การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / Love, Death & Robots

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Love, Death & Robots

 

หนังการ์ตูนสั้น 18 เรื่อง ความยาวเรื่องละไม่เกิน 20 นาที บางเรื่องไม่ถึงสิบนาที ดูสนุก แต่หลายเรื่องรุนแรง และบางเรื่องเห็นอวัยวะเพศตลอดทั้งเรื่อง

เดวิด ฟินเชอร์ และทอม มิลเลอร์ สองผู้กำกับฯ และผู้อำนวยการสร้างที่มีผลงานดีๆ แปลกๆ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาจินตนาการใหม่จากหนังคัลต์ปี 1981 Heavy Metal ซึ่งการ์ตูนที่รักเคยเขียนถึงนานมาแล้ว เฮฟวี่เมทัลเป็นการ์ตูนไซไฟแฟนตาซีที่โจ่งแจ้งและดูยาก น่าจะเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เรามีความคิดคำนึงเกี่ยวกับโลกและจักรวาลเปลี่ยนไปมากแล้วจากยุคไอที ทำให้เรื่องใหม่นี้ดูง่ายขึ้นมาก

ยกบางเรื่องมาคุยกัน เรื่องที่ยกมาจะเปิดเผยตอนจบ

 

เรื่องแรก Sonnie’s Edge

ลอนดอนยุคมืด สาวพังก์ซอนนี่ควบคุมสัตว์ร้ายของหล่อน ฆานิวอร์ (Khanivore) ลงสนามประลอง การออกแบบสัตว์ร้ายสองตัวน่าดูมาก การปะทะดุเดือดสุดยอด ฆานิวอร์เอาชนะได้อย่างชนิดเลือดท่วมจอ หลังการประลองเจ้าพ่อและสาวน้อยข้างกายเข้ามาหาซอนนี่เพื่อคิดบัญชีที่เธอไม่ยอมล้มมวยตามที่เคยขอเอาไว้

สาวน้อยเป็นแอนดรอยด์ หล่อนรับหน้าที่ยั่วยวนและเข้าฉากวาบหวิวก่อนที่จะลงมือสังหารซอนนี่แล้วกระทืบกะโหลกศีรษะของเธอแตก เนื้อสมองเละๆ ผสมเลือดเหลวๆ ไหลนอง ขากรรไกรและฟันแตกหักกระจัดกระจาย

แต่นั่นเป็นแค่ร่าง ซอนนี่มิได้อยู่ในนั้น เธออยู่ในฆานิวอร์!

เรื่องแรกเป็นประเด็นร่วมสมัย คนทุกคนมีสมาร์ตโฟนติดกายและข้อมูลทุกอิริยาบถของเราอยู่ในสมาร์ตโฟน ข้อมูลส่วนบุคคล เอกสารประจำตัว แอพพลิเคชั่นธนาคาร รูปถ่ายทุกวัน อีเมลและไลน์ติดต่อคนทั้งโลก ประวัติการซื้อของออนไลน์ ฯลฯ โดยรวมๆ แล้วชีวิตของคนคนหนึ่งอยู่ในสมาร์ตโฟน และถ้าสมาร์ตโฟนหายจะเป็นเรื่องยุ่งมาก

สักวันหนึ่งการทำลายร่างกายของเราอาจจะไม่มีความหมาย การทำลายสมาร์ตโฟนอาจจะก่อความเสียหายได้มากกว่าถ้าไม่มีสำรองข้อมูลที่ดี นำไปสู่คำถามว่าซอนนี่อยู่ในฆานิวอร์เท่านั้นหรือ หรือเธออยู่ในระบบสำรองข้อมูลด้วย

จะเห็นว่าเรื่องแรกนี้นำสมัย แม้ว่าจะถึงเลือดถึงเนื้อและถึงเนื้อถึงตัวมาก

 

เรื่องที่สอง Three Robots

กลับมาโทนเบาสมอง หุ่นยนต์สามตัว ตัวที่หนึ่งน่ารัก ตัวที่สองสีขาวออกแนวคล้ายซีทรีพีโอผสมสตอร์มทรูปเปอร์จากสตาร์วอร์ส ตัวที่สามเป็นหุ่นกระป๋องทรงสามเหลี่ยม หนังเปิดเรื่องด้วยฉากเท้าโลหะของหุ่นร่างสีขาวเหยียบกะโหลกศีรษะชิ้นหนึ่งแตก เหมือนต้นเรื่องหนังเทอร์มิเนเตอร์

หุ่นสามตัวท่องไปตามซากเมืองและซากตึก คือโลกหลังอารยธรรมมนุษย์ล่มสลาย มีซากคนตายทั่วไปทั้งที่นั่งตายและแขวนคอ หนังเล่าเรื่องหุ่นสามตัวคุยกันเรื่องวัฒนธรรมมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องกีฬา อาหาร ไปจนถึงการใช้ชีวิต โดยปะติดปะต่อเรื่องราวจากวัสดุที่พบเห็น ส่วนนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่

ส่วนที่น่าสนใจเป็นตอนท้ายเมื่อหนังเปิดเผยว่าโลกอาจจะมิได้ล่มด้วยสงครามนิวเคลียร์ดังที่เราเคยกลัวกันมาครึ่งศตวรรษ แท้จริงแล้วโลกพินาศด้วยสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตนเองจนถึงจุดที่อารยธรรมไม่สามารถไปต่อได้อีก ความตายจึงค่อยแผ่ขยายไปทั่ว

ตัวอย่างที่มนุษย์ไล่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติรอบตัวเป็นช่วงหักมุมเมื่อหุ่นสามตัวพบแมวพูดได้ พวกมันมากันเป็นฝูง ลำพังเด็กๆ พูดได้พ่อ-แม่ก็แทบจะเอาตัวไม่รอดกันอยู่แล้ว ถ้าสัตว์เลี้ยงถูกตัดแต่งจนพูดได้ด้วย ก็น่าสงสัยว่ามนุษย์จะอยู่รอดกันได้อย่างไร

 

เรื่องที่สาม The Witness

เรื่องนี้มีฉากเปลือยด้านหน้าตลอดทั้งเรื่อง หญิงสาวคนหนึ่งเห็นเหตุฆาตกรรมที่ตึกฝั่งตรงข้ามจากห้องพักที่เธออาศัยอยู่ ชายฆาตกรมองมาที่เธอ มันเริ่มวิ่งข้ามถนนมา จากนั้นเป็นการไล่ล่ากันไปตามถนนและอาคารต่างๆ หญิงสาววิ่งไปทั่วเมืองทั้งที่กึ่งเปลือยอยู่เช่นนั้น

ฆาตกรต้อนเธอจนมุมที่ห้องหนึ่ง สองคนต่อสู้กันประชิดตัวแล้วหญิงสาวก็ฆ่าชายฆาตกรนั้นได้ เมื่อเธอเงยหน้าขึ้นมองออกไปนอกหน้าต่างพบผู้ชายที่หน้าตาเหมือนชายฆาตกรที่เธอเพิ่งฆ่าไปกำลังมองมาที่เธอ!

สมัยก่อนโครงเรื่องนี้ปรากฏในหนังประเภทแดนสนธยา Twilight Zone หรือ Amazing Stories โดยไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก แต่วันนี้หนังแบบนี้สะท้อนสังคมสมัยใหม่ได้ชัดเจนมากขึ้น เรากำลังอยู่ในโลกที่คนเหมือนกันไปหมด เราตื่น แต่งตัว กิน และใช้ชีวิตไปตามที่บรรษัทต่างๆ ได้ออกแบบไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ เสื้อผ้า โครงสร้างของเมือง การคมนาคม ลักษณะการทำงาน และสินค้าที่เหมือนกันไปทั่วโลก ความเป็นปัจเจกลดลงทุกขณะเพื่อให้โลกเลี้ยงคนแปดพันล้านคนให้ได้

มากกว่านี้คือ เมื่อคนหนึ่งตายก็มิได้มีความหมายอะไรมากนักเพราะยังมีคนที่เหมือนเขาอยู่

ใครที่เดินทางไปต่างประทศบ่อยจะเข้าใจได้ง่ายว่าสินค้าและแบบแผนการใช้ชีวิตของมนุษย์ในเมืองของแต่ละประเทศช่างเหมือนกันมากเพียงไร หากดูเฉพาะเรื่องใกล้ตัวเรากินอาหารจากร้าน 7-11 กันมากเพียงใด และอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังหรือคอยกำหนดทิศทางโภชนาการของผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค

 

เพื่อให้ตระหนักว่านี่มิใช่เรื่องไร้สาระ เรากระโดดข้ามไปดูตอนที่ 6 When the Yogurt Took Over เมื่อโยเกิร์ตครองโลก

เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อห้องปฏิบัติการโภชนาการแห่งหนึ่งดัดแปลงพันธุกรรมโยเกิร์ต ไม่นานหลังจากนั้นโยเกิร์ตก็พูดได้ มันเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อขอรัฐโอไฮโอ พอทุกคนหัวเราะมันก็ว่าไม่เป็นไร ถ้าเช่นนั้นมันจะไปจีน จีนสัญญาจะยกให้หนึ่งมณฑล

พอเอาจีนขึ้นมาขู่ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ต้องหงอ ดังนั้น อย่าแปลกใจถ้าประเทศเล็กๆ ในกะลาก็ต้องหงอด้วย แล้วโยเกิร์ตก็ได้โอไฮโอไปครอง เวลาผ่านไปไม่นาน เศรษฐกิจสหรัฐล่มสลายเหลือเพียงโอไฮโอที่ยังอยู่ ประชาชนโอไฮโออยู่ดีกินดีเพราะโยเกิร์ต

ในที่สุดประธานาธิบดีสหรัฐก็ยอมลงนามในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่โยเกิร์ตกำหนดอย่างเคร่งครัด โยเกิร์ตได้กำชับแล้วตั้งแต่แรกว่าอย่าทำนอกแผนเป็นอันขาด

หนังตอนนี้จบลงด้วยความเป็นไปได้สองทาง ทางหนึ่งคือมนุษย์โลกทนอยู่แบบโยเกิร์ตต่อไปไม่ไหวแล้วพากันขึ้นจรวดหนีไปจากโลก หรือโยเกิร์ตเองที่จะขึ้นจรวดไปฟื้นฟูเศรษฐกิจดาวดวงอื่นต่อไป

เรื่องที่หกนี้ยาวหกนาทีเท่านั้น แต่ชัดเจน