คำ ผกา | ความสูญเสียเกินเยียวยา

คำ ผกา

เมื่อเลือกตั้งเสร็จฉันก็เดินทางไปอินเดียกว่าครึ่งเดือน

โดยคาดการณ์ว่ากว่าจะกลับมาถึงเมืองไทยคงเห็นเค้าลางของการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก

แน่นอนว่าภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่ต้องการเห็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงข้างมากแบบหมดจด เนื่องจากมีความระแวงหวาดกลัวสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา (อันมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคนอธิบายแล้วว่าแนวคิดเผด็จการรัฐสภามาจากฝ่ายที่ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งหรือเป็นวาทกรรมของคนจำพวกขี้แพ้ชวนตี)

ดังนั้น สิ่งที่เราจะเห็นหลังการเลือกตั้งคือการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ

มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะไม่สามารถผลักดันนโยบายที่พรรคการเมืองของตนไปสัญญาไว้กับประชาชนได้

ระหว่างนั้นรัฐบาลก็จะถูกโจมตีเรื่องความคอร์รัปชั่น นักการเมืองห่วย โกงกิน สิ่งที่ตามมาอย่างช่วยไม่ได้คือ ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย เบื่อหน่ายการเลือกตั้ง

อารมณ์เช่นนี้ของสังคมจะเป็นเชื้อมูลสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารในอนาคต

นี่คือสิ่งที่ฉันคาดการณ์เอาไว้ และคิดว่าแค่นี้ก็แย่มากพอแล้ว

แต่พระเจ้าช่วย การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ลำพังการที่เรากลับไปสู่ยุคการจัดตั้งรัฐบาลผสม นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบก็เป็นความเลวร้ายเหลือทน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้หนักกว่านั้นอีกคือ

1. ไม่มีใครเห็นคะแนนดิบ

2. กกต.ยังต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วยเลือกตั้ง เนื่องจากพบความผิดพลาด เช่น ปรากฏการณ์บัตรเขย่ง (แค่มีคำว่าบัตรเขย่งอุบัติขึ้นมาโดยหาคนรับผิดชอบไม่ได้นี่ประชาชนก็ไปไม่เป็นแล้ว)

3. กกต.ยังไม่รู้ว่าควรใช้สูตรการคำนวณแบบไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนถึงขั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เดี๋ยวววว นี่เวลาผ่านไปครบ 1 เดือนแล้ว เรายังไม่เห็นเค้าลางของผลการเลือกตั้งที่จะใกล้เคียงกับผลอย่างเป็นทางการที่จะประกาศในวันที่ 9 พฤษภาคมเลยหรือ? ทีนี้เมื่อไม่รู้ เกิดตัวเลขที่ตนเองคำนวณออกมาไม่ตรงกับที่ กกต.คำนวณแล้วประกาศ การประกาศจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่นิ่ง เพราะตัวเลข ส.ส.ที่ต่างกันแค่ไม่กี่คนก็มีผลพลิกผันจากฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน ยังไม่นับว่าจะมีเรื่องใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม

และขอร้องคำว่าเดี๋ยววววววว ออกมาเป็นคำรบสอง นี่เราใช้เงินห้าพันกว่าล้านไปกับการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ต่างอะไรจากสายลมโชย คือเลือกตั้งไปแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น เลือกตั้งไปอย่างกะพร่องกะแพร่ง ทั้งๆ ที่ประชาชนมีความตื่นตัว รอคอย กระเหี้ยนกระหือรืออยากเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคก็ตะลุยหาเสียงกันอย่างเต็มที่ แต่เลือกไปแล้วการเลือกตั้งกลับถูกทำให้เหมือนการเล่นขายหม้อข้าวหม้อแกง – แบบว่ามือใหม่หัดขับ เลือกตั้งก็ต้องมีข้อผิดพลาดบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็พยายามแก้ไขแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว บลา บลา บลา – เอิ่ม แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ? ความซีเรียสจริงจังของสาธารณชนที่มีต่อการทำงานของ กกต.หายไปไหน?

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? สำหรับฉันเรื่องนี้สำคัญ เพราะมันเกี่ยวข้องกับแกนกลางหรือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย

เราเคยพูดกันมานับร้อยนับพันครั้งแล้วว่า ประชาธิปไตยจะเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบไหนก็ได้ เช่น ประชาธิปไตยแบบเน้นการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยที่ไม่หลงลืมเสียงข้างน้อย (คนละเรื่องกับคนชายขอบ หรือคนกลุ่มน้อย) จะเป็นประชาธิปไตยในอุดมคติยังไงก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดที่ไม่มีไม่ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้งที่นับชัยชนะกันที่ใครได้เสียงข้างมาก ประชาธิปไตยคือระบอบที่นับเสียง majority ที่ได้จากการโหวต นี่คือ “หัวใจ” เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีหัวใจก็ไม่มีชีวิต ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้งอันยึดชัยชนะของเสียงข้างมากเป็นหมุดหมาย ก็ต้องเรียกให้เป็นอย่างอื่น จะมาอ้างมั่วๆ ซั่วๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

อีกประการหนึ่งคือการมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการมีอยู่ซึ่งประชาธิปไตย เมื่อเป็นเช่นนั้นคนไทยทุกคนต้องซีเรียสกับการเลือกตั้ง และต้องซีเรียสกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างมากที่สุด

เพราะหากมีอะไรผิดพลาดไปก็เท่ากับ 1 เสียง 1 สิทธิ์ของเราไม่ถูกนับ เท่ากับความเป็นพลเมืองของเราอันตรธานไปกลายเป็นอะมีบาหรือโปรโตซัวทางการเมือง!

อันเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ความเป็นมนุษย์ทางการเมืองของเราถูกทำให้กลายเป็นนกเป็นหนอนหรือเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่ไม่มีใครมองเห็น

ถ้าเราเข้าใจว่าการเลือกตั้งมันซีเรียสระดับไหน เราจะเข้าใจหนุ่มอินเดียที่ตัดนิ้ว (ไม่รักดี) ของตัวเองทิ้ง เมื่อไปกาเบอร์ผิดพรรค!!!

คิดดูว่านี่ตัวเองผิดเองเลยโกรธมาก ทำอะไรไม่ได้ก็ตัดนิ้วลงโทษตัวเอง แต่หลายกรณีในการเลือกตั้งของไทย เช่น กรณีบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ที่อุตส่าห์ดั้นด้นไปเลือกตั้ง สุดท้ายพันห้าร้อยกว่าบัตรเลือกตั้งของคนพันห้าร้อยกว่าคนถูกจัดเป็น “บัตรอันไม่อาจถูกนำมานับคะแนนได้”

แล้วทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากนิ้วไม่รักดีของเรา หรือความผิดพลาดของเราเอง

ฉันอยากให้เราลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ความเจ็บปวดนี้ดู

หนุ่มอินเดียผิดเองเจ็บเองช้ำเองตัดนิ้วตัวเอง แต่คนไทยพันห้าร้อยกว่าคนต้องถูกจัดไปอยู่กลุ่มบัตรที่ผิดพลาดโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่น้อย

จะให้พวกเขาโทษใคร จะให้พวกเขาไปตัดนิ้วตัวเอง

หรือจะให้พวกเขาต้องไปผูกคอตายในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองในประเทศที่ต้องมีระบบอันเข้าใจไม่ได้เช่นนี้ว่า

“ชั้น – ทำ – อะไร – ผิด?”

ความซีเรียสนี้หมายถึง การที่เราต้องเข้มงวดกับการทำงานของคนจัดการการเลือกตั้งว่าจะมาทำเป็นมือใหม่หัดขับ เงอะๆ งะๆ ผิดไปแล้ว พลาดไปหน่อย แหม นิดเดียวเองน่า – เพราะการเลือกตั้งมีอยู่บนฐานคิดเรื่อง 1 สิทธิ์ 1 เสียง มีค่า มีความหมาย มีศักดิ์ มีศรี ไม่อนุญาตให้เกิดความผิดพลาดที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เหตุอันเกิดกำลังจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

ขึ้นชื่อว่าต้องจัดการเลือกตั้งที่ผู้รับผิดชอบดูแลมีทั้งงบประมาณ ทั้งบุคลากร ทั้งเวลาที่จะเตรียมตัว

ไม่นับว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่จะช่วยทั้งทุ่นแรง ป้องกันความผิดพลาด วางแผนล่วงหน้า

คือถ้าอยากจัดให้ดี ให้รัดกุมจริง สามารถจัดการ บริหาร ออกแบบระบบ ไปจนถึงอำนวยความสะดวก ไปจนถึงจัดการเลือกตั้งอย่างให้เกียรติประชาชนเจ้าของภาษีและเจ้าของอำนาจอธิปไตย

วันเลือกตั้งคือวันที่ประชาชนจะออกไปแสดงเจตจำนงของเขาว่าเขามอบความไว้วางใจแก่ใครในการใช้สิทธิ์นั้นแทนเขา

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงเรื่องคะแนนเสียงตกน้ำ ที่โดยหัวใจของการยึดเอาเสียงข้างมากเป็นหลัก ย่อมไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องเสียงตกน้ำ เพราะเสียงข้างน้อยคือเสียงข้างน้อย พรรคที่ได้เสียงข้างน้อยต้องเป็นฝ่ายค้านหรือมีพลังการต่อรองน้อย

เสียงที่ถูกมองข้าม มองไม่เห็น และอ่อนแออยู่ในโครงสร้าง เช่น ตัวแทนของชนกลุ่มน้อย ผู้หญิงผิวสี ชนเผ่าพื้นเมือง หรือแม้กระทั่งการบ่นเรื่องผู้หญิงได้เข้าสภาน้อย เหล่านี้เป็นผลมาจากโครงสร้างการเมือง สังคม สามารถแก้ไขได้ ด้วยการกำหนดโควต้าสำหรับ “คนชายขอบ” เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามาในสภาได้มากขึ้น

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องการเอาคะแนนเสียงตกน้ำไปนับ!!!! มันไม่เหมือนกัน

แต่เอาละ ไหนๆ เราก็รับร่างรัฐธรรมนูญนี้มาแล้ว ที่มีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากเสียงที่เรียกว่าเสียงตกน้ำ แต่…เอ๊า นี่ไม่ใช่เสียงตกน้ำธรรมดา มีแนวโน้มว่าเสียงตกน้ำข้างน้อยก็จะได้ ส.ส.กับเขาด้วย

ถ้าจะเอาแบบนี้จริงๆ ก็เท่ากับว่าหัวใจของประชาธิปไตยไม่เหลืออยู่เลยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาขนเป็นแค่ตัวแสดงประกอบในปาหี่ปาหี่หนึ่งเท่านั้น

ประชาธิปไตยยังมีอีกหลายเรื่องให้เราซ่อมแซม แต่ฉันอยากให้เราเริ่มต้นนับเลข 1 กันใหม่ให้มั่นคง อย่ารีบร้อน ผลีผลาม และพึงรำลึกถึงภาษิตแสนโบราณอันหนึ่งเอาไว้เสมอว่า ไม่มีผลลัพธ์ที่ถูกต้องจากวิธีการที่ผิดพลาด

ผลลัพธ์หรือปลายทางไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการ ย้ำอีกครั้ง กระบวนการที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เราจะไม่ไปทางลัด!!

ประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากการนับหนึ่งเรื่องการเลือกตั้ง เสียงข้างมาก และหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน

หากหลักการถูกพลิกผันบิดพลิ้วบนคำขู่เรื่องทางตัน เราต้องยืนยันว่า บนกระบวนการที่ถูกต้อง จะไม่มีคำว่าทางตันและทางลัด

ทางที่บิดเบือนต่างหากที่จะนำเราไปสู่ข้อยุ่งยากอันไม่มีที่สิ้นสุด

และอาจยุ่งยากไปจนถึงจุดที่เราอาจจะสูญเสียประชาธิปไตยไปอย่างถาวร