บทวิเคราะห์ : “ใบส้ม” ใบแรก ผลิแล้ว เพื่อไทยไง จะใครล่ะ? กกต.เงิบ-ศาล รธน.ไม่รับ “เผือกร้อน” สูตรปาร์ตี้ลิสต์

ผ่านการเลือกตั้งมานานกว่า 1 เดือน การเมืองยังตกหลุมอากาศ ผลคะแนนแต่ละพรรคยังไม่นิ่ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศผลรวมทั้งระบบ ที่สำคัญยังไม่รู้ว่าจะใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์อย่างไร

จากข้อมูลตามที่ กกต.แถลงช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม มีเรื่องร้องเรียนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เกือบ 300 เรื่อง

ในจำนวนนี้เป็นผู้สมัครได้รับคะแนนสูงสุด 66 เขตเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะต้องแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงในเขตเลือกตั้งใดบ้าง เนื่องจากมีผลต่อการประกาศคะแนนรวม ซึ่งจะนำมาประกอบสูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ล่าสุดปรากฏว่า “ใบส้ม” ใบแรก ออกที่พรรคเพื่อไทย

 

ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 23 เมษายน วันเดียวกับที่มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ลำดับที่ 1

กรณีถูกร้องขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครเนื่องจากถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์

ที่ประชุม กกต.ยังมีมติแจก “ใบส้ม” สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส.เขต 8 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี

หลังพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(2) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

มติดังกล่าวมีผลให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 8 เชียงใหม่ เนื่องจากในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม นายสุรพล เกียรติไชยากร ได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับ 1 ด้วยคะแนน 52,165 คะแนน

ทั้งนี้ เมื่อ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล และสั่งจัดเลือกตั้งใหม่ จำนวนคะแนนดังกล่าว กกต.จะไม่นำมารวมนับเป็นคะแนนในการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมือง

และเอาผิดนายสุรพล ตามมาตรา 138 โดยร้องต่อศาลฎีกาพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ต่อไป

 

สําหรับผลเลือกตั้ง 24 มีนาคม เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ นายสุรพล เกียรติไชยากร ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 52,165 คะแนน

ตามมาด้วยนายนเรศ ธำรงค์ทิพยกุล จากพรรคพลังประชารัฐ 39,221 คะแนน น.ส.ศรีนวล บุญลือ พรรคอนาคตใหม่ 29,556 คะแนน เป็นต้น

ในการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎหมายยังคงเป็นผู้สมัครชุดเดิม ยกเว้นนายสุรพล ไม่สามารถลงแข่งขันได้ จึงเท่ากับพรรคเพื่อไทยต้องเสียว่าที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตทันที 1 ที่นั่ง จาก 137 เหลือ 136 ที่นั่ง โดยไม่มีโอกาสทวงคืน

นอกจากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพิสดาร การแจ้งข้อกล่าวหากับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และการแจกใบส้มใบแรกให้ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เพียงเป็นพรรคแกนนำฝ่ายประชาธิปไตย ยังเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับ 1 มีความชอบธรรมมากที่สุดในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

จึงเป็นคำตอบได้อย่างดีต่อข้อครหาที่ว่าขณะนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามใช้กลไกทุกอย่างในมือบ่อนเซาะทำลายพรรคฝ่ายต่อต้าน เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ตกเป็นรองจากการเลือกตั้งได้ ส.ส.ไม่ตรงตามเป้า ทำให้พรรคของตนเองได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาล อยู่ในอำนาจต่อไป

มีมูลความจริงมากน้อยแค่ไหน

จากนี้อีก 65 เขตเลือกตั้งที่เหลือ กกต.จะพิจารณาแจกใบส้มให้ว่าที่ ส.ส.พรรคใด เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเสียส่วนใหญ่ตามที่หลายคนคาดการณ์กันไว้หรือไม่ เป็นประเด็นต้องติดตาม

รวมถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ กกต.เปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน

สุดท้ายจะได้รางวัล “ใบส้ม” ซึ่งจะกลายเป็นปัญหา “โดมิโน” ตามมา เหมือนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีต กกต. โพสต์เตือนไว้หรือไม่

เช่นเดียวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ที่ กกต.ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.สามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128

ที่การคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรค ที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คนได้หรือไม่

และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่

 

การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้ กกต.ตกเป็นเป้ารุมถล่มจากบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองและผู้คนจำนวนมาก

ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการผลักภาระ “เผือกร้อน” ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ กกต.มีอำนาจหน้าที่ตัดสินชี้ขาดได้เองว่าจะใช้สูตรใดในการคำนวณ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเขียนสูตรวิธีคิดคำนวณไว้ชัดเจน ไม่มีสูตรอื่น ถ้าหากคำนวณตามนั้นก็จบ คือพรรคได้คะแนนรวม 7.1 หมื่นจึงจะมี ส.ส. ส่วนพรรคที่ไม่ถึงก็ตัดออกจากการคำนวณ

ส่วนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาต้องเกิดขึ้นก่อนแล้วมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ การที่ กกต.ซึ่งมีอำนาจยังไม่วินิจฉัย แล้วไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แบบนี้ไม่รู้จะมี กกต.ไปทำไม

จะอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 เมษายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องกรณี กกต.ยื่นขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า กกต.ไม่สามารถใช้สิทธิยื่นต่อศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(1) ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231(1)

ส่วนที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2

ว่ากรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว

แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏว่า กกต.ได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ จึงยังไม่ถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.เกิดขึ้นแล้ว

คำร้องส่วนนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1(2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

 

จากมติศาลรัฐธรรมนูญ

ต้องรอดู กกต.จะบริหารจัดการกับ “เผือกร้อน” ที่กระดอนกลับมาอยู่ในมือตัวเองอย่างไร จะใช้สูตร 27 พรรคตามที่เคยยืนยันก่อนหน้านี้หรือไม่

รวมถึงอีกปมชี้ขาดสำคัญ

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้องตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ

ขอให้วินิจฉัยการเลือกตั้ง 24 มีนาคม เป็น “โมฆะ”

ขั้นตอนต่อไป หลัง กกต.ชี้แจงข้อสงสัยของผู้ร้อง เนื่องจากเป็นประเด็นเร่งด่วน อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเร่งด่วนให้ได้ข้อยุติทัน 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง

เป็นเรื่องใหญ่ให้ต้องลุ้นระทึก

เส้นทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม

จะถึงจุดสิ้นสุดอย่างอเนจอนาถในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่เดือนเศษ หรือจะเดินหน้าต่อไปด้วยความทุลักทุเล