ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘บวชนาค เข้าพรรษา’ ประเพณีวันพระใหญ่เก่าแก่ที่สุดของไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
บวชนาค เมื่อมีเฉพาะในอุษาคเนย์ แต่ไม่มีในชมพูทวีป บวชนาคครั้งแรกจะมีขึ้นเมื่อไหร่? พระสงฆ์ยุคทวารวดี จากเมืองโบราณอู่ทอง ทั้ง 3 รูปนี้ จะเป็นพระสงฆ์คณะแรกๆของโลกที่บวชนาคหรือไม่? (รูปพระสงฆ์สามองค์บนแผ่นดินเผา งานช่างทวารวดี ยุคหลัง พ.ศ. 1200 พบที่บริเวณเขาทำเทียม เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

วันพระใหญ่ต่างๆ ในประเทศไทยดูจะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นใหม่ในยุคกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

อย่างวันมาฆบูชาก็เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ในกรุงเทพฯ โดยรัชกาลที่ 4 เองนี่แหละ

ส่วนวันวิสาขบูชา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เพิ่งมีสมัยรัชกาลที่ 2

และวันอาสาฬหบูชานี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเพิ่งเริ่มมีการประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 ในประเทศไทยนี้เอง

ประเพณี “เข้าพรรษา” จึงดูจะเป็นวันพระใหญ่ที่สืบประวัติได้ยาวนานที่สุด แม้ว่าจะไม่สามารถระบุแน่นอนได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ตาม

และเมื่อคิดถึงวันเข้าพรรรษา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเอ่ยถึงการ “บวชนาค”

“นาค” เป็นคำใช้เรียก “คน” ผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ คนไทยนิยมบวชกันในช่วงเข้าพรรษา ก่อนบวชพระต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล เรียกว่า นาค ถือเป็นประเพณีโบราณนานมาแล้ว ไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวช “คน” ให้เป็น “พระ” แต่เรียกบวช “นาค” ให้เป็น “พระ” เพราะเล่าต่อๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มเล่าว่า มีนาคแอบมาบวชเป็นพระ แล้วพระพุทธเจ้าจับได้จึงให้สึก และด้วยน้ำพระทัยอันเมตตาของพระพุทธองค์ จึงได้มีพระพุทธบัญญัติให้เรียกคนที่เตรียมจะบวชเป็นพระว่า นาค เพื่อรำลึกถึงนาคตนนั้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าเรื่อง “นาค” ปลอมเป็น “มนุษย์” มาบวชเป็นพระแล้วถูกจับได้นั้นมีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก

แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจบลงที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้ “สึก” เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการให้ “บวชนาค” เพื่อเป็นการระลึกถึงอย่างที่เราเข้าใจ พิธีบวชนาคจึงเป็นเรื่องพื้นเมืองของเรานี่เอง ไม่มีในอินเดียเสียหน่อย

ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าจึงไม่มีเรื่อง “บวชนาค” เพราะมีแต่ “สึกนาค” ต่างหาก

พิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีป คือ ไม่มีร่องรอยในอินเดียสมัยโบราณ

แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า เขมร ลาว และไทยปัจจุบัน

ที่ลังกาก็มีการบวชนาค แต่ชาวลังกาเองก็ไม่สามารถอธิบายได้นะครับ ว่าคืออะไร? และมาจากไหน? พิธีบวชนาคในลังกาจึงเพิ่งรับไปใหม่จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี จากวัดธรรมาราม อยุธยา รับนิมนต์ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่าง “สยามวงศ์” ที่ลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.2295 นี่เอง

เป็นคนในอุษาคเนย์แท้ๆ นี่แหละ ที่อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโอนกลับไปที่อินเดีย ทั้งๆ ที่อินเดียไม่เคยมีบวชนาคเลย

คำว่า “นาค” อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่า “นอค” (Nog) แปลว่า “เปลือย” หรือ “แก้ผ้า” ภาษาอังกฤษรับมาใช้กลายเป็นคำว่า Naked ที่แปลว่าเปลือยเหมือนกัน

ดังนั้น นาค จึงไม่ใช่ทั้งคำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า “งู” เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วมโนเพิ่มเติมกันต่อไปว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือ พญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า บาดาล

เมื่อ “นาค” มาจาก “นอค” หมายถึงเปลือย หรือแก้ผ้า ปราชญ์หรือนักวิชาการหลายท่านจึงอ้างว่า คำว่า นาค เป็นคำของพวกมีวัฒนธรรมสูงกว่าที่รู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว ใช้เรียกผู้มีวัฒนธรรมต่ำกว่าคือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็น “คนเปลือย” หรือคนแก้ผ้า อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม

ยิ่งเมื่อนิทานการกำเนิดฟูนัน รัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เล่าว่า ตระกูลพราหมณ์โกณฑัญญะ จากชมพูทวีปเดินทางข้ามสมุทร แล้วปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงเอกสารจีนเรียก “หลิวเย่” แปลว่านางใบมะพร้าว เข้าใจว่าคือ ไม่นุ่งผ้า แต่เอาใบมะพร้าวมาห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น

“นางหลิวเย่” ก็คือ “นางนาค” หมายถึง “นางเปลือย” นางแก้ผ้า ตามทัศนะของคนนอก คือพวกพราหมณ์จากชมพูทวีป

ผมคิดว่าคำ “เปลือย” นี้น่าสนใจมากนะครับ วัฒนธรรมอุษาคเนย์รู้จักการใช้ผ้าผ่อนมาแต่สมัยก่อนรู้จักกับอินเดียแน่ ข้อมูลการวิจัยทางโบราณคดีในช่วงหลังๆ มานี้ก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าของคนในยุคก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ซึ่งก็พบว่ามีการใช้ผ้าหลายชนิด มีทั้งที่ผลิตเอง และนำเข้าเสียด้วยสิ

ข้อมูลที่ว่าดูจะสอดคล้องกับข้อมูลในยุคหลังคือบันทึกของจิวตากวน (โจวต้ากวาน) ที่เข้ามาในเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา เมื่อราว พ.ศ.1800 ที่อ้างว่าชาวเสียน (สยาม) ถนัดในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผมเดาเอาว่าชาวเสียนคงจะไม่ได้เพิ่งรู้จักการทำผ้าไหม

“เสียน” หรือ “สยาม” เองก็เป็นชนกลุ่มหนึ่งในอุษาคเนย์ แล้วกลุ่มคนที่ชาวจีนระบุว่าถนัดในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะเป็น “คนเปลือย” ไปได้อย่างไรกัน?

คำว่า “นาค” ที่ส่อความถึง “เปลือย” ในตำนานต่างๆ จึงควรจะมีความหมายในเชิง “วัฒนธรรม” มากกว่าที่จะเป็นการนุ่งเปลือยห่มเปลือยจริงๆ

แน่นอนว่าการแต่งกายในวัฒนธรรมอุษาคเนย์มีที่แต่งอย่าง เตี่ยวผืนเดียวเกี่ยวพันกายา แต่วัฒนธรรมอื่นๆ แม้แต่ในอินเดียเองก็มีเช่นกัน ซ้ำยังมีอย่างที่ไม่นุ่งผ้าเลยเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งการแต่งกายอย่างเต็มยศก็ใช่ว่าจะกระทำอยู่เสมอ เพราะในทุกวัฒนธรรม การแต่งกายอย่างเต็มยศจะกระทำเฉพาะเมื่อประกอบในพิธีกรรมที่สำคัญเท่านั้นแหละ

ข้อความในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง มีข้อกำหนดชัดเจนในพิธีกรรมที่ต่างกัน กษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ต้องทรงเครื่องแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แม้กระทั่งข้อความในพระไตรปิฎกยังอ้างว่า เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จออกสงครามก็เกรงเรื่องสืบทอดพระราชบัลลังก์จึงฝากมงกุฎคือ “ผ้าขาวเนื้อดี” ที่ใช้โพกพระเศียรไว้กับอำมาตย์ “ผ้า” และ “การแต่งกาย” จึงมีความหมายเชิงวัฒนธรรม และชนชั้นอยู่ไม่น้อย

ดังนั้น “นาค” คือคนพื้นเมืองจึงไม่ได้เปลือยตนเอง แต่ถูกคนนอกคือพวก “พราหมณ์” หรือ “พุทธ” จับเปลือยทางวัฒนธรรมโดยอ้างว่าฝ่ายชมพูทวีปมีวัฒนธรรมสูงส่งกว่าต่างหาก

ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพุทธ (รวมถึงพราหมณ์) กับผี มีอยู่ในตำนาน และนิทาน หนังสือสำคัญที่บันทึกเรื่องนี้ไว้คืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดินแดนอีสาน ก็พบกับบรรดานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ควบคุมพื้นที่อยู่

บรรดานาคไม่ยอมอ่อนน้อมนมัสการ แถมยังกระทำอาการอวดอภินิหารข่มขู่ ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงแสดงอภินิหารปราบบรรดานาค

จนที่สุดนาคทั้งหลายก็ยอมเข้าหาพระศาสดา มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาแล้วทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา นิทานอย่างนี้มีทั่วไปทั้งหมดภูมิภาคตั้งแต่พม่า มอญ ไทย ลาว เขมร จนถึงเวียดนาม

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพุทธกับผีสมัยแรกๆ คงไม่ง่ายอย่างในนิทานปราบนาค เพราะยังมีนิทานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีบวชนาค ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ปราชญ์ผู้ล่วงลับเคยให้คำอธิบายไว้ว่า

นาค นั้นคือ พญางูใหญ่ หรือพญานาค, และว่า พญานาคเคยปลอมตัวเข้ามาบวชด้วย, แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับไล่ให้ลาสิกขา, พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่มีกำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า นาค, ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่า ทำขวัญนาค, ขานนาค, ให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้นบวชนาค มาในทุกวันนี้, จากการนี้จึงได้มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้น มิใช่พญานาคหากเป็นคนแน่นอน,ในการบวชจึงมีระเบียบว่าพระคู่สวดสององค์จะต้องพาผู้บวชออกไปสอบสวนนอกประตูพระอุโบสถ ในคำสอบสวนนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า “มนุสฺโส สิ?” แปลว่า เจ้าเป็นคนหรือเปล่า?

เรื่องปรัมปราที่ว่าพญานาคปลอมมาบวชนั้นตัดทิ้งไปได้. ทำไม, พระคู่สวดแต่โบราณนั้นดูไม่ออกเจียวหรือ ว่าคนที่มาขอบวชและยืนอยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นคนหรือเปล่า? และยังไม่ยอมเชื่ออีกหรือว่าผู้มาขอบวชนั้นพูดจาภาษาบาลีกันได้รู้เรื่องขนาดนี้แล้วยังอาจจะไม่ใช่คน?

ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระคู่สวดไม่รู้ หรือดูไม่ออกว่าสิ่งที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตนนั้นเป็นตัวแมงกะแท้หรือเป็นคน, หากความเป็นจริงอยู่ที่ว่า สังคมยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์, ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์…

การ “บวชนาค” จึงเป็นร่องรอยของการ “เกี้ยเซี้ย” กันระหว่าง ศาสนาใหญ่จากชมพูทวีป กับศาสนาพื้นเมืองของอุษาคเนย์ นาคที่บวชๆ กันในช่วงเดือนแปดก่อนเข้าพรรษา จึงไม่ใช่แค่ “นาค” ที่หมายถึง “งูใหญ่” เท่านั้นนะครับ แต่ยังหมายถึง “มนุษย์” ที่ได้รับการยอมรับว่ามีอารยธรรม

ไม่ใช่เพียงสัตว์ที่ไม่มีศาสนาตามสายตาของ “รัฐ” ในสังคมอุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคที่ยอมรับนับถือเอาศาสนาจากชมพูทวีปมาแล้วด้วย