บทวิเคราะห์ : ลิเบียยังนองเลือด ในวันไร้เงากัดดาฟี

ลิเบียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่บ้านเมืองยังคงอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ไร้เสถียรภาพ

นับจากเกิดปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่นำไปสู่การล่มสลายของยุคมืดภายใต้ระบอบอำนาจ “โมอามาร์ กัดดาฟี” นักปฏิวัติชาวลิเบีย ซึ่งทอดเงาปกคลุมลิเบียมาเนิ่นนานถึง 40 ปีไปแล้วก็ตาม

แต่นับจากวันสิ้นลมหมดอำนาจของกัดดาฟีในช่วงปลายปี 2554 จนถึงวินาทีนี้ ประเทศลิเบียยังไม่มีวันสงบสุข หากแต่ยังคงเต็มไปด้วยเหตุสู้รบนองเลือด การเมืองไร้เสถียรภาพ และการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของกลุ่มฝักใฝ่ฝ่ายต่างๆ อย่างดุเดือด

สถานการณ์ในลิเบียตอนนี้ยังอยู่ในภาวะล่อแหลม ที่เสี่ยงต่อการระเบิดเป็นสงครามกลางเมืองรุนแรงหนักยิ่งขึ้น

หลังจากเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ กองทัพแห่งชาติ (แอลเอเอ็น) ภายใต้การบัญชาของนายพลคาลิฟา ฮัฟตาร์ หนึ่งในอดีตนายทหารที่เข้าร่วมกับกัดดาฟีในการก่อการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ไอดริสแห่งลิเบียในปี ค.ศ.1969 ได้เคลื่อนกำลังรุกเข้าใกล้หมายยึดกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย ที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐบาลนายฟาเยซ อัล-ซาร์ราจ นายกรัฐมนตรีลิเบีย

ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรองว่ามีอำนาจปกครองลิเบียโดยชอบธรรม

 

การรุกคืบโจมตีเข้ามาเรื่อยๆ ของกองกำลังแอลเอเอ็น เริ่มจากการยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของลิเบียซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทรายมาตั้งแต่ช่วงต้นปี

ก่อนเข้าประชิดกรุงตริโปลีเมื่อ 4 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการส่งเครื่องบินรบปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายยุทธศาสตร์ของกองกำลังรัฐบาลอัล-ซาร์ราจ

โดยการโจมตีเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามของกองกำลังแอลเอเอ็นเพียง 3 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบครึ่งร้อย บาดเจ็บอีกเกือบ 200 คน

ขณะที่ข้อมูลของยูเอ็นยังชี้ว่าเหตุการณ์สู้รบของกองกำลังทั้งสองฝ่ายได้ทำให้ชาวลิเบียต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นไปแล้วมากกว่า 3,400 คน

และหากทุกฝ่ายยังไม่ยอมยุติความรุนแรง จะยิ่งฉุดลากสถานการณ์ในลิเบียให้ตกอยู่ในห้วงวิกฤตนองเลือดหนักยิ่งขึ้น

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับโครงสร้างความขัดแย้งภายในประเทศลิเบียโดยสรุปกันก่อน

 

ซึ่งจริงๆ แล้วในรายละเอียดค่อนข้างมีความซับซ้อนมากพอสมควร แต่โดยสรุปนับหลังจากระบอบอำนาจกัดดาฟีล่มสลาย ได้มีกลุ่มอำนาจต่างๆ ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธที่พยายามจะเข้ายึดพื้นที่และควบคุมอำนาจปกครองในลิเบีย ก่อนที่จะคุมอำนาจ 2 ฝ่ายหลักที่ควบคุมพื้นที่และอำนาจปกครองในลิเบียเอาไว้ได้

กลุ่มแรกคือรัฐบาลแห่งชาติ (จีเอ็นเอ) ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของนายอัล-ซาร์ราจ โดยรัฐบาลชุดนี้ก่อเกิดจากกระบวนการเจรจาสันติภาพลิเบียในปี 2015 ซึ่งมียูเอ็นให้การสนับสนุนอยู่ โดยมีกรุงตริโปลีเป็นฐานอำนาจปกครอง

ส่วนอีกกลุ่มเป็นรัฐบาลคู่แข่งที่มีนายพลฮัฟตาร์เป็นพันธมิตรสนับสนุน ซึ่งควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของลิเบียเป็นที่มั่นตั้งฐานอำนาจ และปฏิเสธที่จะยอมยกอำนาจบริหารประเทศให้กับรัฐบาลแห่งชาติในกรุงตริโปลี

ชนวนของสถานการณ์สู้รบอันตึงเครียดล่าสุดในลิเบียเกิดขึ้นเมื่อนายพลฮัฟตาร์ประกาศที่จะผนึกลิเบียให้เป็นปึกแผ่น หลังจากที่กองกำลังแอลเอเอ็นของนายพลฮัฟตาร์สามารถยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันมาจากกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ไว้ได้แล้ว

ก่อนจะเคลื่อนกำลังยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศพร้อมกับการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ในพื้นที่

และประกาศเดินหน้าต่อที่จะยึดกรุงตริโปลีจากรัฐบาลแห่งชาติของนายอัล-ซาร์ราจต่อไป

 

สถานการณ์สู้รบในลิเบียยังถูกมองว่ากำลังเป็นสมรภูมิตัวแทนของกลุ่มอำนาจต่างชาติที่มีผลประโยชน์ในประเทศนี้

ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าในฝ่ายของนายพลฮัฟตาร์นั้นมีอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นพันธมิตรถือข้างอยู่

ส่วนรัฐบาลแห่งชาติของนายอัล-ซาร์ราจ นอกจากมียูเอ็นให้การสนับสนุน ยังมีอิตาลี ตุรกีและกาตาร์เป็นแบ๊กอัพใหญ่

โดยในส่วนของอิตาลีนั้นถูกมองว่าผลประโยชน์หลักโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในลิเบียนั้นเป็นเพราะความห่วงกังวลต่อประเด็นเรื่องผู้อพยพ ที่ผลของสงครามความขัดแย้งในภูมิภาคนี้จะยิ่งทำให้ผู้อพยพหนีภัยสงครามความรุนแรงตลอดจนอดอยากยากแค้น ให้หลั่งไหลเข้ามาในยุโรปไม่หยุด

อย่างไรก็ดี ในขณะที่สถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลคู่ปรับ 2 ฝ่ายในลิเบียยังดำเนินไป

ฟากยูเอ็นก็ยังคงดำเนินความพยายามผลักดันให้การประชุมที่ถูกวางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึง เพื่อเป็นเวทีให้คู่ขัดแย้งหาทางเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งและกำหนดแผนโรดแม็ปที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งขึ้นในลิเบีย ด้วยหวังใจว่าจะเป็นหนทางออกให้ลิเบียหลุดพ้นจากวงจรสงครามความขัดแย้ง

ที่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่…