เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ : “งาน” กับ “สิ่งแวดล้อม”

โลกในปัจจุบันและอนาคตของพรรคการเมืองควรถือกำเนิดขึ้นมาจากสิ่งดีๆ สองสิ่ง ดั่งลูกฝาแฝดที่คลานตามกันมา ลูกคนหนึ่งคือ “งาน” ส่วนลูกอีกคนหนึ่งคือ “สิ่งแวดล้อม”

จากภาวะวิกฤตโลกร้อนที่สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ สูญพันธุ์แบบก้าวกระโดด โลกจึงควรตั้งคำถามใหญ่เพื่อก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ที่ดีกว่าว่า “การลดโลกร้อนกับการจ้างงานจะมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมได้อย่างไร?”

มีการประเมินกันในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในขอบข่ายทั่วโลกว่าการพัฒนาที่พยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานจนทำให้แรงงานจำนวนมากว่างงานหรือมีรายได้น้อยลงอันเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นให้เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นเช่นพวกเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลายซึ่ง “เป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมากถึงร้อยละ 38 ของแรงงานทั่วโลก”[1] อยู่ในขณะนี้

การพยายามก้าวข้ามเพื่อนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่เห็นคนเรือนแสนจาก “ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง” ในหลายเมืองของประเทศฝรั่งเศสที่ออกมาชุมนุมประท้วงจนเกิดความโกลาหลแผ่ขยายตัวไปทั่วด้วยเหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศขึ้นภาษีน้ำมันอันมีผลทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเพื่อต้องการลดโลกร้อนด้วยการมุ่งลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและระดมทุนสนับสนุนพลังงานสะอาด

แต่กลับส่งผลกระทบต่อประชาชนฝรั่งเศสที่เป็นชนชั้นแรงงานจำนวนมากที่มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง

ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพายานพาหนะส่วนตัวแทนระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าไปไม่ถึงในการเดินทางไปทำงานและประกอบกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

เหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “งาน” กับ “สิ่งแวดล้อม” มักปะทะขัดแย้งกันอยู่ตลอดมา

จนอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาทางชนชั้นได้เสมอ

แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มีหลายรูปแบบ

ดังเช่นเหตุการณ์หนึ่งในประเทศไทยก็มีรูปแบบแตกต่างออกไป

สหภาพแรงงานหนึ่งร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการเกณฑ์ชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการมาทุบตีสลายการชุมนุมของชาวบ้านปากมูลที่รวมตัวชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลอยู่ที่หัวงานเมื่อปี 2536 เป็นต้น

ความขัดแย้งเช่นนี้อีกหลายๆ เหตุการณ์ในสังคมไทยไม่ได้เป็นปัญหาชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน หรือชนชั้นนำกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเหมือนในกรณีขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง

แต่เป็นเรื่องของชนชั้นล่างถูกชนชั้นผู้ปกครองมอมเมา ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังจนสามารถใช้กำลังประทุษร้ายชาวบ้านด้วยกันเองได้

ทั้งเหตุการณ์ในฝรั่งเศสของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองและเหตุการณ์การคัดค้านเขื่อนปากมูลในไทยถึงแม้จะมีรูปแบบแตกต่างกัน และไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางชนชั้นหรือไม่ก็ตาม

แต่มันนำมาสู่คำถามว่าทำไม “งาน” กับ “สิ่งแวดล้อม” ถึงอยู่ร่วมกันไม่ได้?

หรือทำไม “งาน” กับ “สิ่งแวดล้อม” มักเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่เสมอ?

 

ในไทยเองก็ยังไม่เห็นว่าจะมีสหภาพแรงงาน ขบวนการแรงงาน และพรรคการเมืองใดมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนงานและชุมชนรอบโรงงานหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่โดยออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลในเรื่องปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ถูกปล่อยออกจากปลายปล่องของโรงงานที่ก่อผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ในขณะนี้

ไม่มีคำถามใดจากขบวนการแรงงานและพรรคการเมืองถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ว่าออกคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทเช่นโรงไฟฟ้าขยะสามารถตั้งอยู่ในชุมชนและพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ดินและอากาศเหมาะสมต่อเกษตรกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร

รวมถึงคำถามต่อกฎหมายโรงงานฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี

แก้ไขนิยาม “โรงงาน” เพื่อทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็นโรงงานตามกฎหมายแรงงานอีกต่อไป

ส่งผลให้เกิดการปล่อยผีโรงงานไม่น้อยกว่า 70,000 แห่งทั่วประเทศหลุดจากการเป็นโรงงานที่ไม่ต้องได้รับการควบคุม ดูแล กวดขัน เฝ้าระวัง ติดตาม ตามกฎหมายโรงงานอีกต่อไป

เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบของโรงงานที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องจักรและนำคนงานมาทำงานล่วงหน้าไปก่อน แล้วจึงค่อยขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4)

และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) แล้วแต่กรณีให้ได้รับอนุญาตหรือผ่านความเห็นชอบภายหลังได้ ฯลฯ

 

การเลือกตั้งที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่บ้านเมืองหลังจากห่างหายไปเกือบห้าปี แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร คสช. ตรงที่ช่องทางของสิทธิ เสรีภาพและพลังประชาชนในการชุมนุม เคลื่อนไหว กดดัน ต่อรอง เรียกร้อง ร้องเรียนเพื่อการต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุนเปิดกว้างมากกว่า

แต่โดยเนื้อแท้แล้วพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายมีสิ่งเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง

นั่นคือยึดถือ “ตัวแบบการพัฒนา” เดียวกัน ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้การชี้วัดแบบ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นหลัก

ซึ่งตัวชี้วัดนี้ละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อม

และด้วยการยึดถือตัวแบบการพัฒนาเดียวกันของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายนี่เองจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วสลับข้างอยู่เสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จากที่เคยเป็นประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการ

จากที่เคยเป็นเผด็จการก็กลายเป็นประชาธิปไตยก็มี

แต่ส่วนใหญ่แล้วทิศทางเปลี่ยนขั้วสลับข้างมักพบเห็นฝ่ายประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายเผด็จการเสียมากกว่า

เนื่องจากการเข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายใดก็ตามจำเป็นต้องใจร้ายมากขึ้นกับประชาชน

ถ้าใจดีเกินไปโดยปล่อยให้ประชาชนสร้างพลังต่อรองกับรัฐมากเกินไปก็จะทำให้การเรียกร้องของภาคประชาชนเป็นอุปสรรคต่อรัฐที่จะผลักดันนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่หนุนเสริม GDP

 

แต่ตัวแบบการพัฒนาที่เหมือนกันของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายที่ยึดมั่น GDP ก็แตกย่อยออกเป็นสองแนวทางตรงที่ยามใดที่บ้านเมืองปกครองโดยระบอบเผด็จการ, ยามนั้นตัวแบบการพัฒนาจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะ “มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เสรีภาพของประชาชนถูกกดปราบ”

ซึ่งต่างจากการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่ถึงแม้จะ “มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประชาชนยังมีเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น” ได้ดีกว่า

ตรงจุดที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสร้างความแตกต่างนี้ถือเป็นเรื่องดีต่อประชาชนอย่างยิ่ง

แต่ก็ยังไม่พอ เพราะตัวแบบการพัฒนาทั้งสองแนวทางยังยึดมั่น GDP มากเกินไป นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่นับวันจะมีช่องว่างถ่างกว้างออกไปมากยิ่งขึ้นแล้ว

การตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งถูกมองข้ามมากขึ้นเช่นเดียวกัน

การเลือกตั้งจึงควรมีพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางที่สามเป็นตัวแบบการพัฒนาใหม่ขึ้นมา นั่นคือ คำนึงถึง “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและธรรมชาติ และประชาชนมีเสรีภาพการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น”

จะต้องมีพรรคการเมืองที่กล้าหาญสร้างความแตกต่างทางนโยบายเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่าง “งาน” กับ “สิ่งแวดล้อม” ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นกว่านี้โดยไม่กดปราบเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะอยู่ฝ่าย “งาน” หรือฝ่าย “สิ่งแวดล้อม” ก็ตาม

เช่น มีนโยบายยกเลิกโครงการพัฒนาที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ธรรมชาติและวิถีชีวิตของประชาชน เช่น ยกเลิกโครงการโขง-เลย-ชี-มูล โครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง

ส่วนเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วเช่นเขื่อนปากมูลควรทุบทิ้งเสียเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงให้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมาใหม่

ยกเลิกนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะจะมีการแย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชนรุนแรงเกินไป

ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้วัตถุดิบถ่านหินทั้งหมด

ผลักดันกฎหมายอากาศบริสุทธิ์โดยบังคับให้การปล่อยฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และฝุ่นนาโนที่มีขนาดเล็กกว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ออกสู่บรรยากาศเป็นไปตามหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกให้มากที่สุด

และกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่แหล่งกำเนิดมลพิษและปลายปล่องโรงงาน และเปิดช่องให้ประชาชนฟ้องให้ลงโทษรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าไม่นำมาตรการต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไปปฏิบัติ เป็นต้น

 

พรรคการเมืองควรตระหนักอย่างจริงจังว่าการเร่งรัดการพัฒนาเพื่อทำให้บ้านเมืองเรามีเศรษฐกิจเจริญเติบโตตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่การเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2504 ได้ทำให้สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ ระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ อากาศ ผืนดิน ป่าชายเลน ภูเขา ท้องทะเล ชีวิตผู้คน ฯลฯ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

เริ่มต้นของปีนี้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลถูกโจมตีโดยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จนเกิดสภาพอากาศเลวร้ายต่อเนื่องยาวนานก็เป็นเหตุบ่งบอกได้อย่างดี พรรคการเมืองควรตระหนักอย่างจริงจังว่าบ้านเมืองที่สวยงามคือบ้านเมืองที่หายใจด้วยอากาศสะอาด มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้ มีอาหารปลอดภัยจากสารพิษ หรือการใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีอากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด อาหารปลอดภัยจากสารพิษนั้น

สิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

—————————————————————————————————————–
[1] คำนำจากหนังสือ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม : การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย. รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ. ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 (ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ได้ที่ http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14386.pdf)