ทิ้งทวน ครม. : กรณีจะนะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ปัญหาและทางออก

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ทันทีที่ข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เสนอ (โปรดดูรายละเอียดใน https://www.ryt9.com/s/cabt/2986758?fbclid=IwAR0d8AWd3Px6Gsx3qUo5qBnPajUy75N4IG3aUAYSH-5yzlOyHrSD0BOPeRw)

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโลกโซเชียลจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจะนะอย่างผู้เขียน ถึงความชอบธรรมอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมอารยะถามถึง

อะไรคือความชอบธรรมของ ครม.ที่จะหมดอายุในการอนุมัติโครงการใหญ่?

เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะหมดอายุอีกไม่นาน การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในเรื่องที่มีการประท้วงมากมายในโครงการใหญ่ๆ ในอดีตสำหรับชาวจะนะ ไม่ว่าเรื่องท่อก๊าซ โรงไฟฟ้า ทั้งถ่านหินไม่ถ่านหิน อีกทั้ง ครม.ชุดนี้มาจากรัฐบาลรัฐประหาร แม้แต่รัฐบาลประชาธิปไตยปกติเขายังไม่ทำ

เป็นการสะท้อนถึงวุฒิภาวะด้านจิตวิญญาณอย่างยิ่ง

อาจเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้เคยชินมาตลอดเรื่องความไม่ละอายต่อการทำทุกอย่างที่จะสืบทอดอำนาจแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ออกมาประท้วง

ความละอายเชิงประจักษ์นั้น นักวิชาการและสื่อที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยทราบดี ถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมของแม่น้ำ 5 สาย ชุด คสช.นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ในความเอาเปรียบด้านการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ทั้งๆ ที่อ้างตัวเองเป็นคนดี (โปรดดูพฤติกรรมล่าสุด ที่คนของแม่น้ำ 5 สาย ยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี สนช. มาเป็น ส.ว.สรรหา หรือลากตั้ง สภาเพื่อนพ้องน้องพี่)

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “มติ ครม. 7 พฤษภาคม 2562 เป็นการประชุม ครม.ที่ทิ้งทวนหย่อนระเบิดเวลาไว้ที่จะนะด้วย

…เรียกว่าเป็นการอนุมัติทิ้งทวนในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายจริงๆ

…สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนเปลี่ยนสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนตลอดกาลนั้น ไม่ควรเป็นมติ ครม.ที่ทิ้งทวน

เรื่องใหญ่เช่นนี้ควรให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา

รีบร้อนซ่อนเงื่อนเช่นนี้ไม่มีความชอบธรรม และเท่ากับเป็นการวางระเบิดให้ทั้งกับชุมชนและรัฐบาลใหม่ สร้างความแตกแยกบาดแผลในพื้นที่จะนะที่กำลังจะสมานให้สุ่มเสี่ยงปะทุขึ้นมาอีก

มติ ครม.จากรัฐบาลที่หมดอายุแล้วคือมติที่ไร้ความชอบธรรม คนจะนะเขาสร้างจะนะมายาวนานจนเป็น “จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” ทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ ตำรวจรอบทำเนียบรัฐบาลคงเดือดร้อนอีกเช่นเคย”

ความเป็นจริงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้น่าจะทราบดีถึงความกังวลคนในพื้นที่ก่อนจะเสนอให้ ครม.อนุมัติทิ้งทวนต่อเรื่องนี้

การจัดเวทีพบปะประชาชนทุกภาคส่วน ตลอด 15 ปีไฟใต้ มีคำถามว่า ทำไมไม่เคยได้ยินความกังวลด้านนี้เลยหรือ?

การเห็นชอบครั้งนี้เป็นข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ซึ่งผู้เขียนและนักวิชาการเคยทักท้วง นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ในเวที เปล่งเสียงประเทศไทย อันเป็นเวที ให้นักวิชาการ ภาคประชาชน หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานพัฒนารัฐโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เสวนาทิศทางนโยบายต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอต่อทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า

ความเป็นจริง เวทีต่างๆ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำมานับพันๆ เวที หมดเงินเป็นพันล้านตลอด 15 ปี ไม่เคยได้ยินข้อกังวลต่อเรื่องนี้เลยหรือ

หากเป็นเช่นนั้น ก็สะท้อนได้ว่า การทำเวทีต่างๆ เป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรม แต่ถ้าได้ยินเสียงทักท้วง แน่นอน ศอ.บต.คงไม่ชงให้ ครม.อนุมัติทิ้งทวนในวันนี้

อะไรคือทางออก

ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทบทวนมติ ครม.นี้ หลังจากนั้นจัดเวทีรับฟังเสียงประชาชนก่อนโดยเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตั้งแต่ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ

อันเนื่องมาจากผู้เขียนได้ร่วมลงพื้นที่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และร่วมให้ข้อเสนอแนะในการศึกษา ข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข สถาบันพระปกเกล้าหรือที่เรียกว่า 4 ส รุ่นที่ 8 นำโดยนายแพทย์นันทวัช สิทธิรักษ์ หัวหน้าวิชาการและคณะนักศึกษา จำนวน 80 8oที่มาจากทุกภาคส่วน

กล่าวคือ จากการลงพื้นที่ในโครงการขนาดใหญ่หรือเรียกว่าเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐจำนวน 5 โครงการที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไปทั้งที่ดำเนินการไปแล้วเสร็จ (โครงการโรงแยกก๊าซจะนะ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำตะคอง) กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ (โครงการถมทะเลมาบตาพุดเฟสสาม และโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) และโครงการที่กำลังก่อรูป (โครงการเชียงใหม่เมืองมรดกโลก) พบว่า

1. แก่นหลักที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความแข็งขืนต่อต้านโครงการของรัฐในภาพรวมคือ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (no trust) ประเด็นหลักที่พบได้ทุกโครงการได้แก่ ชุดข้อมูลที่ฝ่ายรัฐและแนวร่วมรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการมีอยู่มักถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัด ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจให้ข้อมูลไม่ตรงตามเอกสารจริง ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นองค์กรเอกชนถูกอีกฝ่ายอ้างด้วยเช่นกันว่าข้อมูลด้านตรงกันข้ามรวมทั้งมีการใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยก

2. การไม่ยอมรับผลการประเมิน EIA (Environmental Impact Assessment) คือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” EHIA (Environment and Health Impact Assessment) คือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจากหลายเหตุผล

3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว

4. ความไม่ยืดหยุ่นของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์โครงการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน

5. กระบวนการลดผลกระทบเชิงลบและการเยียวยาของโครงการที่มีต่อประชาชนที่มิได้ศึกษามิติต่างๆ ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งที่สามารถตีค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ (tangible) และมีคุณค่าที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน

6. ไม่มีกระบวนการติดตามโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากการวิเคราะห์ช่องว่างดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาสู่การสร้างรูปแบบหรือโมเดลข้อเสนอเพื่อป้องกันความไม่เข้าใจกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (TRUST) ในทุกภาคส่วนตั้งแต่ก่อนตัดสินใจโครงการ ไปจนกระทั่งถึงกลไกการเฝ้าระวังติดตามโครงการให้มีความสอดคล้องกับแผนที่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และบรรเทาปัญหา ผลกระทบต่างๆ ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ทันเวลา

ดังนั้น ขั้นตอนการดำเนินการสามารถแบ่งได้เป็น ช่วงระยะๆ ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการต้องเปิดให้มีส่วนร่วมต่อdkiจัดหาข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน

ขั้นตอนที่ 2 การร่วมกำหนดเป้าหมายโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความจำเป็นของรัฐ

แม้ฝ่ายรัฐจะมีการกำหนดเป้าหมายของโครงการมาแล้วก็ตาม แต่ต้องสามารถปรับแต่งได้ให้สามารถสอดรับกับความต้องการของประชาชนด้วย เป็นที่ยอมรับได้ สมประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม

ขั้นตอนที่ 3 กระบวนการลดผลกระทบโครงการและการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม

มีความชัดเจนว่าโครงการใหญ่ๆ มักสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งผลกระทบที่สามารถประเมินได้เป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ (tangible value) แต่หลายโครงการที่มักก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ความผูกพันที่มีต่อกันในสังคม คุณค่าทางวัฒนธรรม หรือคุณค่าทางจิตใจที่ประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ยาก (intangible value) จึงมีข้อเสนอให้มีการประเมินทั้งสองส่วนนี้

ขั้นตอนที่ 4 กระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างมีส่วนร่วม

การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เมื่อดำเนินโครงการไปแล้วอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ควรมีในพื้นที่ดำเนินโครงการ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง

ควรมีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังขึ้น สามารถแจ้งได้ตั้งแต่สัญญาณเตือนภัย และผลกระทบต่างๆ

ผู้เขียนมีทัศนะว่าปัญหาการประท้วงที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต่อโครงการลักษณะนี้ซึ่งจะกระทบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนจนบานปลายสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถ้าได้รับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไร สังคมในพื้นที่และภายนอกจะยอมรับได้ในกติกานี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือหนุนปัญหาการไม่ยอมกันคงมีแต่อาจจะน้อย การประท้วงหน้าทำเนียบก็คงจะลด หรือถ้ามีประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโล่ให้รัฐเพราะผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ในขณะที่หน่วยความมั่นคงจะลดภาระในการจัดการและภัยแทรกซ้อนไฟใต้ และท้ายสุดรัฐก็มีความมั่นคงโดยมีประชาชนเป็นกองหนุนในที่สุด