สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ทวิ/พหุภาษา… นวัตกรรมการศึกษา สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีประชุมวิชาการและแสดงนวัตกรรมการศึกษา ห้องล่าสุดที่ผมในฐานะนักสังเกตการณ์มีโอกาสร่วมรับรู้ ชื่นชมด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ ภายใต้หัวข้อ ทวิ/พหุภาษา นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บนฐานภาษาท้องถิ่น สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแรกของเด็กกลุ่มนี้ ชุมชนมีภาษาของตนเองเป็นภาษาท้องถิ่นสำหรับติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน

ทั้งครู ทั้งเด็ก และผู้เข้าร่วมชมสาธิตการเรียนการสอนทวิภาษา/พหุภาษา พากันยิ้มอย่างมีความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ

เด็กนักเรียนประถมชาย-หญิง โรงเรียนบ้านมูเซอ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว โรงเรียนบ้านพุย ในชุดชนเผ่าร้องรำทำเพลงอย่างมีชีวิตชีวา สะท้อนเรื่องราว วิถีชีวิต คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างกลมกลืน

ถือที่ดักแมลง ลอบ สวิงสำหรับช้อนปลา ตะกร้าสะพายหลัง กระด้ง ออกมาประกอบท่าเต้น เก็บมะม่วง จับปลา เรียนรู้การประกอบอาชีพเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่

ฝรั่งชาย-หญิงกลุ่มหนึ่งท่วงท่าเป็นนักวิชาการมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เข้ามาร่วมชมอย่างใจจดใจจ่อ ไม่ยอมลุกไปไหน

ครูโรงเรียนบ้านพุยสาธิตการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ป.2 ชูภาพนาฬิกาขึ้นแล้วถาม ให้เด็กตอบเป็นภาษาถิ่น

ต่อมาเป็นการสอนร่วมระหว่างครูภาษาถิ่น กับครูไทย โดยมีกิจกรรมสลับกัน ตามด้วยครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งไม่ได้จบเอกอังกฤษ ครูเน้นให้เด็กฟังเข้าใจก่อน แล้วตามด้วยพูด อ่าน-เขียนภายหลัง

Pick up fork ครูพูด เด็กชูมือยกส้อมขึ้น

Put down spoon เด็กหยิบช้อนเอาลง

Stand up Quickly Come hear

Are you Ready ครูพูด

จากนั้นเด็กๆ ร้องเพลงภาษาถิ่นก่อน แล้วตามด้วยภาษาอังกฤษ เพลงจอนนี่ จอนนิ อย่างสนุกสนาน

ครูเฉลิมชัย ผู้สอนคนหนึ่งบอกว่า อยู่โรงเรียนสนุกกว่านี้ สอน ป.2 วันละ 30 นาที ทั้งฟังและพูด วันนี้ครูเกร็งไปหน่อย ก่อนจบเด็กพากันพูด Thank you teacher

 

รายการต่อมาสาธิตการสอนภาษาไทย การเขียนเชิงสร้างสรรค์จากภาพให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ก่อนเล่าเรื่องเชื่อมโยงภาษาถิ่นเข้าสู่ภาษาไทย

เด็กคนแรกตอบ “วันนี้แม่ตื่นแต่เช้าทำอาหารกับครอบครัว กลางวันทอผ้า เย็บเสื้อให้ลูก พอลูกสาวกลับมาก็ดีใจ เห็นเสื้อผ้าตัวใหม่”

คนต่อมา “เช้าวันนี้เป็นวันหยุดวันปีใหม่ แม่ทอผ้าให้พ่อ แต่มีเพื่อนของพ่อมากินเหล้าในบ้าน” ปรากฏว่าคนฟังฮา

 

ครับ นั่งชมนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเพิ่มความสามารถของเด็กในการสื่อสารด้วยภาษาถิ่นและภาษาไทย นอกจากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสทางการศึกษาแล้วเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต สืบสานภาษาของชุมชนทั้งพูด เขียน ของแต่ละชาติพันธุ์ไว้ต่อไป

การส่งเสริม ช่วยเหลือโรงเรียนทวิภาษา พหุภาษาเหล่านี้มีกลุ่มคนที่เสียสละ ทุ่มเท รวมตัวกันในนามของชมรมทวิภาษาจังหวัดเชียงใหม่ นายพิศิษฐ์พงษ์ ไชยแก้ว ผอ.โรงเรียนทวิภาษาบ้านอมก๋อย เป็นประธาน มีโรงเรียนอยู่ในชมรม 18 โรง ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ มี ผศ.วรรณา เทียนมี เป็นผู้อำนวยการ และองค์กรระหว่างประเทศ ชื่อ Pestalozzi Children”s Foundation สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานของมูลนิธิและชมรมบอกว่า การสอนทวิภาษาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาปี 2551 เกิดโรงเรียนนำร่องทวิภาษาโดยศูนย์การเรียนรู้ กศน. 10 ศูนย์ สอนภาษากะเหรี่ยงโปว์-ไทย สอนภาษามอญ-ไทย ที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี

ปี 2552 สอนภาษากะเหรี่ยงโปว์-ไทย ที่โรงเรียนบ้านพุย โรงเรียนบ้านแม่ลาย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ สอนภาษาม้ง-ไทย ที่โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน โรงเรียนบ้านแผ่นดินของ อ.เทิง จ.เชียงราย โรงเรียนบ้านห้วยหาน โรงเรียนบ้านห้วยคุ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

ปี 2558 ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ เช่น สอนภาษากะเกรี่ยงสกอร์-ไทย ที่โรงเรียนบ้านขุนแตะ อ.จอมทอง เชียงใหม่ โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว โรงเรียนบ้านมูเซอ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ปี 2559-2560 สอนภาษากะเหรี่ยงสกอร์-ไทย โรงเรียนบ้านมูเซอร์ สาขาน้ำดิน โรงเรียนบ้านสบลาน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ปี 2561 สอนภาษากะเหรี่ยงสกอร์-ไทย โรงเรียนบ้านแม่มุ อ.แม่แจ่ม โรงเรียนบ้านนากลาง โรงเรียนบ้านบนนา โรงเรียนนิยมไพรผาหมอนอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

แนวทางหลักการจัดการเรียนการสอน เด็กเล็กจะสอนภาษาถิ่นมาก ภาษาไทยน้อย เด็กโตภาษาไทยมาก ภาษาถิ่นน้อยลง การติดตามผลพบว่า เด็กมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถอ่านออกเขียนได้และคิดคำนวณดีขึ้น รักการอ่าน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครู ไม่ขาดเรียน มีทักษะการคิดมากขึ้น

ที่สำคัญ ภูมิใจในวัฒนธรรมของพวกเขา

 

ระหว่างเปิดเวทีเสวนา ผอ.สินอาจ ลำพูนพงศ์ อดีต ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 กรรมการภาคีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เริ่มเปิดประเด็น “โรงเรียนเหล่านี้การเรียนการสอนทำอย่างไร ได้ผลจริงไหม ความเป็นจริงที่พบก็คือ 5 ปีก่อน เด็กชาติพันธุ์ มีใครเข้าไปเยี่ยมโรงเรียน จะหนี ไม่คุย ไม่สบตา ยิ่งอ่านยิ่งไม่เอา แต่ตอนนี้ไปโรงเรียนเดิม เด็กไม่ใช่แค่กล้า แต่เปิดฉากทักเราก่อนเสียอีก จะอ่านหนังสืออวด ภาพเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น เด็กแย่งกันตอบ แข่งกันแสดงออก เป็นอะไรที่ตรงข้าม ขอการบ้านไปทำโดยไม่ต่อรอง ใฝ่เรียนรู้ ไปไกลกว่าที่คาดจริงๆ”

“แต่ก็ยังมีคำถามอีกว่า ทำไมวิธีการนี้ไม่กระจายไปทั่วประเทศ โรงเรียนอื่นไม่เอาแบบอย่าง” นักการศึกษาท่านเดิมย้ำ และว่า ปัญหามาจาก 3 ประการได้แก่

1. วิธีการ ในห้องเรียนต้องมีครูถิ่นสอนคู่กับครูไทย ถ้าไม่มีครูไทย มีครูถิ่นสอนสองภาษาได้ก็ดี การเพิ่มอัตราครูใช้สูตรเดียวทั่วประเทศ นักเรียนเท่านี้มีครูได้เท่านี้ ไม่มีเกณฑ์พิเศษ ทำให้ขยายตัวไปไม่ได้

“ที่ผ่านมาโรงเรียนลงแรงกันเอง องค์กรอื่นยื่นมือมาช่วยทางด้านกายภาพ พัฒนาปรับปรุงห้องเรียน ขณะที่โรงเรียนต้องช่วยตัวเองเรื่องครู โรงเรียนเหนื่อย 3 ปี 5 ปีการเรียนการสอนต้องต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนพบปัญหา หาครูถิ่นมาสอน”

2. ครูไม่ใช่คนพื้นที่ มีเป้าหมาย ย้ายลงมาเร็วเท่าไหร่ดีเท่านั้น ทำให้การเรียนการสอนขาดตอน

3. ผู้ปกครองไม่เข้าใจ และปัญหาอื่นๆ อีก

“พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ยังเป็นแค่ความฝัน แต่เราก็มีความหวังว่า พอมีโอกาส ฝันไกลว่าปัญหาที่โรงเรียนติดขัด พ.ร.บ.จะช่วยปลดล็อก โดยเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบต่างๆ ให้ การอ่านออกเขียนได้เด็กพัฒนาขึ้น แต่การคิดต้องกระตุ้นต่อไป อย่างน้อยที่สุดการได้รับความช่วยเหลือของเด็ก เป็นสิทธิของมนุษย์ที่ควรมีครูที่เข้าใจ จัดการเรียนการสอนเหมาะกับบริบทของเขา”

จากประเด็นปัญหาที่โรงเรียนประสบ อย่างที่อดีต ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่สะท้อนเป็นคนแรก ผู้บริหาร ครู ชมรมทวิภาษา และมูลนิธิที่เข้ามาช่วยเหลือ สรุปบทเรียนและเสนอทางออกเพื่อแก้ไขอย่างไร

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและสังคมทั้งในพื้นที่และวงกว้าง จะตอบสนองได้หรือไม่ เพียงไรก็ตาม อย่างน้อยต้องติดตามรับฟังและอ่านต่อตอนจบ