โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญสิงห์-เสาร์รุ่น 2 วัดศรีสุข กันทรวิชัย มงคล 2 พระเกจิสารคาม

.หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญสิงห์-เสาร์รุ่น 2

วัดศรีสุข กันทรวิชัย

มงคล 2 พระเกจิสารคาม

 

 

“หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร” หรือพระครูสิริสุขวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุข และเจ้าคณะตำบลศรีสุข เขต 1 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม พระเกจิเรืองนาม

ปัจจุบันอายุ 93 ปี พรรษา 73

จัดสร้างเหรียญวัตถุมงคลรูปเหมือนรุ่นแรก ในปี พ.ศ.2521 คือ “เหรียญสิงห์-เสาร์” ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสมนิยมพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง

แต่ที่โดดเด่นไม่แพ้รุ่นแรก คือ “เหรียญสิงห์-เสาร์ รุ่น 2” ถือเป็นเหรียญอีกรุ่นที่อยู่ในความนิยมของชาวมหาสารคามมาโดยตลอด เนื่องจากเหรียญสิงห์-เสาร์ รุ่นปี พ.ศ.2521 ได้รับความนิยมสูงและหายาก

ทำให้นักสะสมหันมาเก็บเหรียญรุ่น 2 แทน

เหรียญสิงห์-เสาร์รุ่น 2 (หน้า-หลัง)

 

เหรียญสิงห์-เสาร์ รุ่น 2 จัดสร้างในปี พ.ศ.2528 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ยกขอบมีหูห่วง จำนวนการสร้างไม่เกิน 3,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงรมดำชนิดเดียว

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หลวงพ่อเสาร์ ใต้ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระตัวขอมลาว นะ มะ พะ ทะ จะ พะ กะ สะ เป็นคาถาหัวใจธาตุ 4 และจากขอบเหรียญด้านขวาโค้งลงไปตามขอบเหรียญด้านล่างไปถึงขอบเหรียญด้านซ้าย มีตัวอักษรเขียนว่า “หลวงพ่อเสาร์ อายุ ๖๘ ปี วัดศรีสุข”

ด้านหลัง เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หลวงปู่สิงห์ ใต้ขอบเหรียญด้านบนมีตัวอักขระตัวขอม-ลาว เป็นคาถาหัวใจเรียกลาภ อ่านว่า “นะ มะ พุทธะ ตัง อะหัง ติ วิ ภะ” โค้งไปตามขอบเหรียญจากขวาไปซ้าย

จากขอบเหรียญด้านขวาโค้งลงไปตามขอบเหรียญด้านล่าง ไปจนถึงขอบเหรียญด้านซ้าย มีตัวอักษรภาษาไทยเขียนคำว่า “พระครูสิริสุขวัฒน์ อายุ ๕๘ ปี ๒๕๒๘”

คาดว่ารุ่นนี้น่าจะใช้บล็อกเดียวกับเหรียญสิงห์-เสาร์ รุ่นแรก แต่เปลี่ยนเพียงสมณศักดิ์ อายุ และปี พ.ศ.ที่จัดสร้างเท่านั้น

ทั้งนี้ หลวงพ่อเสาร์ที่อยู่ด้านหน้าเหรียญเป็นพระพี่ชายของหลวงปู่สิงห์ ขณะจัดสร้างเหรียญท่านมรณภาพแล้ว

เพื่อมอบให้ผู้ที่ร่วมบริจาคทำบุญสมทบทุนก่อสร้างอุโบสถวัดบ้านศรีสุข และญาติโยมที่ร่วมงานมุทิตาสักการะอายุ 58 ปี โดยหลวงปู่สิงห์ประกอบพิธีปลุกเสกเดี่ยวที่สิมน้ำวัดบ้านศรีสุข นานถึง 1 พรรษา

 

หลวงปู่สิงห์ เกิดในสกุลเหล่าทับ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2469 ที่บ้านเลขที่ 8 บ้านศรีสุข ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม บิดา-มารดาชื่อ นายสายและนางเคน เหล่าทับ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

อายุ 21 ปี ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดสระทอง ต.นาสีนวล อ.กันทรวิชัย มีพระอธิการชม โสภโณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุลฬา เขมิโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเสาร์ สิริจันโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า คัมภีโร แปลว่า ผู้มีความสุขุมรอบคอบ

เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดกลางจังหวัดกาฬสินธุ์ สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ.2495 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนพระปริยัติธรรมควบคู่กันไปกับการเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.9 และเจ้าคุณพระอุดมวิชาญาณ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็นครูสอนกัมมัฏฐาน

ครั้นเมื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐานจนแตกฉานแล้ว ท่านยังศึกษาเพิ่มเติมวิชาแพทย์แผนโบราณที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จบหลักสูตรสาขาเภสัชกร และสาขาเวชกร

โดยคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมารักษาโรคภัยไข้เจ็บญาติโยมในชนบทที่ห่างไกล

 

ในปี พ.ศ.2504 เดินทางกลับมาตุภูมิเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีสุข ตามคำนิมนต์ของญาติโยม ช่วงนั้น หลวงปู่เสาร์พระพี่ชายของท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีสุข

นอกจากจะศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อเสาร์ ยังได้ช่วยงานปกครองและพัฒนาวัดแห่งนี้ เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน

ด้วยมีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา หลังจากที่หลวงพ่อเสาร์มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีสุขว่างลง

ในปี พ.ศ.2514 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุขสืบแทนพระพี่ชาย รับตำแหน่งปกครอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะตำบลศรีสุข ตามลำดับ ระหว่างนั้นได้เข้ารับการอบรมโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนภูมิภาค ผ่านการอบรมหลักสูตรความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และอบรมพระปริยัตินิเทศก์ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับกุลบุตรเข้าสู่ร่มพระธรรมวินัยและความผาสุกของชุมชน

รักษาศรัทธาของญาติโยมชาวมหาสารคามไว้อย่างเหนียวแน่น จนถึง พ.ศ.2521 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสิริสุขวัฒน์

พ.ศ.2526 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท และ พ.ศ.2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม

 

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนา ตลอดเวลาที่ปกครองวัดศรีสุข ทำให้วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังปรับปรุงภายในวัดให้มีความร่มรื่นสวยงาม ปลูกไม้ประดับร่มรื่นเต็มวัด ทำให้ทั่วบริเวณมีแต่ความสงบวิเวกเหมาะสำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติ

ตลอดชีวิตวัตรปฏิบัติดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิทุกวัน

แม้จะล่วงเข้าสู่วัยชราแล้วก็ตาม แต่ด้วยความศรัทธาอันเปี่ยมล้น ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศ เดินทางมากราบนมัสการประพรมน้ำพุทธมนต์

เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต