กรองกระแส / อำนาจ การเมือง ภายหลังเลือกตั้ง มีนาคม อำนาจ ที่เปลี่ยนไป

กรองกระแส

 

อำนาจ การเมือง

ภายหลังเลือกตั้ง มีนาคม

อำนาจ ที่เปลี่ยนไป

 

ปัจจัยอะไรทำให้พรรคพลังประชารัฐประกาศด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลแน่นอนแม้จะได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย

คำตอบ 1 คือการเป็นพรรคการเมืองของ คสช.

การเป็นพรรคการเมืองของ คสช.ทำให้พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าอำนาจมิได้อยู่ที่จำนวน ส.ส.ทั้งในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับบทสรุปที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เคยสรุปอย่างรวบรัดยิ่งว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

นั่นก็เห็นได้จากความคึกคักของ 250 ส.ว.อันมีรากฐานมาจาก “แม่น้ำ 5 สาย” ไม่ว่าจะเป็น สปท. ไม่ว่าจะเป็น สปช. ไม่ว่าจะเป็น สนช. และรวมถึง ครม.ที่ทยอยกันลาออก นอกจากที่ลาออกเพื่อไปขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐแล้ว ยังลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.

คำตอบ 1 คือ ความโน้มเอียงของพรรคการเมืองที่มิได้ร่วมลงนามในสัตยาบันต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา

การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม คือจุดชี้ขาดชัยชนะของ คสช. และของพรรคพลังประชารัฐ

เท่ากับยืนยันว่า รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ได้ “เสียของ”

 

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร เสียของ

 

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อันพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีส่วนอย่างสำคัญในการปูทางและสร้างเงื่อนไขมี 2 เป้าหมาย

1 ทำลายพรรคไทยรักไทย 1 เปิดโอกาสพรรคการเมืองอื่นเข้าแทนที่

เห็นได้จากการตั้ง คตส.เพื่อเล่นรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย เห็นได้จากการยุบพรรคไทยรักไทย เห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

แต่การเลือกตั้งกลับแพ้ให้แก่พรรคพลังประชาชน

เท่านั้นไม่พอแม้จะมีการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และปราบปรามอย่างรุนแรงในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถจัดการกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนลงได้

แต่แล้วการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ยังพ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทยอีก

จึงมีความจำเป็นต้องก่อการเคลื่อนไหวโดยคนของพรรคประชาธิปัตย์ในนาม กปปส.เหมือนกับบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งสุกงอมแล้วจึงก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายยังเป็นการรุกไล่ บดขยี้ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

 

เลือกตั้ง มีนาคม

พลิกกลับ เป็นชัยชนะ

 

ชัยชนะของการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมในทางรูปแบบมิได้เป็นชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะพรรคพลังประชารัฐยังตกเป็นรองพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยกลไกที่จัดวางตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทำให้สามารถพลิกกลับเป็นชัยชนะ

นั่นก็คือ ปิดหนทางพรรคเพื่อไทยมิให้จัดตั้งรัฐบาลได้โดยราบรื่น

ขณะเดียวกัน เปิดหนทางให้พรรคพลังประชารัฐสามัคคีกับพันธมิตรอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา จัดตั้งรัฐบาล

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่จึงเป็นหนแรกนับแต่การเลือกตั้งหลังการรัฐประหารที่เครือข่าย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ใช่ว่าการเป็นรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ไม่เพียงเพราะว่าพรรคเพื่อไทยยังมีพลานุภาพที่แน่นอนดำรงอยู่ หากแต่ได้เกิดพันธมิตรใหม่อันได้แก่ พรรคอนาคตใหม่

นี่คือปัจจัยใหม่ทางการเมืองที่อาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

 

สถานะใหม่ คสช.

หลังมีนาคม 2562

 

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการเลือกตั้งสะท้อนความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจของ คสช.ผ่านพันธมิตรอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา อย่างแน่นอน

แต่ความแข็งแกร่งและมั่นคงก็แตกต่างไปจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างเด่นชัด

แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แม้จะมีองค์กรอิสระที่ตั้งมาด้วยมือเป็นอาวุธสำคัญ

เพราะว่าอำนาจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอยู่มิได้เป็นอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ หากแต่จำเป็นต้องแบ่งให้กับพรรคการเมือง และอยู่ในการควบคุมอย่างเข้มงวดจริงจังจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

จึงก่อให้เกิดความรู้สึกว่าอายุของรัฐบาลไม่ยืนยาว ไม่มั่นคงเหมือนเมื่อ 5 ปีก่อน