วรศักดิ์ มหัทธโนบล : งานจีนศึกษาจากวิชาการญี่ปุ่น

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

นักเขียนประจำและในระหว่างนั้น (ต่อ)

เพื่อนแนะนำว่า ท่านเป็นนักวิชาการด้านจีนศึกษา และรู้เรื่องเกี่ยวกับคนจีนในไทยเป็นอย่างดี

ในขณะที่ตัวอาจารย์มูราซิมาเองก็เล่าให้ฟังในเวลาต่อมาว่า แรกเริ่มท่านศึกษาเรื่องจีนเหมือนนักวิชาการด้านอาณาบริเวณศึกษาทั่วไป จนมีอยู่คราวหนึ่งท่านได้มาจับเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนในสมัยที่ญี่ปุ่นเป็นจักรวรรดิ และไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ท่านสนใจ นับแต่นั้นมาท่านก็ศึกษาเรื่องราวที่ว่าจนถึงทุกวันนี้

การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในครั้งนั้นทำให้สนใจในงานศึกษาของท่านมาก และเห็นว่า หากชิ้นงานที่ท่านทำไว้ในภาษาญี่ปุ่นถูกปล่อยไว้เช่นนั้นก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ด้วยว่าเป็นเรื่องที่เกิดในไทยแท้ๆ แต่คนไทยกลับไม่มีโอกาสได้รู้

จึงเห็นร่วมกันว่าน่าจะมีการแปลงานของท่านมาเป็นภาษาไทย

หลังจากวันนั้นอีกนานนับปีเห็นจะได้จึงได้ขอทุนเพื่อไปแปลงานชิ้นดังกล่าวของท่านที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ โดยมีท่านเป็นผู้ดูแลและเป็นบุคคลในการอ้างอิงตอนขอทุน

เมื่อได้ทุนแล้วจึงเดินทางไปกรุงโตเกียวตามเวลาที่กำหนดไว้ทันทีในปลาย ค.ศ.1995 นั้นเอง

 

สิ่งที่เราสองคนได้ตกลงกันไว้ก่อนที่จะขอทุนคือ งานวิจัยที่จะทำในครั้งนี้คือการแปลงานเรื่องการเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ.1924-1942 ของท่านเอง

ส่วนวิธีแปลก็ออกจะพิสดารคือ คนไทยหนึ่งคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น กับคนญี่ปุ่นหนึ่งคนเข้าใจภาษาไทยดี แต่ที่จะให้เขียนไทยยาวนับร้อยหน้าคงใช้เวลาไม่น้อย แล้วทั้งสองคนมาพบกันเพื่อจะแปลงานชิ้นหนึ่งจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย

การแปลที่จะเกิดได้จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าตรงที่ว่า ให้คนญี่ปุ่นแปลงานญี่ปุ่นชิ้นนั้นด้วยการพูดเป็นภาษาไทย แล้วให้คนไทยเขียนเป็นไทยให้เป็นภาษาเขียน แต่เนื่องจากงานชิ้นนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนจีนหรือชาติจีน วิธีแปลตามที่ว่าจึงมีภาษาจีนเป็นสื่อกลางที่สำคัญ ซึ่งเป็นภาษาที่เราสองคนมีความรู้อยู่ตามสมควร

การแปลจึงสะดวกขึ้นไปเปลาะหนึ่ง

 

การทำงานแปลครั้งนี้ใช้ห้องทำงานของอาจารย์มูราซิมาที่มหาวิทยาลัยเซเก แรกที่ก้าวเข้าไปในห้องของท่านก็ให้รู้สึกตกตะลึง เพราะจากประตูห้องไปจนถึงโต๊ะทำงานนั้น ต้องผ่านชั้นหนังสือที่สูงเกือบถึงเพดานเรียงเป็นแนวหลายแถว แต่ละชั้นอัดแน่นไปด้วยหนังสือและเอกสารเต็มทุกชั้น

ในขณะที่พื้นที่ว่างบางจุดก็ยังมีเอกสารอยู่ในกล่องกระดาษบ้าง วางบนพื้นบ้าง ตั้งไว้อีกด้วย ที่อยู่ในกล่องกระดาษนั้น มีบางกล่องที่เอกสารล้นออกมานอกปากกล่อง

ครั้นหายตะลึงจึงเปรยกับอาจารย์มูราซิมาว่า ทำไมจึงมากมายเช่นนี้ ท่านตอบว่า ที่เห็นนี้ยังไม่หมด เพราะยังมีอีกมากที่ท่านต้องเช่าโกดังนอกมหาวิทยาลัยเพื่อเก็บไว้ไม่รู้อีกเท่าไร

ท่านเล่าว่า มีนักวิชาการญี่ปุ่นอีกไม่น้อยที่ต้องเช่าโกดังเพื่อเก็บหนังสือและเอกสาร ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุด สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะที่มีประชากรนับร้อยล้านคน ที่ดินจึงมีจำกัดและมีราคาแพง

ลำพังการซื้อบ้านพักอาศัยก็นับว่าแพงแล้ว แต่ที่แพงนั้นก็ใช่ว่าจะได้บ้านที่มีเนื้อที่ใช้สอยมาก จนเรียกได้ว่าบ้านที่ซื้อนี้มีไว้เพื่อซุกหัวนอนจริงๆ ที่จะให้ถึงขนาดมีที่เก็บหนังสือหรือเอกสารจึงเป็นไปไม่ได้ หรือจะเป็นไปได้ก็แต่คนที่มีบ้านหลังใหญ่ที่มีฐานะดีเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้การเช่าโกดังจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นเรื่องที่นักวิชาการญี่ปุ่นทำเป็นปกติ พร้อมกันนั้นก็เอ่ยชื่อนักวิชาการด้านไทยศึกษาชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงให้ฟังเป็นตัวอย่างว่าล้วนแล้วแต่ทำเช่นนี้ทั้งนั้น

 

ครั้นถามต่อไปว่า จำนวนหนังสือและเอกสารที่มากขนาดนี้ท่านใช้เวลานานเพียงใดในการเก็บ ท่านตอบว่า เฉพาะที่ได้มาจากเมืองไทยนั้น ท่านได้ซื้อหรือถ่ายสำเนาเก็บเอาไว้ตั้งแต่ที่ท่านมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1970 จากนั้นก็เก็บเรื่อยมา จำนวนเอกสารจึงมีมากมายดังที่เห็น

ที่สำคัญ ที่ท่านมาเมืองไทยนั้นคือมาปีละมากกว่าหนึ่งครั้ง ส่วนที่มาได้หลายครั้งในแต่ละปีและมาได้ทุกปีนั้น ไม่เพียงเพราะมีทุนสนับสนุนการเดินทางเท่านั้น หากแต่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีทุนสนับสนุนให้เดินทางไปต่างประเทศอีกด้วย

อย่างหลังนี้ทำไปก็เพื่อให้นักวิชาการได้ไปเก็บข้อมูลและเปิดโลกทัศน์ยังต่างแดน เพื่อให้มีความก้าวหน้าในทางวิชาการอยู่เสมอ

ที่สำคัญ การที่จะทำเช่นนี้ได้ไม่เพียงมหาวิทยาลัยจะต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี และพร้อมที่จะตั้งงบประมาณเพื่อการนี้เท่านั้น หากยังต้องอาศัยระบบเกียรติยศ (honor system) ของตัวนักวิชาการเองอีกด้วย ว่าจะต้องใช้ทุนไปในทางวิชาการจริงๆ

มิใช่สักแต่ได้ท่องเที่ยวเล่นโดยไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วยเห็นว่าอย่างไรเสียมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น คือมหาวิทยาลัยไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบได้จริงๆ

แต่สิ่งที่เห็นคือญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในทางวิชาการ และที่เป็นเช่นนี้คงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเพราะนักวิชาการญี่ปุ่นเป็นผู้ที่มีเกียรติยศเท่านั้น คือใช้ทุนประเภทนี้เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการจริงๆ

 

หลังจากที่ปรับตัวให้คุ้นเคยกับบรรยากาศในห้องทำงานแล้ว เราสองคนก็เริ่มลงมือแปลผลงานที่ว่า ระหว่างที่การแปลดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนนั้น ทำให้พบว่าอาจารย์มูราซิมาได้เก็บรวบรวมข้อมูลในอดีตเอาไว้มากมาย อดีตในที่นี้สามารถย้อนกลับไปถึงเมื่อกว่าร้อยปีก่อน

เอกสารหลายชิ้นเก่ามากจนกระดาษมีความเปราะบาง เวลาใช้จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก

ท่านเล่าว่า เอกสารเหล่านี้ท่านได้มาตั้งแต่เมื่อมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1970 คือตั้งแต่ที่แผงขายหนังสือยังอยู่ที่สนามหลวง ครั้นเมื่อแผงเหล่านี้ย้ายมาสวนจตุจักรแล้วท่านก็ยังตามมาซื้อหาจนทุกวันนี้

จากเหตุนี้ เจ้าของแผงหลายแผงที่ท่านเป็นลูกค้าประจำจึงรู้จักท่านเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่คอยหาเอกสารหรือหนังสือในแนวที่ท่านต้องการให้เสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น แม้เอกสารโบราณ หนังสือพิมพ์เมื่อกว่าร้อยปีก่อนทั้งภาษาจีน อังกฤษ และไทย หากท่านไม่ถ่ายเก็บไว้ในไมโครฟิล์มก็ถ่ายสำเนาเอาไว้แล้วนำกลับญี่ปุ่น ทั้งนี้ ยังไม่นับหนังสืองานศพอีกมากที่ท่านเก็บเอาไว้ตั้งแต่ที่เรายังไม่เห็นความสำคัญ

ถึงกระนั้น ท่านก็ยังคงบอกว่าที่เก็บอยู่นี้อาจน้อยกว่าที่อาจารย์อิฌิอิ โยะเนะโอะ (ค.ศ.1929-2010) นักวิชาการด้านไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเก็บเอาไว้ก็เป็นได้ เพราะเป็นผู้ศึกษาเรื่องไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน1

โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า เอกสารเหล่านี้ไม่เพียงเป็นเอกสารในไทยเท่านั้น หากอีกไม่น้อยยังเป็นเอกสารจากประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศในอาเซียน จีน ไต้หวัน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น อีกด้วย

จนหลายครั้งที่หลังกลับจากประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว ท่านมักจะเล่าให้ฟังว่า ที่ประเทศนั้นๆ ท่านได้เจออะไรมาบ้าง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น

 

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ท่านเล่าให้ฟังคือ ตอนที่ไปค้นข้อมูลที่รัสเซียนั้น ท่านเล่าว่า ทางรัสเซียได้เปิดให้ใช้ข้อมูลในยุคคอมมิวนิสต์แก่สาธารณชนแล้ว ในระหว่างที่ค้นข้อมูลที่ประเทศนี้ท่านพบว่าทางรัสเซียได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ไทยด้วย และมีความหนาประมาณ 300 หน้า

ลำพังความหนาเท่านี้นับว่าหนามากแล้ว แต่ท่านว่าข้อมูลในส่วนของไทยนี้ยังถือว่าน้อยมาก เพราะของประเทศอื่นๆ ล้วนหนาเป็นพันเป็นหมื่นหน้า

ที่สำคัญ พอนำข้อมูลเหล่านั้นให้คนที่รู้ภาษารัสเซียแปลแล้วก็พบว่า มีบุคคลหลายคนที่ถูกเอ่ยชื่อในเอกสารเหล่านั้นไม่สามารถรู้ได้ว่าคือใคร คือเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในสารบบข้อมูลที่ไทยมีอยู่

นอกจากนี้ ท่านยังพูดด้วยความเสียดายว่า ทุกวันนี้ทางการจีนยังไม่เปิดให้ใช้ข้อมูลในส่วนนี้ หาไม่แล้วคงได้รู้ว่าใครเป็นใครบ้างในแบบคาดไม่ถึงก็เป็นได้

————————————————————————————————————–
(1) ชีวิตและงานของอิฌิอิ โยะเนะโอะ อาจดูได้จาก อิฌิอิ โยะเนะโอะ, กึ่งศตวรรษบนเส้นทางไทยศึกษา, ชวาลิน เศวตนันท์ และกนกวรรณ เกตุชัยมาศ แปล, ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และ สุวิมล รุ่งเจริญ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2550).