สุจิตต์ วงษ์เทศ/ โขน มาจากหนังใหญ่ เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์

เล่นหนังใหญ่ ภาพเขียนบนผนังระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนพิเภกถวายเพลิงพระศพทศกัณฐ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โขน มาจากหนังใหญ่

เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์

 

“โขนมีกำเนิดจากการละเล่นประสมประสานกัน 3 ชนิด ได้แก่ หนังใหญ่, กระบี่กระบอง, ชักนาคดึกดำบรรพ์” ธนิต อยู่โพธิ์ เขียนอธิบายไว้ในหนังสือชื่อ โขน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2508

หลังจากนั้นสืบจนปัจจุบัน ครูอาจารย์ของสถานศึกษาทั่วประเทศที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับโขนละครฟ้อนรำ พากันแต่งตำราและค้นคว้าวิจัยทำผลงานวิชาการด้วยการคัดลอกต้นตอเดียวกันจากหนังสือเล่มนี้โดยไม่พิศวงสงสัยใดๆ

[ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร (พ.ศ.2499-2511) ผู้ค้นคว้าวิจัยเรื่องโขนแล้วเรียบเรียงจัดพิมพ์เป็นเล่ม ยังมีงานวิชาการเล่มอื่นๆ อีกมากเกี่ยวกับนาฏศิลป์และดนตรีไทย รวมถึงประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ภาษา-วรรณคดี ฯลฯ มีงานริเริ่มหลายอย่างเฉพาะที่เกี่ยวข้องนาฏศิลป์และดนตรี ดังนี้ (1) วางแผนสร้างโรงละครแห่งชาติ (เปิดแสดงครั้งแรก พ.ศ.2507) (2) การละเล่นพื้นบ้านพื้นเมือง เต้นกำรำเคียว (นครสวรรค์), รำเหย่อย (กาญจนบุรี), รำเทิง (เพชรบุรี), เซิ้งกระติ๊บข้าว (กาฬสินธุ์) (3) ระบำโบราณคดี 5 ชุด (ทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี, เชียงแสน, สุโขทัย แสดงครั้งแรก พ.ศ.2510) ฯลฯ]

 

หนังใหญ่ เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์

 

อันที่จริง หนังใหญ่กับชักนาคดึกดำบรรพ์ไม่แยกกัน เนื่องจากหนังใหญ่เป็นชื่อการละเล่น สำหรับชักนาคดึกดำบรรพ์เป็นชื่อเรื่องราวที่เล่นในพิธีกรรม เรียกรวมๆ ว่า หนังใหญ่เล่นเรื่องชักนาคดึกดำบรรพ์ ต่อจากนั้นมีพัฒนาการเป็นโขน ส่วนกระบี่กระบองเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้อนเต้นเท่านั้น

อาจสรุปได้ ดังนี้

(1.) โขนมาจากหนังใหญ่ (2.) หนังใหญ่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ (3.) จากนั้นคนแต่งตัวเหมือนหนังใหญ่ แล้วเล่นแทนหนังใหญ่ เรียกโขน

นิยามและคำอธิบายเรื่องโขนไม่จำเป็นต้องมีชุดเดียวตามที่ยกมา จึงควรมีทางเลือกดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

โขนมาจากการละเล่นในลัทธิเทวราช

 

โขน เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ หมายถึง การละเล่นสวมหน้ากากเรื่องรามเกียรติ์ มีต้นทางและพัฒนาการจากหนังใหญ่เล่นชักนาคดึกดําบรรพ์ (สมัยอยุธยาพบในพระราชพิธีอินทราภิเษก) ซึ่งเป็นความเชื่อทางการเมือง ตามลัทธิเทวราชในรัฐจารีตของอุษาคเนย์

กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าความเชื่อทางการเมืองตามลัทธิเทวราชในรัฐจารีตของอุษาคเนย์ เป็นพลังสําคัญอย่างยิ่งที่ขับเคลื่อนให้มีการละเล่นสวมหน้ากากเรื่องรามเกียรติ์ที่เรียกต่อมาว่าโขน ซึ่งเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพิธีสรรเสริญสมโภชเทพเจ้าสูงสุดของลัทธิเทวราช (คือ พระศิวะ ซึ่งรู้จักอีกพระนามหนึ่งว่าพระอีศวร) มีการละเล่นกวนเกษียรสมุทร (ในอยุธยาเรียกชักนาคดึกดําบรรพ์) จากนั้นมีพัฒนาการเป็นการละเล่นสวมหน้ากากเรื่องรามเกียรติ์ เรียก โขน

 

ลัทธิเทวราช

 

ลัทธิเทวราช หมายถึง ระบบความเชื่อว่าพระราชามนุษย์เมื่อสวรรคต ผีพระขวัญจะขึ้นไปสถิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ เรียกเทวราช มีพลังอํานาจปกป้องคุ้มครองให้คุณและโทษผู้มีชีวิตในราชอาณาจักร โดยเทวราชสามารถสื่อสารกับคนทั้งปวงผ่านพราหมณ์พิธี (หรือ หมอพราหมณ์) ในพิธีทรงเจ้าเข้าผี

เหล่านี้มีขึ้นจากการประสมประสานความเชื่อท้องถิ่นเรื่องขวัญในศาสนาผี เข้ากับความเชื่อใหม่จากอินเดียในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

การประสมประสานกันระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ น่าจะก่อหวอดมีแล้วตั้งแต่ศาสนาจากอินเดียแผ่ถึงอุษาคเนย์ เพื่อยกสถานะคนชั้นนําพื้นเมืองท้องถิ่นจากหมอมดหมอขวัญขึ้นเป็นเจ้า ได้แก่ เทพเจ้า (หรือ พระพุทธเจ้า) สืบเนื่องจนสมมุติชื่อเรียกสมัยหลังว่าลัทธิเทวราช เป็นความเชื่อมีในราชสํานักภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะราชสํานักอาณาจักรกัมพูชา เมื่อเรือน พ.ศ.1500

[นักวิชาการตรวจทานแล้วลัทธิเทวราชไม่พบในอินเดีย]

ราชสํานักรัฐละโว้ (ลพบุรี) พูดภาษาเขมร เป็นขอม รับลัทธิเทวราชจากอาณาจักรกัมพูชา แล้วส่งต่อราชสํานักรัฐอยุธยา (ที่สืบทอดจากรัฐละโว้)

เทวราช เป็นลัทธิความเชื่อถูกสร้างใหม่ โดยรับความเชื่อเรื่องเทวะเข้าประสมกลมกลืนกับความเชื่อเรื่องผีขวัญ แล้วได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ขนานนามว่าเทวราช มีอํานาจเหนือธรรมชาติ (ซึ่งเป็นแบบใหม่) ที่คลุกเคล้ากันระหว่างเทวดากับผี

[เกี่ยวกับลัทธิเทวราช ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้]

 

โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

 

โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายคลึงกันในทุกรัฐจารีตของอุษาคเนย์ จึงไม่เป็นสมบัติของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว

ครั้นสมัยหลังบางกลุ่มดัดแปลงแต่งเติมส่วนปลีกย่อยเพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของตนให้ต่างไปโดยไม่เสียหลักการดั้งเดิม เท่ากับยังเจือลักษณะวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

[ความเป็นมาของโขนที่เคยเรียบเรียงไว้ในหนังสือ ร้องรําทําเพลง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) มีหลายส่วนที่ข้อมูลความรู้ได้มาในคราวนั้นถึงวันนี้ล้าสมัยแล้ว จําเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงตามที่มีนิยามและคําอธิบายใหม่ในชุดนี้ ต่อไปข้างหน้าถ้าพบข้อมูลความรู้ใหม่อีกจนชุดนี้ล้าสมัย ก็ต้องแก้ไขอีกเรื่อยๆ ไม่ตายตัวและไม่ยุติ]