ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/บันทึก ’30 ปี’ ยานยนต์ไทย จาก ‘ซีวิค 3 ประตู’ ถึง ‘จิมนี่’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

บันทึก ’30 ปี’ ยานยนต์ไทย

จาก ‘ซีวิค 3 ประตู’ ถึง ‘จิมนี่’

ช่วงหลังงานมอเตอร์โชว์และเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ บอกเลยว่าวงการรถยนต์บ้านเราหงอยๆ เหงาๆ สักหน่อย เพราะโหมไปหนักช่วงก่อนมอเตอร์โชว์

แต่จากงานมอเตอร์โชว์นี่แหละที่เกิดปรากฏการณ์ “ซูซูกิ จิมนี่” รถเล็กขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่นำเข้าทั้งคันจากญี่ปุ่น ทำให้ราคากระโดดไปเกิน 1.5 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ายอดจองพุ่งกระฉูดจนหมดโควต้าปี 2562 ในเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมเกิดปิ๊งขึ้นมาว่า…เอ…แล้วที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ใหญ่ๆ อะไรในแวดวงยานยนต์เมืองไทยบ้าง

คิดไปคิดมา ในรอบ 30 ปีมีอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน

 

เริ่มแรกผมยกให้ “ฮอนด้า ซีวิค 3 ประตู” หรือรุ่นเตารีด เจเนอเรชั่นที่ 5 ของตระกูลซีวิค เริ่มจำหน่ายปี 2536 ถือว่าเป็นรุ่นที่สร้างชื่อที่สุดให้กับฮอนด้าประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้คนไทยคุ้นเคยกับฮอนด้าในฐานะแบรนด์รถจักรยานยนต์เท่านั้น

ซีวิค 3 ประตู กลายเป็นกระแสร้อนแรงมากๆ ถึงขนาดเกิดปรากฏการณ์ซื้อ-ขายใบจอง

ในอดีตนั้นการซื้อรถยนต์ของไทยเริ่มจากจองซื้อและได้ใบจองมา จากนั้นก็รอรับรถอีกพักใหญ่ๆ

ฮอนด้า ซีวิค 3 ประตู นอกจากตัวรถที่น่ารักถูกใจวัยรุ่นแล้ว ราคาที่เปิดมาในรุ่นต่ำสุดถ้าจำไม่ผิดไม่ถึง 3 แสนบาท เรียกว่าพอเริ่มแนะนำเข้าสู่ตลาดก็เกิดกระแสฟีเวอร์ทันที

แทบทุกโชว์รูมของฮอนด้า ที่ในยุคนั้นไม่ได้มีเยอะนักเพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาดรถเก๋งในไทยได้ไม่นาน เนืองแน่นไปด้วยลูกค้าที่มาจองรถรุ่นนี้ และเมื่อความต้องการมาก จึงเกิดธุรกิจซื้อ-ขายใบจอง

จากราคาจองเพียง 5 พันบาท ปั่นไปหลักหลายหมื่น เรียกว่าใครอยากได้รถมาขับเร็วก็ต้องยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อใบจองของคนที่จองไว้ล็อตแรกๆ

รถรุ่นถัดมาที่สร้างปรากฏการณ์ให้เมืองไทย “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” รถปิกอัพดัดแปลงหรือพีพีวี ที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย จนทำให้ค่ายอื่นๆ ส่งรถประเภทเดียวกันมาทำตลาดในเมืองไทยกันจ้าละหวั่น

“โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” เป็นรถในโครงการไอเอ็มวี (Innovative International Multi-Purpose Vehicle) โครงการผลิตรถกระบะและกระบะดัดแปลง เพื่อส่งขายระดับโลก โดยย้ายฐานจากญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทย

มีรถในโครงการ 3 รุ่นคือ กระบะไฮลักซ์ วีโก้, ฟอร์จูนเนอร์ และอินโนวา รถครอบครัวลักษณะเอ็มพีวี 7 ที่นั่ง

“โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” เริ่มจำหน่ายในปี 2547 ด้วยรูปร่างหน้าตาและขนาดตัวถังใหญ่โตกว่าคู่แข่งในตลาด มีระบบขับเคลื่อนให้เลือกหลากหลาย เรียกว่าไม่แพ้รถตรวจการณ์อเนกประสงค์ หรือเอสยูวี ที่สมัยนั้นมีแต่ราคาหลายล้าน ทำให้เป็นที่ชื่นชอบ กลายเป็นรถพีพีวี ที่ขายดีที่สุดต่อเนื่องกันหลายปี

 

“นิสสัน มาร์ช” เก๋ง 5 ประตูถูกบันทึกว่าเป็นรถอีโคคาร์รุ่นแรกที่วางจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่ต่อจากกระบะ ที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ส่งออกทั่วโลก รวมทั้งต้องการให้คนไทยหันมาใช้รถขนาดเล็กประหยัดน้ำมันมากขึ้น

มีหลายค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อรับสิทธิ์ทางภาษีและอื่นๆ

แต่นิสสันเป็นค่ายแรกที่ส่งรถอีโคคาร์ลงสู่ตลาด และประสบความสำเร็จด้านยอดขายในทันที ด้วยตัวถังขนาดเล็ก ความประหยัดระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตร แม้ใช้เครื่องยนต์เพียง 1.2 ลิตร แต่ก็มีพลังมากพอที่จะขึ้นเขาลงห้วยได้สบาย

ความสำเร็จของนิสสัน มาร์ช ทำให้ค่ายนิสสันครองความเป็นเจ้าพ่อตลาดรถอีโคคาร์เมืองไทยต่อเนื่องหลายปีกวาดยอดขายสูงสุดให้นิสสัน ทำให้ค่ายอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์และยังรีๆ รอๆ อยู่ ต้องเร่งส่งรถเข้ามาร่วมแชร์ตลาด แต่ยอดขายก็สู้นิสสัน มาร์ช ไม่ได้

จนในอีกหลายปีให้หลังมาถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรถแล้วนั่นแหละ ที่ค่ายอื่นมียอดขายแซงหน้าได้บ้าง

ส่วนรถอีโคคาร์อีกรุ่นที่ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกันทั้งยอดขายและกระแสคือ “ซูซูกิ สวิฟต์” แต่เดิมซูซูกิ สวิฟต์ เป็นรถในเซ็กเมนต์ซิตี้คาร์ กลุ่มเดียวกับฮอนด้าแจ๊ซ หรือโตโยต้า วีออส เคยนำเข้าทั้งคันมาจำหน่ายในเมืองไทยแต่ไม่ฮือฮามากนักเพราะราคาเกิน 1 ล้านบาท

กระทั่งซูซูกิเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ จึงลดพิกัดซูซูกิ สวิฟต์ มาเป็นรถขนาดเล็ก ทันทีที่เปิดตัวมียอดขายระเบิดระเบ้อ ยิ่งในช่วงโครงการรถคันแรกที่ลดภาษีสรรพสามิตให้รถยนต์หลายรุ่นในเมืองไทย ตั้งแต่หลายหมื่นจนสูงสุด 1 แสนบาท

ซูซูกิ สวิฟต์ เป็นหนึ่งในรถที่มียอดจองมากที่สุด เรียกว่าจองกันข้ามปีกว่าจะได้ขับ สาเหตุนอกจากความนิยมและถูกมองว่าเป็นรถซิตี้คาร์ที่ลดน้ำหนักมาอีโคคาร์จนผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า

อีกส่วนมาจากจำนวนการผลิตของโรงงานซูซูกิ มีกำลังน้อยกว่าความต้องการหลายเท่านั่นเอง

 

ปิดท้ายด้วย “ซูซูกิ จิมนี่” รถเล็กสไตล์จี๊ป ที่มาเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ 2019 เป็นรถนำเข้าทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ราคาแพงเว่อร์วังมาก ประเทศไทยได้โควต้าในปี 2562 มาเพียง 80 คัน ก่อนเพิ่มเป็น 90 คัน เนื่องจากมีคนไทยสนใจแห่จองเต็มโควต้าในเวลาเพียง 6 วัน จนต้องปิดรับจอง

ในช่วงเปิดตัวใหม่ๆ นั้น แทบทุกคนตกใจกับราคาขายที่ประกาศออกมา 2 รุ่นย่อยคือเกียร์ธรรมดา 1,550,000 บาท และเกียร์อัตโนมัติ 1,650,000 บาท ที่แพงขนาดนั้นเนื่องจากเป็นรถนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน

ขณะที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เองก็ไม่ได้คาดหวังกับยอดจองมากนัก เพราะตั้งใจนำมาสร้างภาพลักษณ์ และเป็นรถที่ดึงดูดความสนใจในงานมอเตอร์โชว์เท่านั้น

แต่ที่ไหนได้ เพียง 6 วันหลังเปิดตัว บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ต้องประกาศปิดรับจอง เนื่องจากมียอดเกินโควต้าที่ได้รับจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว

ทั้งหมดนั้นคือปรากฏการณ์คร่าวๆ ในวงการยานยนต์ไทยรอบ 30 ปีที่ผ่านมา