เกษียร เตชะพีระ | “ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ” (5)

เกษียร เตชะพีระ

(บทสนทนาระหว่าง ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับ โรสแมรี่ เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข) 

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ใช่ค่ะ ตรงกันข้ามเลย พวกประชานิยมฝ่ายขวาอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐ, นายกฯ วิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี, ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกี, รองนายกฯ มัตติโอ ซัลวีนี และขบวนการห้าดาวของอิตาลี ต่างพากันส่งเสริมนโยบายเสรีนิยมใหม่ต่างๆ ขณะที่ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสก็ปลุกเร้าขับเคลื่อนความเกลียดกลัวต่างชาติขึ้นมา แต่เรื่องนี้ทำให้ฉันเองจำแนกแยกแยะประชานิยมฝ่ายขวากับประชานิยมฝ่ายซ้ายออกจากกันลำบากมากเลยค่ะ

ในหนังสือแด่ประชานิยมฝ่ายซ้าย เวลาเธอพูดถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งที่สัญญาณ (the signifier) ว่า “ประชาธิปไตย” แสดงในจินตนาการทางการเมืองนั้น เธอส่งเสริมแนวคิดแบบกรัมชีเรื่องการทำให้กิจกรรมที่ดำรงอยู่แล้วในระบอบเสรีประชาธิปไตย “มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์” ขึ้นมา แทนที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกประชาธิปไตยไปเสียเลย เป็นต้น ทว่าคนอย่างโยเซฟ เกิบเบิลส์ (แกนนำนาซีเยอรมัน) และเบนิโต มุสโสลินี (ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี) ก็ทำให้ข้อบกพร่องของภาวะหลังประชาธิปไตยกลายเป็น “มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์” ในขั้นตอนต้นๆ ของการผงาดขึ้นสู่อำนาจของพวกเขาด้วยเช่นกันไม่ใช่หรือ? พวกเขาก็ “เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แบบกดขี่ลงเป็นเบี้ยล่างให้กลายเป็นแหล่งที่ตั้งของการเป็นปฏิปักษ์” อย่างที่เธอบอกด้วยเหมือนกันมิใช่หรือ? และถ้าเราขยับไปหาตัวอย่างที่ค่อนข้างใกล้ตัวกว่านี้ อย่างนายกฯ เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำตามสูตรเดียวกันนั้นเผงเลยเมื่อพวกเขากล่าวไว้ในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งถึงเรื่อง “การขยับเปลี่ยนดุลอำนาจของอังกฤษให้เอนเอียงเข้าข้างประชาชนชั้นคนงานธรรมดา…” และ “ยักย้ายถ่ายเทอำนาจจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลับมาให้พวกท่านทั้งหลายที่เป็นประชาชนอเมริกัน” ฤๅมิใช่?

ดังนั้น คำถามของฉันก็คือว่า ผู้คนฝ่ายที่สามซึ่งสังเกตการณ์เหล่านี้อยู่จะเริ่มจำแนกแยกแยะประชานิยมฝ่ายซ้ายออกจากประชานิยมฝ่ายขวาได้อย่างไรในเมื่อศัพท์แสงเยอะแยะและลีลามากมายที่ทั้งสองฝ่ายใช้อยู่มันเป็นพิมพ์เดียวกัน?

ชองตาล มูฟ : เธอพูดถูก – คำปราศรัยเหล่านั้นมันเข้าข่ายประชานิยมปีกขวาล้วนๆ เลย แต่ฉันไม่คิดว่ามันลำบากหนักหนาอะไรที่จะจำแนกมันออกจากกันหรอกนะ เรื่องแรกเลย ฉันขอยืนกรานว่าการต่อต้านเหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นปฏิกิริยาต่อภาวะหลังประชาธิปไตย พวกมันเป็นการต่อต้านแบบประชาธิปไตยและประกอบสร้างเป็นเสียงกู่ร้องของประชาชน พวกเขาต้องการมีส่วนมีเสียงบ้าง และแน่ละว่านายกฯ เมย์และประธานาธิบดีทรัมป์ก็ขานรับ อย่างเดียวกับที่ยอร์ก ไฮเดอร์ กำลังทำอยู่แล้วในปีแรกๆ ตอนที่พวกปีกขวากำลังผงาดขึ้นมาโดยบอกว่า “ผมจะคืนอำนาจให้พวกท่านที่เป็นประชาชน”

แต่แน่ละว่า เรื่องสำคัญในประเด็นนี้คือใครกันล่ะที่เธอจะสถาปนาให้เป็นคู่ปรับของประชาชน ที่เรียกกันว่า “พวกเขา” น่ะ? “ใครกันแน่ที่ฉกฉวยมันไปจากพวกท่าน?” ในกรณีประชานิยมปีกขวาโดยทั่วไปแล้ว “พวกเขา” ได้แก่ผู้อพยพ “พวกท่านไม่มีปากเสียงก็เพราะผู้อพยพนั่นแหละ” ในทางกลับกัน เมลองชองกลับพูดว่า “พวกท่านไม่มีปากเสียงก็เนื่องจากพลังทั้งหลายแหล่ของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่” ดังนั้น วิธีที่เธอสร้างคู่ปรับขึ้นมานั่นเองเป็นตัวชี้ขาด

แต่มันมีอย่างอื่นอีก และฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่งทีเดียว นั่นคือบทบาทที่ความเสมอภาคมีในวาทกรรมเหล่านี้ ฉันได้ศึกษาวาทกรรมของมารีน เลอเปน อย่างละเอียดพอควร และพบว่าความเสมอภาคไม่มีบทบาทสำคัญอันใดในสิ่งที่เธอพูด แน่ละว่ามันเคยมีขั้นตอนหนึ่งที่วาทกรรมของเธอเอียงซ้ายกว่าของฟรองซัวส์ ออลลองด์ (อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส สังกัดพรรคสังคมนิยม ค.ศ.2012-2017) เป็นอันมาก ตอนนั้นเธอกำลังปกป้องรัฐสวัสดิการและวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างหนัก แต่กระนั้นเธอก็ไม่เคยปลุกเร้าขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องความเสมอภาคเลย เธอประกาศว่าเอา “รัฐสวัสดิการ-แต่สำหรับชาวฝรั่งเศสเท่านั้น” นั่นแหละค่ะวาทกรรมของเธอ ทว่าสำหรับฌอง ลุค เมลองชอง แล้ว พวกผู้อพยพก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนฝรั่งเศสเหมือนกัน ส่วนฝ่ายตรงข้ามได้แก่พลังทั้งหลายแหล่ของบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ค้ำจุนลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่…

สำหรับฉันแล้ว บรรทัดฐานใจกลางก็คือบทบาทที่ความเสมอภาคมีในวาทกรรม เพราะในความหมายหนึ่งทั้งพวกปีกซ้ายกับปีกขวาต่างก็ประกาศว่าตนจะคืนสิทธิ์คืนเสียงให้ประชาชนเหมือนกัน นั่นก็จริงอยู่ แต่เวลาฉันพูดถึงภาวะหลังประชาธิปไตยนั้น คุณค่าหลักสองประการของประชาธิปไตยที่ถูกโจมตีได้แก่อำนาจอธิปไตยของประชาชนกับความเสมอภาค พวกประชานิยมปีกขวาต้องการเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนมาคืนให้ “ประชาชาติเรา” แต่พวกเขาไม่ได้ปลุกเร้าขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาค

นั่นคือปัจจัยสำคัญที่หายไป

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ฉันอยากเกาะติดแนวคิดเรื่องความเสมอภาคนี้ต่ออีกค่ะ เราจะเจาะลึกลงไปอีกหน่อยได้ไหมคะว่าโครงการการเมืองประชานิยมฝ่ายซ้ายนี่อรรถาธิบายข้อเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างไรถึงจะเอาชนะการแบ่งแยกและความขัดแย้งทางชนชั้น เพศสภาพหรือชาติพันธุ์ในหมู่ประชาชนได้? ฉันอยากจะสำรวจแนวคิดเรื่อง “สายโซ่สมมูล” (chains of equivalence) ของเธอโดยเปรียบเทียบมันกับจังหวะที่น่าจดจำจังหวะหนึ่งในคราวที่ฉันสัมภาษณ์ฌอง ลุค เมลองชอง เมื่อปี ค.ศ.2013 นี่เป็นปีก่อนที่เขาจะตีพิมพ์หนังสือเรื่องยุคสมัยของประชาชน (L”E?re du Peuple) ออกมา และแน่ละว่าเขาได้เปลี่ยนศัพท์แสงทางการเมืองของเขาไปมหาศาลนับแต่ตอนนั้น ทว่าตอนที่ฉันสัมภาษณ์เขา เขาพูดถึงฝ่ายซ้ายไว้ว่า :

“ฝ่ายซ้ายของเราเป็นฝ่ายซ้ายทางวัฒนธรรมเหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นทวีปทางวัฒนธรรมที่แผ่ไพศาลซึ่งมีภูมิทัศน์แตกต่างหลากหลายทั้งขุนเขาเอย หุบเหวเอย… ภาพลักษณ์นี้ทำให้ผมพูดได้ว่าการรังสรรค์การเมืองขึ้นมาใหม่จะเกิดขึ้นบน “สนามทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางที่สุด” หาใช่บนแก่นเรื่องเฉพาะทางการเมืองเท่านั้นไม่ และเราพยายามผ่ากลางเข้าไปในสนามวัฒนธรรมที่กว้างขวางยิ่งขึ้นนี้พลางมองหาว่ามีรอยเกยอยู่ที่ไหนบ้าง”

พูดถึงตอนนี้ เขาก็สาธิตบททดลองเสนอของเขาให้ดูโดยหยิบผ้าเช็ดปากสามผืนมาวางเกยซ้อนกันแล้วกล่าวต่อว่า :

“เราเอาทิศทางของเรามาจากอำนาจนำทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เอกลักษณ์และหลักหมายทั้งหลายแหล่ในฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น คุณอยู่ฝ่ายคติโลกวิสัย (laicite?) คุณสนับสนุนคติโลกวิสัยและไม่สนใจเรื่องอื่นเลย คุณไม่แยแสเรื่องฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายแม้แต่น้อย ทีนี้ก็มีคนที่สองซึ่งถือหางข้างหลักการแบ่งปัน คุณไม่อาจเป็นสุขได้ตราบใดที่ยังมีผู้คนทนทุกข์อยู่ คราวนี้คนถัดไปก็หนุนหลังความเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขารับความเหลื่อมล้ำระหว่างชายกับหญิงไม่ได้ ฉะนั้น คุณก็มีภูมิทัศน์สามแบบและที่แห่งหนึ่งซึ่งภูมิทัศน์ทั้งสามเกยซ้อนกัน ถ้าคุณอยู่ตรงนี้ [ตรงรอยเกยของผ้าเช็ดปากทั้งสามผืน] คุณก็เป็นแนวร่วมฝ่ายซ้าย (Front de Gauche) แต่ถ้าคุณอยู่ตรงนี้ [นอกรอยเกยดังกล่าว] คุณก็เป็นอย่างอื่น ผมไม่ได้ดูถูกดูแคลนอะไรคุณ แต่มันต่างกัน ยุทธศาสตร์ทางอุดมการณ์ของแนวร่วมฝ่ายซ้ายคือการรังสรรค์อำนาจนำทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสขึ้นมาเสียใหม่ในนัยแบบกรัมชี และสร้างมันขึ้นมาด้วยกัน”

ฉันสงสัยว่าการแสวงหารอยเกยนี่หรือเปล่าที่ขับเคลื่อนเมลองชองจนเขาออกจากฝ่ายซ้ายที่เขาเคยตั้งอยู่ไป? แล้วนี่เป็นการสาธิต “สายโซ่สมมูล” ที่พอใช้การได้ไหมตามที่ฉันได้ฟังเมลองชองแสดงให้ดูข้างต้นนี้?

ชองตาล มูฟ : เห็นได้ชัดเลยค่ะตามตัวอย่างที่เธอยกมานี้ว่าเขากำลังพูดถึงการผ่ากลางเข้าไป (transversality) และความจำเป็นที่จะต้องอรรถาธิบายชุดข้อเรียกร้องต้องการที่แตกต่างกัน และแม้จนทุกวันนี้เขาก็ยังกำลังพูดแบบนั้นอยู่ ความแตกต่างอย่างเดียวที่มีอยู่เมื่อเทียบกับตอนนี้ก็คือ เขากำลังบอกว่าเขาไม่ต้องการอ้างอิงถึงฝ่ายซ้ายแล้ว และนี่ก็เป็นอย่างเดียวกับพรรคโปเดโมสในสเปนที่ฉันเอ่ยถึงเช่นกัน ในหนังสือที่ฉันกับอีนิโก เออร์เรฌอง (I?n?igo Errejo?n ค.ศ.1983-ปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์หนุ่มและเลขาธิการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์และการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคโปเดโมส) เขียนร่วมกันเมื่อปี ค.ศ.2016 นั้น นี่เป็นจุดเดียวที่เราเห็นต่างกัน อีนิโกบอกว่า “ในสเปนน่ะ คุณช่วงชิงคนมาเป็นพวกไม่ได้โดยการพูดว่าผมอยู่ฝ่ายซ้ายหรอก ไม่มีทาง! คำว่าฝ่ายซ้ายมีนัยเชิงลบมากไป” และฉันก็คิดว่าในฝรั่งเศสทุกวันนี้ เมลองชองคงพูดแบบเดียวกัน เพราะเวลาเธอพูดถึงฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสน่ะ คนก็จะนึกถึงอดีตประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์! นั่นแหละค่ะฝ่ายซ้าย! คนหลายคนในขบวนการฝรั่งเศสกบฏ (La France Insoumise) บอกฉันว่า “เวลาเรารณรงค์หาเสียง เรานำเสนอตัวเราเองเป็นฝ่ายซ้ายไม่ได้ เพราะเราจะถูกปฏิเสธ” แต่พวกเขาก็ตระหนักรับว่าตัวเองมาจากประเพณีการเมืองฝ่ายซ้าย…

(ยังมีต่อ)