คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม- ภารต (2) : “สหัสธารา”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีของสิ่งหนึ่งที่ใช้สรงสนานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ที่ไม่ปรากฏในพระราชพิธีอื่นๆ คือ “สหัสธารา” นับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง

สหัสธารามีลักษณะคล้ายถาดโลหะเจาะรูไว้เป็นจำนวนมากมาก (ตามตำราว่าจำนวนพัน) หรือคล้ายฝักบัวที่เราใช้อาบน้ำแต่มีขนาดใหญ่กว่า ทำด้วยเงิน ใช้เมื่อถวายพระมุรธาภิเษกที่มณฑปพระกระยาสนานขณะทรงประทับอยู่บนตั่งไม้มะเดื่อ

เมื่อมีการอภิเษกด้วยพระสหัสธาราแล้ว ในทางพิธีกรรมถือว่าความเป็นพระมหากษัตริย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เจ้าพนักงานอีกส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนพระมหาเศวตฉัตรทุกองค์ในพระบรมมหาราชวังในเวลาเดียวกันนั้นเอง

ที่น่าสนใจคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“พระสหัสธารานี้ยกไว้เป็นพระเกียรติยศใหญ่ ใช้ได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว”

แต่ในกฎมณเทียรบาล ซึ่งอยู่ในกฎหมายตราสามดวงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ระบุว่า ให้พระอัครมเหสีหรือพระปุโรหิต (พระราชครูพราหมณ์) สามารถรับน้ำ “ท่อสวัสดิสหัสธารา” ได้ โดยลดจากสหัสธาราทองคำเป็นเงิน

แสดงว่าในอดีตหรือครั้งกรุงเก่า สหัสธาราสำหรับพระเจ้าแผ่นดินอาจทำด้วยทองคำ ส่วนของพระอัครมเหสีและพระราชครูปุโรหิตใช้เงิน

และในที่สุดสหัสธาราก็สงวนไว้สำหรับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น

 

ที่จริงเรื่องฐานานุศักดิ์ของวัสดุที่ใช้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อินเดียโบราณถือกันมาก

แต่อินเดียนั้นมีความนิยมนับถือต่างกับไทย ตรงที่ถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณสูงสุด ดังนั้น หากจะอภิเษกบุคคลทั่วไป (คนทั่วไปสามารถรับอภิเษกในพิธีการสำคัญได้เช่นเดียวกัน) เมื่อมีอายุถึงหกสิบปี เจ็ดสิบปี หรือร้อยปี พราหมณ์ให้ใช้ภาชนะทอง กษัตริย์ใช้เงิน แพศย์ใช้ทองแดง และศูทรใช้ดินเผา

ในพิธีไอนทรมหาภิเษกของอินเดียโบราณหรืออินทราภิเษกนั้น กษัตริย์จะต้องสาบานว่าจะไม่คิดคดทรยศต่อพราหมณ์ มิฉะนั้นจะได้รับความวินาศด้วยประการต่างๆ

ส่วนไทยเรา มีประเพณีและความเชื่อต่างกับอินเดีย ตรงที่ถือว่าพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในสถานะสูงสุด ดังนั้น ในกฎมณเทียรบาลฉบับรัชกาลที่หนึ่งจึงให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้สหัสธาราทองเท่านั้น ส่วนพราหมณ์ต้องใช้สหัสธาราเงินตามฐานานุศักดิ์

กระนั้น ในกฎมณเทียรบาลฉบับเดียวกันนี้ กล่าวถึงการลงโทษปุโรหิตและพราหมณ์ ว่า หากพระครูพิธี พระมหาราชครู พระราชครู “จัดครูพิธีมิต้องศาสตร์ บอกตำรับผิดพลั้ง” ให้ลงโทษพระอาชญาด้วยประคำใหญ่แขวนคอ

คือแค่ประจานให้ได้อายโดยให้ใส่ประคำใหญ่เท่านั้น ไม่โบยตีแต่ประการใด

ซึ่งคล้ายกับที่กำหนดในพระมนูธรรมศาสตร์ มิให้กษัตริย์โบยตีพราหมณ์ หากเป็นโทษหนักให้แสร้งตีพอเป็นพิธีและทำในที่รโหฐานเท่านั้น แสดงถึงการยกย่องและให้ความสำคัญของพราหมณ์ตามหลักศาสนาที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง

สหัสธารา หรือในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “สหัสรธารา (สฺหสฺรธารา)” มีความหมายว่า สายน้ำหนึ่งพันสาย (ซึ่งผมจะใช้ทั้งสองคำในบทความนี้ โดนหากกล่าวถึงสหัสธารา หมายถึงในประเพณีไทย ส่วนสหัสรธารากล่าวถึงในบริบทอินเดีย) ที่จริงในปัจจุบัน ตามเทวสถานโดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้ยังคงเห็นการใช้สหัสรธาราสำหรับการสรงสนานพระเทวรูปอยู่ โดยจะสรงหลังจากได้ถวายอภิเษกด้วยสิ่งต่างๆ แล้ว เหมือนดังที่ผมเคยบอกว่า พิธีในเทวมณเทียรกับราชมณเทียรนั้นหยิบยืมกัน

เทวพิธีกับราชพิธีจึงคล้ายหรือเหมือนกัน

 

ปัจจุบันนี้ สหัสรธารามีจำหน่ายในร้านเทวภัณฑ์ต่างๆ เพราะเป็นของใช้กันทั่วไปในพิธีกรรม และมิได้เป็นของหวงห้าม บางคนใช้สหัสธาราในครัวเรือนเป็น “ตะแกรง” ร่อนเมล็ดพืชที่เรียกในภาษาทมิฬว่า สัลลาได (salladai) ก็มี

คุณศรีเวทชนนีทาส ได้กรุณาช่วยค้นตำราต่างๆ พบว่าในพระเวทมีการกล่าวถึง การที่พระอินทร์และพระวรุณบันดาลให้มีสายน้ำนมโคพันสายหลั่งรดไปทั่วและทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในแผ่นดิน ดังนั้น จึงมีนัยโดยเฉพาะถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ

ผมตีความเองว่า ในบทสวดนั้นกล่าวถึงพระอินทร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในสมัยพระเวท ดังนั้น สายน้ำนมที่รดหลั่งเป็นพันสายนั้น น่าจะเป็นอุปลักษณ์ของ “ฝน” ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นดิน

สหัสธาราจึงตั้งไว้เหนือพระเศียรหรือศีรษะ ดุจฝนที่หลั่งรินลงมา

ในคัมภีร์สกันทะปุราณะและคัมภีร์ยุคหลังจึงได้กล่าวถึง การสรงสนานด้วยสหัสรธาราสำหรับเทวรูปพระวิษณุปุรุโษตมะและเทวรูปพระเป็นเจ้าอื่นๆ

ในอินเดีย ผมไปค้นเจอว่า มิได้มีเพียงการใช้น้ำสะอาดหรือน้ำสุคนธ์สำหรับใช้ในสหัสรธาราเท่านั้น ยังมีการใช้ “ผโลทก” หรือนำจากผลไม้ หรือน้ำผสมกับสิ่งอื่น

ในแง่นี้สหัสรธาราจึงมีหน้าที่ในการช่วยกรองไม่ให้ของที่นำมาสรงตกลงมาใส่เทวรูปหรือผู้รับการอภิเษกได้

สหัสรธาราจึงมีนัยทั้งในเชิงพิธีกรรมความเชื่อ และความหมายในแง่การใช้งานด้วย คือเป็นทั้งตัวกรองและฝักบัวเพื่อการอาบนั่นเอง

 

นอกจากนี้ นัยยะของเลขจำนวนพันในคติพราหมณ์ยังมีความหมายพิเศษ คือ มีความหมายถึงความมากมายมหาศาล หรือความบริบูรณ์

เทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูจึงมักมีพระนามตั้งพัน หรือการทำยัชญะต่างๆ ด้วยจำนวนพันครั้ง ศาสนิกต่างถือกันว่าเป็นสวัสดิมงคลสูงสุด อำนวยศุภผลตามที่ต้องการได้

นอกจากนี้ยังมีพิธีการอภิเษกด้วยหม้อกลัศจำนวนพันใบ เรียกว่า “สหัสรกลศาภิเษก” ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน แต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจำนวนพัน

ในคัมภีร์ศตปถพราหมณะ กล่าวถึงพิธีอภิเษกจนียะ ในพิธีนั้นมีการวางทองคำไว้ใต้พระบาทเพื่อปกป้องพระราชาจากความตาย และมีการวางทองคำที่เจาะรูเก้ารู หรือร้อยรูวางไว้บนพระเศียรของกษัตริย์ด้วย โดยถือว่า เพื่ออวยพรให้กษัตริย์มีพระชนม์ยืนยาว

ผมไม่ทราบว่า การวางทองคำที่มีรูร้อยรูบนพระเศียรของกษัตริย์ในคัมภีร์นี้ จะเกี่ยวข้องกับการใช้สหัสรธาราในเวลาต่อมาไหม หรืออาจไม่เกี่ยวกันก็ได้

แม้พิธีบรมราชาภิเษกของสยามเราจะมีส่วนประกอบของพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่โดยรายละเอียดนั้นก็ต่างกับพิธีราชาภิเษกของอินเดียโดยเฉพาะที่ปรากฏหลักฐานในยุคพระเวทมาก เพราะเรามีส่วนของทั้งพิธีพุทธศาสนาและส่วนพื้นเมืองของเราเองผสมอยู่ไม่น้อย

บางท่านกล่าวว่ามีส่วนของวัฒนธรรมจีนด้วย ซึ่งอันนี้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

น่าศึกษาต่ออย่างยิ่งครับ