คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม- ภารต 4 : ตั่งไม้มะเดื่อและภัทรบิฐ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะเมื่อสรงพระมูรธาภิเษกในมณฑปพระกระยาสนานนั้น พระมหากษัตริย์จะประทับบนตั่งเล็กๆ สูงประมาณคืบกว่าๆ ทำด้วย “ไม้มะเดื่อ” หุ้มผ้าขาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิพนธ์ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวี และพระสังฆราช… ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ได้รับอภิเษก”

เมื่อเสด็จลงจากพระกระยาสนานแล้ว ก็ยังต้องเสด็จไปประทับยังพระที่นั่ง “อัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” คำว่า “อุทุมพร” หมายถึงมะเดื่อ เพราะพระที่นั่งองค์นี้ทำด้วยไม้มะเดื่อเช่นเดียวกัน แต่มีฐานก่ออิฐถือปูนเป็นแปดเหลี่ยม อยู่ภายใต้สัปตปฎลมหาเศวตฉัตร

เหตุใดไม้มะเดื่อถึงมีความสำคัญ เพราะนอกจากใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว การอุปราชาภิเษก (อภิเษกพระอุปราช) หรือ สมณุตมาภิเษก (อภิเษกพระสังฆราช) ก็ใช้ตั่งไม้มะเดื่อเช่นกัน

 

ในหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร คุณณัฏภัทร จันทวิช อธิบายว่า ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพตรีมูรติตามคติพราหมณ์ แต่ผมค้นยังไงก็ไม่เจอคติที่ว่านี้ จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องนัก

ไม้มะเดื่อในคติพราหมณ์นั้นมีความสำคัญมาก พราหมณ์นับเข้าเป็นไม้ใหญ่ยืนต้น (วนัสปติ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ ความยั่งยืน ความเป็นอมตะ เช่นในพิธีสถาปนาหม้อแห่งความสมบูรณ์ (ปูรณกลัศ หรือปูรณฆต) พราหมณ์จะใช้ใบของมะเดื่อและพืชยืนต้นอีกสี่อย่าง คือ กร่าง โพ ไทร มะม่วง รวมเรียก “ปัญจปัลลวะ” ใส่ลงในหม้อมงคล

ที่น่าสนใจมากๆ คือการใช้ตั่งไม้มะเดื่อนั้น ปรากฏในพิธีราชาภิเษกตั้งแต่สมัยพระเวท โดยใช้เป็น “ตั่ง” ความสูงคืบ เช่นเดียวกับที่เราใช้ โดยในพิธีสำคัญสองอย่างที่ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์พราหมณะ คือ พิธีปูนรภิเษก ได้แก่ การประกาศความเป็นกษัตริย์อีกครั้ง และพิธีไอนทรมหาภิเษก หรือการอภิเษกพระอินทร์

นอกจากจะใช้ตั่งไม้มะเดื่อขณะรับอภิเษกแล้ว ในพิธีปูนรภิเษกยังมีการใช้ภาชนะที่ทำจากไม้มะเดื่ออีก มีคำอธิบายในคัมภีร์ไอตเรยพราหมณะ ขัณฑ์ที่สี่ว่า “ไม้มะเดื่อคือพละกำลังหรือคืออาหาร ดังนั้น เขาจึงวางพละกำลังหรือคืออาหารในพิธีนี้”

ผมเห็นว่าคำอธิบายนี้น่าสนใจ ด้วยเหตุว่ามะเดื่อมีลูกผลดกดื่นกว่าพืชยืนต้นอื่นๆ ตามทัศนะของคนโบราณแล้ว การที่มะเดื่อจะสื่อถึงอาหารและพละกำลังจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

 

ในคติอินเดีย ก่อนที่พระราชาจะทรงประทับบนตั่งไม้มะเดื่อ จะทรงสวดขอให้เทพเทวาทั้งหลายมาประทับก่อน เช่น พระประชาบดี พระพฤหัสบดี ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเทพในสมัยพระเวททั้งนั้น ยังไม่มีคติ “ตรีมูรติ” แต่อย่างใด

นักวิชาการอีกหลายท่านเสนอว่า นอกจากมะเดื่อมีความสำคัญในคติพราหมณ์แล้ว ยังผูกโยงไปยังคติความเชื่อพุทธศาสนาได้ด้วย เช่น ต้นมะเดื่อเป็นที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ หรือเป็นไม้สำคัญในชาดกบางเรื่อง ที่แสดงถึงความเป็นหัวหน้าหรือราชะ แต่ผมคิดว่า นี่คือการพยายามบวชพราหมณ์ให้เป็นพุทธ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะในพิธีบรมราชาภิเษกของเรานั้น ก็ผสมผสานทั้งพุทธพราหมณ์และพื้นเมือง

เพียงแต่มีสัดส่วนของพิธีพราหมณ์ค่อนข้างมาก

แม้ว่าในพิธีบรมราชาภิเษกของเราจะไม่ได้เหมือนพิธีอย่างในคัมภีร์พราหมณะโดยตลอด แต่การใช้วัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่มีความสำคัญในพิธี ก็น่าจะสะท้อนความเชื่อมโยงกับคติเก่าแก่ที่สืบทอดกันลงมาได้

 

นอกจากตั่งไม้มะเดื่อที่ใช้ในพิธีสรงพระมูรธาภิเษก กับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว ยังมีพระที่นั่ง “ภัทรบิฐ” ที่มีความสำคัญอย่างสูงในพระราชพิธี

พระที่นั่งองค์นี้น่าสนใจมากครับ ผมเห็นแวบแรก ไม่รู้ทำไมถึงนึกถึงเก้าอี้หรือพระราชอาสน์แบบจีน ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้จะเป็นที่ประกอบพิธีถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคต่างๆ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต่างกับพิธีในฝั่งพราหมณ์ครับ แม้ในไอนทรภิเษกจะมีการถวายของต่างๆ บ้าง แต่ก็ไม่เหมือนอย่างถวายราชกกุธภัณฑ์

ที่นักวิชาการหลายท่านที่มีข้อเสนอว่า เรารับเอาประเพณีจีนมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ก็น่าจะเป็นส่วนนี้รวมทั้งการถวายรายงานไพร่พล ตำแหน่งต่างๆ และรายนามเมืองขึ้น

ในส่วนของพราหมณ์ แม้ว่าพระที่นั่งองค์นี้จะดูเป็นจีน แต่มีการตั้งแต่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์ไว้ ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงบันทึกไว้ว่า “และเชิญเสด็จขึ้นภัทรบิฐซึ่งวางคา โรยแป้งอย่างเช่นเชิญพระเป็นเจ้าขึ้น”

ดังนั้น ที่พระที่นั่งองค์นี้ จะมีการปูผ้าขาวแล้ว “โรยแป้งวางคา” วางทับด้วยแผ่นทองเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาติหรคุณ (นัยว่าแทนหนังสิงโต) ซึ่งในพระราชพิธีเราอาจไม่ได้เห็น เพราะมีเบาะสำหรับรองประทับนั่งปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง

 

ที่จริง นาม “ภัทรบิฐ” นี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ภัทรปีฐ” คำว่า “ภัทร” แปลว่าดีงามหรือมงคล ส่วน “ปีฐ” แปลว่าแท่น นอกจากแปลว่าแท่นหรือที่นั่งแล้ว ยังหมายถึงที่ประทับของเทวดาในพิธีกรรมของพราหมณ์ด้วย

การทำ “ปีฐ” ของพราหมณ์นั้น จะใช้ข้าวสารย้อมสีต่างๆ รวมทั้งใช้แป้งข้าวเจ้าหรือข้าวสาลี โรยเป็นรูปทรงเลขาคณิต สมมุติขึ้นเป็นที่ประทับของเทวดาต่างๆ ที่จะอัญเชิญขึ้นมาประทับ

นี่คือความหมายของคำว่า “โรยแป้ง” ในตำราเก่าๆ นั่นเอง

ปกติพราหมณ์เมื่อทำปีฐแล้ว จะใช้เทวรูป หม้อกลัศ ข้าวสาร หรือผลหมาก สมมุติว่าเป็นเทพเจ้าแล้วอัญเชิญวางไว้บนปีฐนั้น แต่มีเพียงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยเรา ที่มีการทูลเชิญพระมหากษัตริย์ประทับนั่งบนปีฐ ซึ่งผมยังไม่พบในพิธีต่างๆ ของอินเดียที่ให้คนจริงๆ ขึ้นนั่งบนปีฐเลย

การทูลเชิญขึ้นประทับบนพระที่นั่งภัทรบิฐที่ (โรยแป้งวางขลัง) แล้วอ่านเวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสเชิญพระเป็นเจ้ามาประทับในองค์พระมหากษัตริย์ จึงแสดงคติเทวราชตามคตินิยมในสยามโดยเฉพาะ

ในบรรดาปีฐหลากหลายชนิดตามประเพณีพราหมณ์อินเดียนั้นที่มีชื่อคล้ายคลึงกับ “ภัทรบิฐ” เรียกว่า “สรวโตภัทรปีฐ” และเมื่อดูจากลักษณะแล้วก็ใกล้เคียงกับ “ภัทรบิฐ” ที่พราหมณ์สยามกระทำบูชาเทพเจ้าในพระราชพิธีต่างๆ ที่สุด

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า “ภัทรบิฐ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มิได้มีความหมายแค่ที่นั่งที่ประทับที่ดีงามหรือประเสริฐ แต่ยังหมายถึงชื่อเฉพาะของปีฐตามพิธีกรรมของพราหมณ์ชนิดหนึ่งด้วย

 

สรวโตภัทร (ดีงามทุกที่) เป็นปีฐสำคัญมาก มักตั้งเป็นประธานในพิธีใหญ่ๆ เพราะปีฐนี้มีเทพเจ้าประทับในส่วนต่างๆ ถึงสามสิบสามพระองค์ รวมเอาเทพที่สำคัญไว้ทั้งหมด เช่น พรหมา วิษณุ มเหศวร คเณศ เทวีต่างๆ โลกปาล ฯลฯ

ส่วนคำว่า “ขลัง” เป็นคำเก่าหมายถึง หญ้าคา (ในตำราอินเดียใช้หญ้ากุศ ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันและมักใช้ปนๆ กัน) ภายหลังมีความหมายถึง กฤตยาคมความเข้มขลังไป หญ้ากุศะหรือหญ้าคาใช้ประกอบพิธีหลายอย่าง และยังใช้ปูนั่งในการประกอบพิธีกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเทพ

ส่วนแผ่นทองเขียนรูปสีหราชนั้น (ซึ่งมีปราชญ์อธิบายว่าใช้แทนหนังราชสีห์จริงๆ) อันนี้น่าสนใจมาก เพราะในพิธีของอินเดียและในคัมภีร์ต่างๆ ไม่ปรากฏว่าให้ใช้แผ่นหนังราชสีห์ ในคัมภีรพราหมณะระบุว่าใช้หนังเสือรองที่ประทับ ในพิธีราชาภิเษก

หนังสือนิตยกรรมปธติ ระบุว่า ที่นั่งสำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ ของทวิชา (คนในสามวรรณะ) ให้พึงใช้ หญ้าคา ผ้ากัมพล หนังกวาง หนังเสือ กระดานไม้ หรือใบตาล

การใช้แผ่นทองรูปราชสีห์เพื่อจะแทนแผ่นหนังราชสีห์ (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงลาดแผ่นราชสีห์จริงๆ บนพระราชอาสน์ ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ที่เรียกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช) จึงไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร หรืออาจไม่ได้เป็นคติพราหมณ์อินเดีย เพราะอินเดียใช้แต่หนังเสือซึ่งหาได้ไม่ยากในเมืองไทยเช่นกัน

ชะรอย อาจเป็นการรับเอาอารยธรรมอื่นที่ให้ความสำคัญแก่ราชสีห์ หรือสิงโต ในฐานะสัตว์เจ้าป่าอันแสดงสัญลักษณ์ของกษัตริย์ก็เป็นได้

วานท่านผู้อ่านช่วยกันคิดต่อด้วยเถิด