โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /รูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึง หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ นครสวรรค์

หลวงพ่อเดิม พุทธสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

รูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึง

หลวงพ่อเดิม พุทธสโร

วัดหนองโพ นครสวรรค์

“หลวงพ่อเดิม พุทธสโร” หรือ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” ถือเป็นพระเกจิชื่อดังภาคกลางตอนบนที่มีผู้คนเคารพนับถืออย่างมาก

จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนแต่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญ มีดหมออาคม นางกวัก ราชสีห์ ตะกรุด ผ้ายันต์รองเท้า และแหวน ฯลฯ

“พระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม พิมพ์คอตึง” เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิม ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ “พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์นิยม”

เหตุที่พระรูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึง ได้รับความนิยม อาจเนื่องมาจากการพิจารณาง่ายกว่า รวมทั้งประวัติการสร้าง มีการระบุว่าสร้างก่อนพิมพ์นิยมอีกด้วย

พระรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม พิมพ์คอตึง จัดสร้างเฉพาะเนื้อทองเหลือง จำนวนไม่เกิน 1,000 องค์

ลักษณะเป็นรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิมเต็มองค์ นั่งสมาธิ เหนืออาสนะฐานเขียง ลักษณะเป็นธรรมชาติ ศีรษะและลำตัวดูใหญ่ ใบหน้าไม่ประณีตเท่าพิมพ์นิยม ลำคออวบอ้วน เส้นคอเป็นสันหนา 2 เส้น ติดกับคาง ทำให้ใบหน้าของหลวงพ่อดูเชิดขึ้น

เอกลักษณ์สำคัญ คือ ลักษณะคอตึง อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ที่ฐานจารึกอักษรไทยว่า “หลวงพ่อเดิม” สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 บล็อก คือ บล็อก ตัว “ง” หางสั้น หรือ จีวรถี่ และบล็อก ตัว “ง” หางยาว หรือ จีวรห่าง

ส่วนด้านหลังและฐานพระรูปเหมือน บริเวณจีวรด้านล่าง มีร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ รวมถึงบริเวณข้อศอก ตรงท้ายทอยเป็นบ่อยุบลงไป ฐานจะมีทั้งแบบฐานกลมและฐานเหลี่ยม จากการตกแต่งของช่างที่มีหลายคนหลายฝีมือ ใต้ฐานโดยส่วนใหญ่จะมีรอยจาร

พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์คอตึง มีพุทธคุณครบรอบด้าน เป็นที่ต้องการสูงในแวดวงพระเครื่อง

ปัจจุบันหาของแท้ยากยิ่ง

รูปหล่อพิมพ์คอตึง บล็อก ตัว “ง” หางสั้น หรือ จีวรถี่ (หน้า-หลัง)

 

ประวัติหลวงพ่อเดิม เกิดในสกุลภู่มณี เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2403

ในช่วงวัยเยาว์ก่อนอุปสมบทนั้น บิดามารดา นำเข้าไปหาพระหาวัด ซึ่งการศึกษาของชาวหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลาง คือ วัดหนองโพ

กระทั่งเมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2423 มีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ต.สระทะเล เป็นพระอนุศาสนาจารย์

ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

เมื่อุปสมบทแล้วเดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามทางที่พระนวกะ ตั้งต้นศึกษาหาความรู้เป็นการใหญ่ รวมทั้งท่องบ่นพระคัมภีร์ต่างๆ

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิทยาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ หลังนายพันธ์ถึงมรณกรรม ได้ไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

เดินทางไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางเหลือง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

 

ภายหลังได้จัดสร้างวัตถุมงคลมากมายหลายรุ่น จนเป็นที่เลื่องลือมากในเรื่องของความขลัง เป็นที่ปรากฏว่า ประชาชนทั้งชาวบ้านและข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดที่ใกล้เคียง ตลอดไปจนจังหวัดที่ห่างไกลบางจังหวัด พากันไปเข้าไปกราบนมัสการฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อมากมาย

รวมถึงขอให้รดน้ำมนต์ แป้งผง น้ำมัน ตะกรุด และผ้าประเจียด

ที่แพร่หลายที่สุด คือ แหวนเงินหรือนิเกิล และผ้ารอบฝ่าเท้าหลวงพ่อ ผ้าประเจียด เกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือ แพร่หลาย

นอกจากเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแล้ว ยังเป็นพระนักพัฒนาสร้างถาวรวัตถุในวัดมากมาย อาทิ สร้างกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโรงอุโบสถ และสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบไว้ตรงหน้าอุโบสถ เป็นต้น

อีกทั้งก่อสร้างถาวรวัตถุและปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ ภายในจังหวัดนครสวรรค์อีกจำนวนมาก

รูปหล่อพิมพ์คอตึง บล็อก ตัว “ง” หางยาว หรือ จีวรห่าง

 

ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2457 นำความปีติยินดีแก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก

พ.ศ.2462 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่มาตลอดเวลา 20 ปี กระทั่งล่วงเข้าวัยชรามาก คณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์

จึงเปรียบเสมือนร่มโพธิ์และร่มไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาล เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชน

อย่างไรก็ตาม หลังกลับจากการเป็นประธานงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ก็เริ่มอาพาธ และมีอาการหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์ ต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาล และเฝ้าอาการกันเนืองแน่น

ในที่สุดก็ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71 โดยจัดพิธีพระราชทานเพลิงในวันที่ 30 สิงหาคม 2494

ได้รับการขนานนามและยกย่องเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” วัดหนองโพได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของหลวงพ่อ รูปเหมือนหลวงพ่อเดิมขนาดเท่าองค์จริง

โดยวัดหนองโพได้จัดงานทำบุญประจำปี ปิดทองไหว้พระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

 

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อเดิม พุทธสโร

2.รูปหล่อพิมพ์คอตึง บล็อก ตัว “ง” หางสั้น หรือ จีวรถี่ (หน้า)

3.รูปหล่อพิมพ์คอตึง บล็อก ตัว “ง” หางสั้น หรือ จีวรถี่ (หลัง)

4.รูปหล่อพิมพ์คอตึง บล็อก ตัว “ง” หางยาว หรือ จีวรห่าง