ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข : วัดชีพจรโครงการ Belt and Road Initiative กับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทิศทางการพัฒนา

ภายหลังจากโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาลจีนอย่าง Belt and Road Initiative ที่ตั้งใจจะสร้างจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ระหว่างภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่างๆ ภายในเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาเข้าหากันเริ่มมีการนำเข้าสู่กระบวนการดำเนินการมาได้สักพักใหญ่ๆ

หลังปี 2013 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีโครงการเล็กโครงการใหญ่ผุดขึ้นมามากมาย

ไม่ว่าจะท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม โครงการรถไฟความเร็วสูง

โดยรัฐบาลจีนได้ระดมเงินลงทุนหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวแก่เหล่าประเทศกำลังพัฒนา (The Global South)

เพื่อสร้างและแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าของตนเองไปยังประเทศรอบนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออก

รวมถึงหวังให้ภูมิภาคเหล่านั้นสามารถพัฒนากลายมาเป็นแหล่งกระจายสินค้าและสวนหลังบ้านทางภูมิรัฐศาสตร์ให้แก่จีน ในภายหลังจากที่โครงการรางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกแล้วเสร็จ

ซึ่งจีนจะสามารถเข้ามาใช้สอยพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ตามสัญญาการเช่าแบบทวิภาคีที่รัฐบาลจีนได้ทำไว้กับรัฐบาลกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในฐานะเจ้าหนี้-ลูกหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังโครงการเริ่มดำเนินการและมีปริมาณการไหลเวียนของเงินกู้จากธนาคารการลงทุนของจีนมาสู่ประเทศลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น

กลับมีกระแสต่อต้านประเทศจีน (anti-China sentiment) เกิดขึ้นอย่างแพร่กระจายภายในหลายประเทศทั้งเนปาล พม่า มาเลเซีย และเซียร์ราลีโอน

ทั้งในมิติของสินค้าจากจีน และในมิติของการเข้ามาลงทุนโดยรัฐบาลจีนในอาณาบริเวณท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้น

และได้เกิดปรากฏการณ์ของการเรียกร้องให้เจรจาใหม่ การยกเลิกสัญญา การเปลี่ยนแปลงข้อตกลง

รวมไปถึงการถ่วงเวลาในการดำเนินการโครงการ จากผลของสัญญาและข้อตกลงที่รัฐบาลในประเทศเหล่านั้นมองว่าขาดความเป็นธรรม และไม่มีความเท่าเทียม

นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับมาดูในกลุ่มนักวิชาการ นักนโยบาย หรือนักวิจัยแขนงต่างๆ ก็จะพบว่ากระแสต่อต้านจีนนั้นไม่ได้มีอยู่แค่ภายในกลุ่มรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเหล่านั้น

หากแต่ยังเกิดขึ้นในกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย และนักนโยบายแขนงต่างๆ ร่วมอยู่อีกด้วย

ทั้งนักวิชาการจากสถาบัน Brookings Institution, สถาบัน Centre for Strategic and International Studies (CSIS), มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือแม้แต่นักวิชาการในกลุ่มสภา Council on Foreign Relations (CFR) นั้นเอง

โดยหลายๆ ฝ่ายนั้นออกความเห็นไปในทิศทางและกรอบวิธีการคิดแบบเดียวกัน นั่นคือการมีมุมมองที่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนและเงินทุนจากรัฐบาลจีนนั้นกำลังคืบคลานเข้าไปยึดจับจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายๆ จุดบนแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วเอเชีย-ยุโรป-แอฟริกา ผ่านวิธีที่ไม่พึงประสงค์อย่างการใช้เทคนิคการทูตแบบนักล่าลูกหนี้ (debt-trap diplomacy) ที่มักจบลงด้วยสถานการณ์ของการเข้าไปขอเช่าที่ดินเป็นเวลา 99 ปีกับประเทศลูกหนี้ที่ไม่สามารถรวบรวมเงินมาจ่ายหนี้สินและดอกเบี้ยปริมาณมหาศาลได้

และข้อวิจารณ์ที่สำคัญคือ พฤติกรรมของทุนจีนนั้นมีเรื่องฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น การติดสินบน ความไม่โปร่งใสของเงินลงทุนและความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเยอะมากในแถบประเทศกำลังพัฒนา

 

การประชุมในเวที 2019 Belt and Road Forum ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ อันเป็นการประชุมใหญ่ที่รัฐบาลจีนจัดขึ้นมาเพื่อประกาศ ประชุม และหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของโครงการ BRI

และรวมถึงชี้แจงถึงความคืบหน้าและแผนงานในอนาคตของโครงการด้วย

ภายในงานประชุมดังกล่าว Xi Jinping ได้ออกมาประกาศรับทราบข้อวิจารณ์ข้างต้นทุกประการ

ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น

ความไม่โปร่งใส

ความไม่เปิดกว้างต่อผู้ลงทุนที่หลากหลาย

หรือความไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แล้วประธานาธิบดี Xi Jinping ยังยืนยันว่ารัฐบาลจีนนั้นพร้อมที่จะยอมถอยและสร้างความประนีประนอมกับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในโครงการ BRI ในทุกประการที่ถูกกล่าวหาและข้อวิจารณ์ต่างๆ

เพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสให้โครงการ BRI ของรัฐบาลจีนเองสามารถที่จะมีลู่ทางในการพัฒนาต่อได้

โดยเป็นมิตรและตอบสนองผลประโยชน์แก่คนทุกกลุ่ม

 

สําหรับความเห็นของนักวิชาการหลายๆ กลุ่มที่มีท่าทีเชิงกังขาต่อโครงการ BRI นั้นต่างเสนอถึงหนทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแก่ Xi Jinping ไปในแนวทางเดียวกันว่า การลงทุนของจีนภายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นควรมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมาธิการและคณะทำงานพิเศษขึ้นมาในรูปแบบขององค์กรความร่วมมือพหุภาคีเพื่อเข้ามาทำการสอดส่องดูแลและตรวจตราความคืบหน้าของโครงการ BRI ภายในภูมิภาคต่างๆ อย่างใกล้ชิด

เพื่อปิดจุดอ่อนด้านความไม่โปร่งใสและการคอร์รัปชั่นของผู้ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศผู้รับการลงทุน (host countries)

โดยคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นนั้นต้องมีรัฐบาลจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมในคณะ เพื่อความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่

อีกทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเองยังควรที่จะเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม Paris Club ซึ่งเป็นการสมาคมของกลุ่มประเทศผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อจัดประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการลูกหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

(โดยสมาชิกหลักๆ ของกลุ่มนี้ส่วนมากเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา)

กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุดคือ ทางฝ่ายนักวิชาการนั้นเสนอให้ทางการจีนต้องนำเอาธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank และ China Development Bank ของตนเองมาทำงานร่วมกับ International Monetary Fund และธนาคารโลกให้มากขึ้น

เพื่อให้องค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลกและ IMF ช่วยทำการคานอิทธิพลของธนาคารจีนรวมถึงตรวจสอบติดตามกิจกรรมของธนาคารจีนและทุนจีนอย่างใกล้ชิดด้วย

ถัดมาคือ จีนควรจะเลิกจัดการประชุม BRI ในประเทศตนเอง และหันมาใช้ระบบหมุนเวียนสถานที่การประชุมให้มากขึ้น

กล่าวคือ ควรมีการเวียนการจัดประชุมไปยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศจีนบ้าง

เช่น เวียนไปจัดในเขตประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น

เพื่อสร้างความกว้างขวางและความหลากหลายของผู้เข้าร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การขยายฐานของภาคีผู้เข้าร่วมให้มีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลไม่ให้อิทธิพลของรัฐบาลจีนมีมากเหนือรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนามากเกินไป ในกรณีที่ต้องมีการจัดโต๊ะเจรจาระหว่างกัน

และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีระบบการประมูลชิ้นงานก่อสร้างที่ทันสมัย และตรวจสอบได้ให้มากกว่านี้

เช่น การนำระบบการประมูลแบบออนไลน์บนเว็บไซต์เข้ามาใช้ให้มากขึ้น

และลดพฤติกรรมการจัดประมูลแบบไม่โปร่งใสแบบเก่าลงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรูปแบบสถานการณ์ที่ผู้รับเหมาหรือรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของรัฐบาลจีนเข้ามากว้านจ่ายสินบนในการฮั้วประมูลจนได้ชิ้นงานไปอยู่ฝ่ายเดียว

และยังเพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้รับเหมาและผู้ลงทุนรายอื่นให้สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้มากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

คำถามสำคัญคือ รัฐบาลจีนและ Xi Jinping จะทำอย่างไร หรือจะเดินหมากอย่างไรต่อ?

 

โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว ไม่คิดว่าทางการจีนและโดยเฉพาะกับรัฐบาลของ Xi Jinping จะสามารถทำตามข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ได้ครบถ้วน (และรัฐบาลอื่นๆ ของจีนก็คงจะยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ได้ยากเช่นกัน)

แม้ว่า Xi Jinping จะออกมารับปากบนเวทีการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยตรงก็ตาม

เพราะโดยพื้นฐานปกติแล้วรัฐบาลจีนไม่ได้มีแบบแผนพฤติกรรม (strategic culture) ที่จะสามารถเปิดโอกาสให้ผู้นำสามารถยอมโอนอ่อนผ่อนปรนในเชิงโครงสร้างกับข้อเสนอลักษณะข้างต้นที่ดูแล้วเหมือนเป็นการหักล้างรูปแบบและแบบแผนการปฏิบัติเดิมของรัฐบาลจีนนี้

ยิ่งอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของ Xi Jinping ผู้นำสายเหยี่ยวของจีนแล้ว ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

แม้ว่าท่าทีการประนีประนอมจะเคยเกิดขึ้นให้เห็นมาบ้างผ่านสถานการณ์การตั้งโต๊ะเจรจา Trade War เป็นครั้งๆ ที่ Xi Jinping มีต่อ Donald Trump

แต่นั่นก็เป็นเพียงสถานการณ์เฉพาะหน้าชุดหนึ่งๆ และอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น (เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องมีการเจรจาในรอบต่อๆ ไปอยู่ดี)

หากแต่สถานการณ์ในประเด็น Belt and Road Initiative นี้เป็นสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของแบบแผนการปฏิบัติโดยรัฐบาลจีนอาจส่งผลกระทบถึงตัวรัฐบาลจีนและความชอบธรรมของรัฐบาลในหลายๆ มิติ (โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งของผู้นำและตัวพรรค)

ความเป็นไปได้ในการที่ Xi Jinping จะยอมนำข้อเสนอเหล่านั้นมาปฏิบัติตามทุกประการจึงเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

อย่างมากก็อาจมีการพยายามทำการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติขึ้นมาจากเดิม

เช่น ปรับให้ระบบการประมูลโครงการมีความโปร่งใสขึ้น

แต่การคอร์รัปชั่นและการฮั้วประมูลอาจจะยังคงมีอยู่ หรือมีการเปิดให้รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเข้าเจรจาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและวงเงินกู้ลง แต่ก็ปรับลดประสิทธิภาพของโครงการลง

(อย่างกรณีของมหาธีร์ ที่สามารถเจรจาลดงบประมาณการลงทุนลง แต่ก็ต้องลดสเป๊กของโครงการให้ต่ำลงตามไปด้วย)

เพื่อให้ตัวโครงการ BRI นั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น พอให้เห็นเป็นในเชิงสัญลักษณ์ว่าจีนนั้นยอมเปลี่ยนแปลงและผ่อนปรนต่อข้อเสนอของโลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกาแล้ว

แต่โดยรวมแล้วพฤติกรรมการลงทุนของรัฐบาลจีนอาจจะยังมีรูปแบบที่คงเดิม เพราะถือว่าจีนลงไปก้าวหนึ่งให้แล้ว เหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาที่แม้จีนจะแสดงออกให้เห็นว่าตนเองนั้นมีเจตนาที่จะผ่อนปรนโอนอ่อนให้แก่คู่เจรจา-คู่ค้า

แต่ก็เป็นเพียงการถอยแค่ก้าวเดียว

หรือยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของคู่เจรจาเพียงแค่ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เพียงเท่านั้น

ดังเช่นกรณีการลดหย่อนผ่อนหนี้ในประเทศแคเมอรูนลูกหนี้รายใหญ่ของจีนที่จีนประกาศว่าจะยอมปลดหนี้บางส่วนให้

(แต่เมื่อเปรียบเทียบในเชิงตัวเลขของสัดส่วนแล้ว เป็นสัดส่วนที่น้อยมากยิ่งกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณหนี้ทั้งหมด)

หรือกรณี Peaceful Rise (การเจริญเติบโตขึ้นอย่างสันติ) ที่ไม่ว่ากี่ปีจีนก็ยังคงอ้างว่าตนเองนั้นเติบโต ขยายตัวและก้าวขึ้นมามีบทบาทในการเมืองโลกแบบสันติ

แต่ขณะเดียวกันก็ใช้เรือรบของกองทัพเรือตนเองไปยิงอาวุธขู่ไต้หวันบนช่องแคบไต้หวันอยู่บ่อยๆ