอบได้ไม่ยาก

โลกแคบจนกระทั่งอาจจะพบว่า วุฒิภาวะไม่ได้ขึ้นกับคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีคนที่มีการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดอ่านไม่ได้ดีกว่าคนที่เล่าเรียนมาสูงกว่า หรือคนที่อายุมากกว่าใช่ว่าจะเป็นผู้มีความคิดสุขุมอย่างคนเข้าใจโลกและชีวิตมากกว่า

 

ช่องว่างที่แคบลงด้วยการแลกเปลี่ยนที่ทำให้คนเข้าถึงตัวตนกันและกันมากขึ้นว่า “ใครแค่ไหน” ทำความเคารพและการให้ความนับถือกันในฐานะทางชนชั้น ตำแหน่ง และวัยด้วย

อย่างไรก็ตาม การเชื่อมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันของผู้คนยุคใหม่ ใช่ว่าทุกคนจะมองเห็นและทำความเข้าใจได้

การติดกรอบความคิดแบบเดิมๆ ของคนรุ่นเก่า หรือคนที่จับตัวเองไว้ในกรอบความคิดตามวัฒนธรรมเดิม อย่างเช่น ความคิดของผู้สูงวัยจะต้องรอบคอบ ดีกว่าคนที่อายุอ่อนเยาว์กว่า ทำนอง “ผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน”

หรือคนที่มียศมีต่ำแหน่ง ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ หรือมีการศึกษาที่ดีกว่าจะต้องเป็นคนที่เก่งหรือฉลาดกว่า

ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดอยู่ในกรอบความคิดนี้ แม้จะรับรู้การเชื่อมต่อของโลกยุคใหม่ที่มีช่องว่างในทุกมิติน้อยลง ย่อมยากที่จะยอมรับ

ภาพสะท้อนที่เกิดความขัดแย้งใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ก่อความโกลาหลไม่น้อยในการควบคุมการละเมิดสิทธิในอินเตอร์เน็ตนั้น อาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจการเชื่อมต่อช่องว่างที่เปลี่ยนไปดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ดูท่าจะเป็นเรื่องยังสบสนไม่น้อย

ผลการสำรวจของ “นิดาโพล” ล่าสุด เรื่อง “สงครามไซเบอร์” ที่ออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 36.39 เห็นว่าการต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของกลุ่มเครือข่ายพลเมืองชาวเน็ต เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมเพราะทำให้ประเทศเสียหาย โดยมีร้อยละ 17.11 ที่เห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม เพราะรัฐไม่ยอมฟังเสียงของประชาชน

และเมื่อถามถึงความคิดว่าภาครัฐควรดำเนินการอย่างไรต่อสงครามไซเบอร์นี้ ร้อยละ 47.53 ให้รัฐชี้แจง พ.ร.บ. นี้ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อลดความขัดแย้ง ร้อยละ 30.62 ให้หาวิธีป้องกันการแฮ็กเจาะข้อมูลของหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 25.46 ให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด

มีร้อยละ 15.98 ที่ยอมอ่อนข้อทบทวนกฎหมาย

จากผลสำรวจนี้ย่อมตีความได้ว่าแม้โลกยุคใหม่จะเชื่อมคนมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างมิติต่างๆ ลดลง แต่ถึงที่สุดแล้วทัศนคติที่เป็นตัวกำหนดความคิดก็ยังเป็นทัศนคติที่ถูกปลูกฝังถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นหลักที่จะกำหนดความคิดของคนส่วนใหญ่

แม้ว่าในที่สุดแล้วทัศนคติเช่นกัน จะไม่ยึดโยงอยู่กับความเป็นจริงที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงก็ตาม