เศรษฐกิจ / แจกต่อไม่รอรัฐบาลใหม่แล้วนะจ๊ะ อัดมาตรการภาษี หว่านเงินคนจน 2 หมื่นล้าน ดูแลเศรษฐกิจไตรมาส 2 ส่งท้าย คสช.

เศรษฐกิจ

 

แจกต่อไม่รอรัฐบาลใหม่แล้วนะจ๊ะ

อัดมาตรการภาษี

หว่านเงินคนจน 2 หมื่นล้าน

ดูแลเศรษฐกิจไตรมาส 2 ส่งท้าย คสช.

 

เศรษฐกิจไตรมาส 2 มีสัญญาณอ่อนตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และคาดว่าครึ่งปีแรก 2562 เศรษฐกิจไทยจะโตได้เพียง 3% จากปี 2561 โตได้ถึง 4.1%

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณไม่ดี ทำให้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นั่งไม่ติดเก้าอี้ แม้จะเหลือเวลาในการทำงานรัฐบาลชุดนี้อีก 1-2 เดือน นัดประชุมทีมผู้บริหารกระทรวงการคลังช่วงหลังสงกรานต์ และสั่งให้ออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 เมษายน 2562

ผลประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยการอัดฉีดเงินให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน รวมวงเงิน 13,200 ล้านบาท มี 4 มาตรการ ประกอบด้วย

  1. เพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการทุกคนเพื่อนำไปซื้อของร้านธงฟ้า 500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากเดิมได้รับเดือนละ 200 บาท สำหรับผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท-1 แสนบาทต่อปี และได้รับ 300 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี โดยมาตรการนี้ใช้เงินรวม 6,600 ล้านบาท
  2. แจกเงินให้ผู้ปกครองเพื่อซื้อชุดนักเรียน-อุปกรณ์การเรียนในระดับชั้นไม่เกินมัธยม คิดเป็น 2.7 ล้านคน วงเงินคนละ 500 บาทต่อบุตร 1 คน โดยสามารถกดเป็นเงินสด หรือนำไปรูดซื้อของในเดือนพฤษภาคม วงเงินรวม 1,350 ล้านบาท
  3. แจกเงินช่วยเหลือค่าปุ๋ยให้เกษตรกร 4.1 ล้านคน คนละ 1,000 บาทครั้งเดียวในเดือนพฤษภาคม วงเงินรวม 4,100 ล้านบาท
  4. แจกเงินกับคนพิการเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2562 มีคนพิการรับเงินประมาณ 1.16 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 1,160 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษี 6 มาตรการ คาดว่าทำให้รัฐสูญรายได้กว่า 8 พันล้านบาท ประกอบด้วย

  1. ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาไม่เกิน 15,000 บาท ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562 คาดว่าทำให้สูญรายได้ 1,500 ล้านบาท
  2. ลดหย่อนภาษีสำหรับซื้อสินค้าโอท็อป 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562 คาดว่าทำให้สูญรายได้ 150 ล้านบาท
  3. ลดหย่อนภาษีจากการซื้อหนังสือและอีบุ๊ก 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562 คาดว่าทำให้สูญรายได้ 2,256 ล้านบาท
  4. ลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวสำหรับเมืองหลัก 15,000 บาท และเมืองรอง 20,000 บาท โดยรวมทั้ง 2 ส่วนต้องไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562 คาดว่าทำให้สูญรายได้ 1,000 ล้านบาท
  5. ลดหย่อนภาษีซื้อบ้านหลังแรก 2 แสนบาท สำหรับบ้านและคอนโดมิเนียมในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท มีเงื่อนไขโอนภายในปีนี้ คาดว่าทำให้สูญรายได้ 1,300 ล้านบาท
  6. มาตรการสำหรับนิติบุคคลหักรายจ่ายลงทุนในอี-แท็ค 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน-31 ธันวาคม 2562 คาดว่าจะสูญรายได้ 2,370 ล้านบาท

 

เหตุผลที่ต้องเร่งออกมาตรการโดยไม่รอรัฐบาลใหม่ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ระบุว่า ไม่อยากให้เศรษฐกิจแย่ไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จากการส่งออกในเดือนมีนาคม 2562 ติดลบ 4.88% เมื่อเทียบเดือนมีนาคมปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาสแรกลบ 1.64% ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวล

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.ปรับลดเป้าหมายส่งออกเหลือเพียง 3% และรู้สึกเป็นกังวลกับการส่งออกในปีนี้มาก เพราะด้วยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่ รวมถึงเจอปัญหาภัยแล้งกระทบถึงผลผลิตสินค้าเกษตร

และล่าสุด นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ตัดสินใจประกาศปรับคาดการณ์ส่งออกลงเหลือแค่ 2.1% จากคาดการณ์ไว้เดิมที่ 3.1% โดยการส่งออกต่อเดือนนับจากนี้ต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 21,560 ล้านเหรียญสหรัฐ!!

หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดต่ำลงทุกเดือน ส่วนใหญ่มองว่าจะโต 3.8% แต่มีบางสำนักมองจะเหลือเพียง 3.5% จากปี 2561 โตได้ถึง 4.1%

หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพที่กระทรวงการคลังมองไว้ และในการจัดทำตัวเลขด้านงบประมาณ คาดการณ์รายได้ การกำหนดงบสมดุล กระทรวงการคลังอิงตัวเลขว่าเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปต้องโตอย่างน้อยปีละ 4%

 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคม ทำให้ สศค.เป็นห่วงเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ดังนั้น จำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเฉพาะในช่วงนี้ โดยเงินที่นำมาใช้นั้นถูกหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2-3 รอบ “มาตรการล่าสุดคงยังไม่ใช่ยาแรง เนื่องจากเศรษฐกิจตกลงไปไม่มาก จึงออกมาตรการมาแค่พยุง เพื่อดูแลไม่ให้ต่ำไปกว่านี้ เพราะถ้าปล่อยให้ลงไปมากกว่านี้ ต้องใช้งบประมาณที่มากขึ้น”

ทั้งนี้ การอัดฉีดเงินให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการกว่า 13,200 ล้านบาทนั้น จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น 0.1% โดยปีนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 3.8% โดยครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้เพียง 3% คาดว่าครึ่งปีหลังโต 4.5-4.6% เป็นการปรับลดลงจากเดิมที่ สศค.คาดว่าจะโต 4% เป็นผลจากการส่งออกคาดว่าปีนี้ลดเหลือเพียง 3.4% จากเดิมคาดว่าขยายตัว 4.5%

ส่วนหลังจากนี้จะมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมหรือไม่นั้น นายลวรณให้ความเห็นว่า คงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 2 และสถานการณ์ส่งออกว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงรอดูผลของมาตรการ และต้องรอนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม หากส่งออกดีขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้กลับมาขยายตัวถึง 4%

 

เมื่อเดือนมีนาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมประเมินไว้ 4.0% เป็นผลจากการส่งออกสินค้าคาดว่าจะลดลงเหลือ 3% จากเดิมคาดว่าจะโต 3.8% โดยผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่าจะปรับเป้าหมายเศรษฐกิจลงอีก รอบของการปรับเป้าหมายของ กนง.คือเดือนมิถุนายน 2562

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินตัวเลขเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แนวโน้มในปี 2562 คาดว่าจะโต 3.5-4.5% โดยมีค่ากลาง 4% ซึ่ง สศช.จะประเมินตัวเลขใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมๆ กับการประกาศตัวเลขจริงไตรมาส 1 ซึ่งมีแนวโน้มปรับเป้าหมายตัวเลขทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายเดิม ตาม สศค.และ ธปท.

ส่วนภาคเอกชน มองตัวเลขทิศทางเดียวกับภาครัฐ โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนมองว่าในปีนี้เศรษฐกิจโตในกรอบ 3.5-4% จากปีที่แล้ว 4.1% สำหรับการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนเป้าไว้ที่ 8% นั้น เอกชนมองว่าจะโตได้ 4-5%

แต่มีเอกชนบางรายมองว่าจะโตเพียง 2% เท่านั้น

 

ด้านนายเจริญ วังอนานนท์ อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นที่ออกมาอาจดูน้อยไปหน่อย เพราะทุกครั้งใช้มากกว่านี้ สิ่งที่อยากเห็นคือมาตรการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเศรษฐกิจ โดยเป็นการกระตุ้นอย่างยั่งยืน เพราะเท่าที่ดูรัฐบาลยังใช้มาตรการเดิมๆ

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังมีแนวคิดแจกเงินคนละ 1,500 บาท สำหรับประชาชน 10 ล้านคนวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อนำไปเที่ยวเมืองรอง แต่ล้มไปเพราะมีเสียงวิจารณ์มาก

   ดังนั้น คงต้องติดตามว่าวงเงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 13,200 ล้านบาท จะเพียงพอพยุงเศรษฐกิจตามที่ภาครัฐหวังไว้หรือไม่ หรือจะเหมือนคำสบประมาทของภาคเอกชนว่าไว้ “ผลต่อเศรษฐกิจคงไม่มาก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”