สุรชาติ บำรุงสุข : ‘เพิร์ลฮาร์เบอร์’ การข่าว ถอดรหัส สหรัฐฯ รู้ตัวก่อนหรือไม่?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 30 ก.ค. 2554 ชื่อบทความ “ถนนสู่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (4) ถอดรหัสลับ”

“ถ้ารัฐเป้าหมายล้มเหลวในการรับการแจ้งเตือน การจู่โจมจะเกิดขึ้น ถ้าเขารับการแจ้งเตือนแล้ว แต่ไม่ได้เตรียมการอะไร เขาก็จะยังคงรับผลจากการจู่โจมดังกล่าว”
Richard K. Belts
Surprise Attack (1982)

ข้อถกเถียงที่สำคัญประการหนึ่ง
ในกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์ก็คือ สหรัฐรู้ตัวก่อนหรือไม่?

นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่ออย่างมั่นใจว่า ทำเนียบขาวและบุคคลที่ใกล้ชิดได้รับรู้ล่วงหน้าก่อนแล้วถึงแผนการโจมตีดังกล่าว แต่ต้องปิดบังไว้ เพราะถ้าปล่อยให้การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เกิดขึ้น ก็จะทำให้มติมหาชนของชาวอเมริกันที่ต้องการมีนโยบาย “อยู่อย่างโดดเดี่ยว” (isolationist policy) หันกลับมาสนับสนุนนโยบายที่สหรัฐควรจะต้องเข้ากับกิจการของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระโดดเข้าสู่สงครามในเอเชีย-แปซิฟิกกับญี่ปุ่น

สมมติฐานเช่นนี้ว่าที่จริงแล้วเริ่มจากการเปิดประเด็นของ นายโทมัส ดิวอีร์ ผู้สมัครแข่งขันประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ที่รณรงค์หาเสียงทางการเมืองว่าประธานาธิบดีโรสเวลต์รู้เรื่องเหล่านี้ก่อนแล้ว แต่ก็ยอมปล่อยให้ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพสหรัฐที่ฮาวายได้ คำยืนยันของฝ่ายรีพับลิกันก็คือ ข้อมูลข่าวกรองของญี่ปุ่นที่ถูกทางฝ่ายสหรัฐตรวจจับได้ก่อนการโจมตี

นอกจากนี้ สมมติฐานดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำยืนยันของพลเรือเอกคิมเมลและพลโทชอร์ตที่กล่าวว่าพวกเขาทั้งสองถูกปฏิเสธข้อมูลอันที่ได้มาจากการถอดรหัสลับของญี่ปุ่น ทำให้การเตรียมการป้องกันฮาวาย ในแผนเผชิญเหตุจึงดำเนินไปในลักษณะของการระวังป้องกันการก่อวินาศกรรมมากกว่าจะเป็นการป้องกันการโจมตีทางอากาศ

000_iu0pv

ข้อถกเถียงอันยาวนานในประเด็นนี้ดำรงอยู่มาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และกลายเป็น “หัวใจ” ของปัญหาความลับของกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐทั้งในส่วนของกองทัพบกและกองทัพเรือได้มีความพยายามมาโดยตลอดในอันที่จะ “ถอดรหัส” จากการส่งข้อมูลลับของรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่น ประมาณว่าในช่วงปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม 1940 ชุดปฏิบัติการข่าวของสหรัฐประสบความสำเร็จมากขึ้นในการดักจับข้อมูลรหัสของญี่ปุ่น และมีหลักฐานบางส่วนเสนอว่าพวกเขาน่าจะประสบความสำเร็จในการถอดรหัสดังกล่าวด้วย

แต่ก็มีหลักฐานบางส่วนโต้แย้งว่า ความพยายามในการถอดรหัสดังกล่าวไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก (ในความหมายว่าถอดได้ทั้งหมด) แต่ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์แล้ว

วิวาทะของเงื่อนเวลากับความสำเร็จก็ยังคงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า สหรัฐประสบความสำเร็จในการถอดรหัสของข้อมูลข่าวกรองของรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นจริง โดยอุปกรณ์การถอดรหัสนี้ชื่อว่า “เมจิก” (Magic) เช่นเดียวกับเครื่อง “เอ็นนิมา” (Enigma) ของอังกฤษที่ใช้ถอดรหัสลับของเยอรมนี

AFP PHOTO / GEORGE WOLF
AFP PHOTO / GEORGE WOLF

ข้อมูลข่าวกรองของรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

1) ข้อมูลข่าวกรองของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลนี้ส่งโดยวิทยุจากโตเกียวถึงสถานทูตและสถานกงสุลต่างๆ ของญี่ปุ่นที่อยู่โพ้นทะเล กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้ส่งคู่มือข้อมูลรหัสให้แก่สถานทูตของตนเองที่วอชิงตันและสถานกงสุลที่มะนิลา แต่ก็ไม่ได้ส่งให้แก่สถานกงสุลที่ฮอนโนลูลู ข้อมูลรหัสในส่วนนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่ราชนาวีญี่ปุ่นใช้ในการเข้ารหัส และสำหรับทางฝ่ายสหรัฐแล้ว ข้อมูลในส่วนนี้ถูกเรียกว่า “รหัสสีม่วง” (Purple Code)

2) ข้อมูลข่าวกรองของราชนาวีญี่ปุ่น ข้อมูลและคำสั่งต่างๆ ในส่วนนี้เป็นส่วนที่กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้ในการติดต่อเรือรบ เรือสินค้า ฐานทัพเรือ และบุคลากรของกองทัพเรือที่ประจำการอยู่ในโพ้นทะเล เช่น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นทูตทหารเรือ เป็นต้น ข้อมูลข่าวกรองในส่วนนี้จึงไม่ใช่ข้อมูลเดียวกับ “รหัสสีม่วง” ดังได้กล่าวมาแล้วว่า รหัสสีม่วงใช้เฉพาะกับกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น และรหัสสีม่วงก็ไม่ได้ถูกใช้โดยกองทัพเรือ ข้อมูลในส่วนนี้โดยทั่วไปมีรหัสทั้งหมด 29 ระบบ เช่น กองทัพเรือสหรัฐประสบความสำเร็จในการถอดรหัสจาก “สมุดรหัสดี” (Code Book D) จึงสามารถทำลายกองเรือญี่ปุ่นได้ในยุทธนาวีที่มิดเวย์ แต่สมุดรหัสดีก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบรหัสของราชนาวีญี่ปุ่นทั้งหมด

ระบบรหัสลับของกองทัพเรือญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า “Kaigun Augo” มักจะเป็นในรูปของรหัสตัวเลข เช่น ในสมุดรหัสดีจะเป็นตัวเลข 5 ตัว (หรือที่เรียกว่า “5-Num code”) ในระบบนี้ กองทัพเรือจะจัดทำรหัสเป็นตัวเลข 5 ตัว ใช้แทนเรือหรือนายทหารเพื่อใช้ในการส่งสัญญาณวิทยุ ตัวอย่างเช่น ตัวเลข 28494 คือรหัสตัวเลขที่ใช้สำหรับเรืออาคางิ (Akagi) ซึ่งเป็นเรือธงในยุทธการฮาวาย เป็นต้น

AFP PHOTO / QATARI MINISTRY OF INFORMATION
AFP PHOTO / QATARI MINISTRY OF INFORMATION

นอกจากนี้ ยังมีรหัสอื่นของกองทัพเรือญี่ปุ่น ได้แก่

– “สมุดรหัสเอส” (Code Book S) เป็นรหัสการติดต่อระหว่างกองทัพเรือกับกองเรือพาณิชย์นาวีของญี่ปุ่น (Japan Merchant Marine)

– สัญญาณวิทยุนามเรียกขาน (Radio Call Signs) หรือ “Yobidashi Fugo” เป็นนามเรียกขานที่ใช้กับเรือรบ หน่วยทหาร นายทหารแต่ละคนในตำแหน่งต่างๆ เรือของกองเรือพาณิชย์นาวี (ซึ่งเรือเหล่านี้ถูกเรียกว่า “มารู” [Maru])

– รหัสการเคลื่อนไหวของกองเรือญี่ปุ่น (Naval movement code) เป็นข้อมูลรหัสที่แจ้งการเคลื่อนไหวของเรือรบ เรือพาณิชย์นาวี หรือนายทหาร ในเรื่องของเวลาการออกเดินทางเวลาที่ถึงที่หมาย จุดหมายของการเดินทาง เป็นต้น

การส่งข้อมูลรหัสทั้ง 3 ในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณี “สมุดรหัสดี” ที่ดำเนินด้วยการส่งวิทยุและญี่ปุ่นก็ดูจะมั่นใจอย่างมากว่ารหัสลับเหล่านี้จะไม่ถูกถอดได้สำเร็จ แต่ในความเป็นจริงความลับของฝ่าย “สีส้ม” ได้ถูกตรวจจับได้ (“สีส้ม” คือรหัสที่สหรัฐใช้เรียกฝ่ายญี่ปุ่น)

ปัญหาก็คือ เมื่อทางฝ่ายสหรัฐตรวจจับข้อมูลรหัสโดยไม่มีเครื่องช่วยอาจจะต้องใช้เวลาตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงไปจนถึงในบางกรณีก็ใช้เวลาหลายวัน ดังนั้นกองทัพเรือสหรัฐจึงได้ประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อใช้ในการถอดระหัสเหล่านี้ได้แล้ว สามารถถอด “รหัส” ออกมาได้จริงเพียงใด ประเด็นของเวลายังคงเป็นปัญหาของการถกเถียงอยู่มาก เพราะบางส่วนเชื่อว่าสหรัฐสามารถถอดรหัสได้หมดตั้งแต่ช่วงต้นปี 1941 แต่บางส่วนกลับชี้ว่า สหรัฐกระทำการเช่นนั้นได้หลังจากกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์แล้วคือ สามารถถอดรหัสได้ในตอนต้นปี 1942

ข้อมูลรหัสเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ความรวดเร็วในการถอดรหัสเหล่านี้ (ซึ่งแม้ในปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวก็ยังคงเป็นความลับ) และมีชื่อเป็นรหัสลับว่า “เมจิก” ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น

ในขณะที่ “เมจิก” เป็นเครื่องถอดรหัส แต่การตรวจจับข้อมูลรหัสทั้งหลายเป็นหน้าที่ของสถานีข่าวกรองสัญญาณซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นในจุดต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งในอลาสก้า แคลิฟอร์เนีย ฮาวาย จนถึงในฟิลิปปินส์ เป็นต้น

000_sapa990403376890

ขณะเดียวกัน ก็มีสถานีตรวจจับสัญญาณเช่นนี้ของอังกฤษในสิงคโปร์และฮ่องกง และของเนเธอร์แลนด์ในชวาอีกด้วย และสถานีเหล่านี้ก็คือเครือข่ายของสถานีสัญญาณข่าวกรองของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ตั้งเป็นวงล้อมคอยติดตามการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือญี่ปุ่นในยุทธบริเวณแปซิฟิกทั้งหมด

เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สมมติฐานที่เชื่อว่าทำเนียบขาวน่าจะรับรู้ข่าวกรองก่อนการโจมตีญี่ปุ่นที่อ่าวเพิร์ลได้รับความสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ในปี 1979 ได้มีการเปิดเผยเอกสารลับซึ่งเป็นข้อมูลสัญญาณของญี่ปุ่นที่ถูกตรวจจับได้ตั้งแต่กรกฎาคม 1941

แต่หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในขณะนั้น จะเห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐนั้น ให้ความสนใจอย่างมากกับการเคลื่อนไหวของกำลังรบญี่ปุ่นที่มุ่งลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเดินทางของเรือรบจากฐานทัพเรือที่ญี่ปุ่นและเข้าจุดรวมกำลังที่เกาะไหหลำ นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 1941 เรือรบเหล่านี้ก็ได้เคยเดินทางเข้าสู่น่านน้ำของเวียดนามมาแล้วเพื่อเป็นการอวดธงในช่วงที่ญี่ปุ่นต้องการการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ดังนั้น ในช่วง 2 วันสุดท้ายก่อนมีการโจมตีอ่าวเพิร์ลจะเริ่มขึ้น ความสนใจของสหรัฐจึงเกาะติดอยู่กับการเคลื่อนไหวของกองเรือรบญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐเชื่ออย่างมั่นใจว่าจะมุ่งไปทางภาคใต้ของไทยและทางเหนือของมลายา ฉะนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดจากการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในอ่าวไทยจึงดึงความสนใจของสหรัฐไปจากเหตุการณ์ในแปซิฟิกตอนกลางไม่มากก็น้อย กล่าวคือ ความสนใจของผู้นำทางการเมืองและการทหารของสหรัฐอยู่ที่อ่าวไทยมากกว่าจะอยู่ที่อ่าวเพิร์ล

000_sapa990403376870

นอกจากนี้ ในทรรศนะของนักวิเคราะห์ด้านการข่าวของสหรัฐในขณะนั้น เชื่อว่าเป้าหมายการโจมตีของญี่ปุ่นไม่น่าจะอยู่ที่ฐานทัพของสหรัฐที่อยู่ในตอนกลางของแปซิฟิก ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกรณีนี้ก็มีลักษณะคล้ายกับทรรศนะของผู้นำเยอรมนีที่มีต่อการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดีในปี 1944 กล่าวในทำนองเดียวกันได้ว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าข้าศึกจะกระทำการกับเป้าหมายตรงนั้น แต่ความล้มเหลวของเยอรมนีในการวิเคราะห์แผนการยุทธ์ของข้าศึกในกรณีนอร์มังดีปี 1944 นั้นเป็นความผิดอย่างมาก เพราะเป็นความผิดต่อการมองการตัดสินใจของข้าศึกภายในยุทธบริเวณเดียว ซึ่งมีพื้นที่ของยุทธบริเวณไม่กว้างมากนัก

แต่สำหรับในส่วนของสหรัฐ เป็นความผิดในการมองการตัดสินใจของข้าศึก ซึ่งมีพื้นที่การยุทธ์ใหญ่กว่ากรณีของเยอรมนีมาก เพราะการเคลื่อนไหวของข้าศึกเกิดขึ้นนอกยุทธบริเวณของฮาวาย คือเป็นลักษณะของการดำเนินการยุทธ์แบบข้ามมหาสมุทร เพราะกำลังที่ออกตีต่อเป้าหมายของข้าศึกนั้น อยู่ในอีกด้านหนึ่งของมหาสมุทร ซึ่งการยุทธ์ในพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างใหญ่เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนการโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941

ดังนั้น การประมาณสถานการณ์ของนักการข่าวและนักการทหารของสหรัฐในขณะนั้น ดูจะมองไม่เห็นถึง “ความเป็นไปได้” ว่าญี่ปุ่นจะสามารถปฏิบัติการโจมตีข้ามมหาสมุทรได้อย่างไร และยิ่งคนเหล่านั้นบางส่วนมีทรรศนะที่มีลักษณะของการดูถูกทางเชื้อชาติด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้พวกเขามองไม่เห็นว่า พวกผิวเหลืองอย่างญี่ปุ่นจะสามารถทำการยุทธ์ที่มียุทธบริเวณกว้างขวางได้อย่างไรอีกด้วย

แต่สำหรับการเคลื่อนไหวของกองเรือญี่ปุ่นในบริเวณอ่าวไทยแล้ว เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความสามารถของญี่ปุ่นในทรรศนะของพวกเขา เพราะกระทำได้เพียงอยู่ในยุทธบริเวณเดียวเท่านั้น

ฉะนั้น แม้จะมีระบบการข่าวที่ดี แต่หากผู้นำทั้งทางการเมืองและการทหารของสหรัฐมีทรรศนะเช่นนี้แล้ว สิ่งที่พวกเขามุ่งความสนใจจึงอยู่กับการบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสำคัญ ไม่ใช่การโจมตีที่ฮาวาย

AFP PHOTO / NATIONAL ARCHIVES
AFP PHOTO / NATIONAL ARCHIVES

นอกจากนี้ ในความเป็นจริง ระบบการข่าวของสหรัฐในขณะนั้นมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก การแข่งขันระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือในงานข่าวกรอง ดูจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป อีกทั้งการมีเครื่องมือในการถอดรหัสข้อมูลทั้งของกระทรวงต่างประเทศและกองทัพเรือญี่ปุ่น แต่ก็มีการจำกัดวงของผู้ที่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ซึ่งก็มีปัญหาอย่างมากเช่นกันในการวางแผนการป้องกัน

อีกทั้งข้อมูลสัญญาณในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็มีมากเกินไปหรือ “เสียงดังเกินไป” ในภาษาข่าวกรอง จนอาจจะยากที่จะแยกแยะข้อมูลในช่วงระยะเวลาอันสั้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะโจมตี

หากจะกล่าวโดยสรุปว่า แม้ข้อถกเถียงในประเด็นว่าทำเนียบขาวรับรู้แผนการโจมตีของญี่ปุ่นก่อนหรือไม่ยังไม่มีข้อยุติที่แน่ชัด

แต่หากพิจารณาในแง่ของการเตือนภัยของงานการข่าวต่อกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์แล้ว จะเห็นได้ว่า ทรรศนะที่ไม่เชื่อว่าข้าศึกจะกระทำการโจมตีต่อเป้าหมายดังกล่าว …หรือบางส่วนเชื่อว่าข้าศึกอาจจะโจมตีต่อเป้าหมายนั้น แต่ก็ไม่เชื่อว่าข้าศึกจะสามารถทำได้จริงคือมูลเหตุของความล้มเหลวในการระวังป้องกันฐานทัพที่ฮาวาย

แล้วในที่สุดญี่ปุ่นก็พิสูจน์ให้เห็นในเช้าตรู่ของวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ว่าการยุทธ์ข้ามมหาสมุทรด้วยการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์สามารถเกิดขึ้นได้จริง!