การจัดการ “เลือกตั้งอินเดีย” กับ “คน900 ล้าน” บนความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

อินเดียเคยเลือกตั้งนานสุดถึง 3 เดือน เลือกตั้งเร็วสุด 4 วัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 สัปดาห์ เป็นสิ่งที่ กกต.ของอินเดียเป็นผู้กำหนด

หลายคนมองว่าทำไมไม่จัดการให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว เป็นไปตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

อินเดียยืนยันมาตลอดว่าเรื่องแบบนี้ใครหน้าไหนห้ามมายุ่ง มันเป็นเรื่องภายในของเขา

หลายคนไม่ค่อยทราบด้วยว่า จริงๆ แล้วอินเดียจะไม่เชิญใครเข้าไปสังเกตการณ์ และถือมาก

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียศึกษา ฉายภาพการเลือกตั้งของอินเดียให้เห็น

Photo by NARINDER NANU / AFP

ผศ.สุรัตน์ขยายความว่า สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนเลย คือบ้านเขามีวิถีของตัวเองและพยายามที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำให้ประชาธิปไตยของเขาแข็งแกร่ง เพราะเขาเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญของเขา (ที่ ดร.พิมเรา รามชิเอ็มเบคการ์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างอย่างมาก) บวกกับประชาธิปไตยจะกลายเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่และก็คนรุ่นเก่าคนที่หลากหลายความเชื่อในศาสนา-ชาติพันธุ์ ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นฉันทานุมัติของประเทศได้ นี่คือสิ่งที่เขาเชื่อ

ณ วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าอัตราการอ่านออกเขียนได้ของคนอินเดียพุ่งสูงขึ้นมาก

เพราะฉะนั้น อินเดียจะต้องมีวิธีการเลือกตั้งที่จะพยายามสอนให้ประชาชนได้รู้ว่าท้ายที่สุดเสียงของคุณมันมีความหมาย

เราจะสังเกตเห็นได้สิ่งหนึ่งคือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองต้องชัดเจนมากๆ เพราะว่าคนรุ่นก่อนๆ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จะต้องอาศัยการดูรูปแล้วก็ไปเลือก ก็คือคุณฟังรู้เรื่องแต่คุณอ่านไม่รู้เรื่องตัวนโยบาย คนรู้ว่าคนนี้เป็นใคร แต่ไม่รู้ว่าการสะกดชื่อของเขาเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดให้ดูที่สัญลักษณ์ เช่น ดอกบัว รูปมือ แต่ละพรรคจะต้องมีสัญลักษณ์ชัด เขาพิจารณาถึงกลุ่มที่จะต้องให้ความสำคัญ

ในที่สุดแล้วกระบวนการประชาธิปไตยของอินเดียไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ยังมีกระบวนการศาลและอีกหลายๆ กระบวนการที่มีความเข้มงวดอย่างมากในประเทศ

การจัดการเลือกตั้งออกมาในรูปแบบนี้ กระจายออกไปนานถึง 5 สัปดาห์มาจากปัจจัยหลายประการ

อย่างหนึ่งคือผู้คนเยอะมากที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงมีมากกว่า 900 ล้านคน

สุรัตน์ โหราชัยกุล

ขณะเดียวกันต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการจัดการอีก 10 กว่าล้านคน ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ทำงาน Full Time หรือเป็นเจ้าหน้าที่ประจำองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เขาจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้ม ซึ่งระบบการนับคะแนนของอินเดียที่เขามีความเชื่อมั่นมาก

ส่วนตัว กกต.กลางมีอยู่ไม่กี่คน ซึ่งเขาตระหนักในความซื่อสัตย์และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เสียงของประชาชนนั้นมันออกมาเป็นผลอย่างชัดเจน และถูกต้อง

บางจังหวัดบางเมืองจะต้องจัดการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ครั้ง แต่ละเขตเลือกไม่ตรงวัน ก็เพราะว่าต่อให้เกิดการก่อการร้ายเกิดขึ้นก็ไม่สามารถบั่นทอนผลของการเลือกตั้งได้ ยังไงเสียผลของการเลือกตั้งจะต้องมีและจะต้องจัดตั้งรัฐบาล

นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ไม่เกิดสุญญากาศทางอำนาจ และจะมีการเปลี่ยนอำนาจกันอย่างสันติ เป็นไปตามกฎกติกาที่เขาได้กำหนดไว้ นี่เป็นลักษณะที่อินเดียดำเนินมา

นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาอีกคือเรื่องภูมิศาสตร์ของเขาใหญ่โตมโหฬารมากตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาถึงมหาสมุทร และเกาะต่างๆ ทุกเสียงเขาจะต้องนับ ทุกคนจะต้องได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น เขาจะต้องจัดการแบบนี้ และการขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้งจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เท่านั้น

ทุกอย่างเป็นระบบ และสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งที่จะกำหนดว่าอธิปไตยของเขาหรือผู้ดูแลอำนาจอธิปไตยเป็นใคร นี่คือระบบการเลือกตั้งคร่าวๆ ของอินเดีย

ในหมู่ประชาชนอินเดียเองก็ค่อนข้างตื่นตัว ด้วยปัจจุบันสภาพความที่อยู่ที่ไหนก็สามารถใช้เทคโนโลยีได้ ก่อให้เกิดความตื่นตัว

แต่อินเดียก็ประสบปัญหาสิ่งที่เรียกว่าข่าวปลอม Fake News ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เทคโนโลยียังเอื้อให้เขามีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นและการผลักดันให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และประเด็นที่ทำให้หลายคนกระตือรือร้นในชั่วโมงนี้ เพราะว่ามีกลุ่มที่อยากจะเห็นนายนเรนทรา โมดี อยู่ต่อ กับกลุ่มที่ไม่อยากจะเห็นโมดีอยู่ต่อ

และมีกลุ่มที่อยากจะเห็นราหุล คานธีขึ้นมา มีอยู่ 3 กลุ่ม ที่ความต้องการไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ใน 5 สัปดาห์ที่เกิดขึ้นนี้จะต้องจบและยุติกันด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ถกเรื่องวรรณะในอินเดีย ณ ปัจจุบัน

ที่คนไทยเรียกว่า “จัณฑาล” จริงๆ แล้วไม่ควรใช้คำนี้ สถานการณ์เรื่องวรรณะในอินเดียทุกวันนี้ ต้องปูพื้นความเข้าใจก่อนว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากและเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ดร.พิมเรา รามชิเอ็มเบคการ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในชนชั้นที่ถูกกดขี่ ทลิต (dalit)

ปัจจุบันที่เราทราบจะมีวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร แต่ก็มีวรรณะที่ 5 หรือวรรณะข้างนอก คือ dalit

แม้ว่าคุณไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญของเขา แต่ก็เดาได้เลยว่า ดร.เอ็มเบคการ์ในฐานะประธานร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีวรรคทองอยู่ในนั้นแน่ๆ ที่จะบอกว่า “เลือกปฏิบัติไม่ได้”

ในขณะเดียวกันปัจจุบันสภาพที่เปลี่ยนไปเราจะเห็นได้ชัดเจนก็คือนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องให้บุคคลได้รับโอกาส หรือการเลือกปฏิบัติเชิงบวกเพื่อให้เขามีโอกาสขึ้นมา

โครงการหรือนโยบายเหล่านี้จะชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ แต่ว่ามันส่งผลแล้วจริงๆ

มันทำให้คนในวรรณะนี้ขึ้นมาได้

ในทางกลับกัน การเปิดพื้นที่ให้คนในวรรณะนี้ขึ้นมาได้ มันก็กลายเป็นภัยคุกคามของคนหัวโบราณที่เชื่อว่าคุณไม่ควรจะมาเท่าฉัน เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดความรุนแรงตรงนี้ ความคิดสองส่วนนี้มันกำลังปะทะกันอยู่ คือมันมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายอยู่ด้วยกัน

แต่ก็ยอมรับว่ากฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มันเริ่มทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนมากขึ้นแม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่จากการเฝ้าสังเกตก็เห็นว่าเปลี่ยนไปเยอะ

ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษา

อีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาล

อีกส่วนมาจากหน่วยงาน NGO หลายกลุ่มที่เข้าไปช่วย เช่น NGO ทางพุทธศาสนา เพราะว่า ดร.เอ็มเบคการ์พูดไว้ก่อนถึงแก่อสัญกรรมประมาณ 3 เดือนว่า ข้าพเจ้าเกิดมาเป็นฮินดูแต่ไม่ขอตายเป็นฮินดู แล้วก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการอยู่สักประมาณ 3 เดือนก่อนสิ้นใจมันทำให้มีแรงของพุทธใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นมาก

พุทธใหม่ในอินเดียเขาไม่ได้เข้าวัด เขาไม่ได้เน้นประเพณีตักบาตรแบบบ้านเรา แต่ที่เขาเน้นมากคือความเป็น Humanitic ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ

นอกจากนี้ฝรั่งคนหนึ่งที่มาบวชเขาก็เข้ามาทำตรงนี้โดยที่ไม่ต้องการสอนเรื่องศาสนาเลย แต่สิ่งแรกที่เขาสอนเลยคือเรื่องของสุขอนามัย เหตุเพราะว่ามนุษย์เราจะเลือกปฏิบัติต่อใครคนใด สัญชาตญาณแรกคือดูว่าสกปรกหรือไม่

คนไทยด้วยกันบางทีก็เป็น ถ้าเห็นคนไร้บ้านหรือคนสติไม่ดี เราก็เดินหลีกหนี ฉะนั้น เขาเลยเข้ามาไขปริศนาตรงนี้ว่า สิ่งแรกที่คุณต้องแก้ก่อนทันทีคือเรื่องของสุขอนามัย ด้วยการตัดผม พัฒนาตัวเองทางการศึกษา พรีเซนต์ตัวเองให้เป็น มันเริ่มที่จะเปลี่ยนความคิดคนอินเดียได้ แม้ว่าเปลี่ยนยากแต่ก็เริ่มเปลี่ยนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จากกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้เลือกปฏิบัติ แต่กฎหมายมันจะเข้าไปอยู่ในจิตใจของมนุษย์ไม่ได้ ถ้ามนุษย์จะหาวิธีเลี่ยง เมื่อมีกฎหมายแล้วก็ต้องมีการบ่มเพาะคนในประเทศให้เขามองเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เราเห็นชัดเจนเลยว่าวัดไทยในอินเดียมีทลิต dalit เข้าไปทำงาน เขาก็เน้นเรื่องของสุขอนามัยเป็นเรื่องใหญ่ ถวายอาหารพระอะไรต่างๆ เขาก็เริ่มปลดแอกตัวเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในไทยคือ ทลิตที่เคยมาเรียนหนังสือที่จุฬาฯ เวลาเขาไปโรงอาหาร การที่เขาได้เข้าคิวเหมือนกับนิสิตคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่เขาชอบและภูมิใจมาก

ใครมาก่อนได้ก่อน ใครมาหลังฉันได้ฉันทีหลัง เขารู้สึกว่าไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเขา แล้วไม่ได้มีใครมาทำให้รู้สึกแบบนั้น

เพราะฉะนั้น การที่เปิดกว้างขึ้น เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนในโลกมากขึ้น สังคมเขาก็ต้องปรับเปลี่ยน

แม้กระทั่งดาราบอลลีวู้ดบางคน มีอิทธิพลมหาศาล คนพวกนี้สามารถโน้มน้าวชักชวนให้เชื่อภายในเวลา 5-10 นาทีได้ ผ่านการทำสารคดีทรงพลัง ที่ส่งผลมากกว่าการที่รัฐบาลทำงานมานาน 10 ปีด้วยซ้ำ

สุรัตน์ โหราชัยกุล

อย่างล่าสุดมีดาราคนหนึ่งที่ฝ่ายหญิงให้กำเนิดลูกสาว (เท่าที่ทราบคือเขาทำกิ๊ฟและตั้งใจให้เป็นเพศหญิง) ล่าสุดเขาก็ประกาศให้สังคมรับทราบว่าดิฉันได้ลูกผู้หญิงและดิฉันภูมิใจมาก สิ่งเหล่านี้มันเริ่มทำให้คนได้เปลี่ยนความคิด ซึ่งการอัลตร้าซาวด์เพื่อไปดูเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแต่ขอให้ดูเพื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรงดูได้ แต่จะมาดูเพศเผื่อไปทำแท้งไม่ได้

มีคนเคยถามว่าทำไมอินเดียไม่คิดหรือคุมกำเนิดประชากรหรือใช้นโยบายลูกคนเดียวแบบจีน

อินเดียบอกว่า เราทำไม่ได้ “เราเป็นประชาธิปไตย” เราจะรณรงค์ให้คนมีลูกมากมีช่วงหนึ่งรณรงค์ไม่อยากมีมากเดี๋ยวจะเลี้ยงดูไม่ได้ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นมันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ เขาก็มีวิธีของเขา เราก็จำเป็นจะต้องเข้าใจเขาว่าเขาขอยืนกรานแบบนี้

กระบวนการกรอบความคิดรวมๆ มันกำลังวิวัฒนาการแล้วก็ขัดเกลากันในสังคมอยู่