ต่างประเทศอินโดจีน : “แพงโกลิน” สัตว์ในภาวะอันตราย

คนไทยเรียกแพงโกลินว่าตัวลิ่น หรือตัวนิ่ม

ส่วนชื่อแพงโกลินที่รู้จักกันในสากลนั้น เป็นคำเพี้ยนเสียงมาจากภาษามลายู ซึ่งเรียกเจ้าตัวนี้ว่า “เปงกูลิง” แปลหยาบๆ แบบเอาความได้ว่า “อะไรสักอย่างที่ขดเป็นก้อน”

ที่เรียกอย่างนั้นเพราะลิ่นชอบขดตัวเป็นก้อนกลมมองไม่เห็นหัวเห็นหางในยามนอน หรือเมื่อระแวงภัย เพื่อปกป้องส่วนหน้าท้องที่เปราะบางที่สุดของตัวเองด้วยเกล็ดหนาแข็งที่ปกคลุมส่วนอื่นๆ ทั้งหมด

เกล็ดหนา แข็ง ที่ว่านี้ปกคลุมผิวส่วนอื่นๆ ของลิ่นทั้งหมดนั้นทั้งแข็งทั้งหนา จนมีน้ำหนักรวมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักลิ่นแต่ละตัว

ทั้งโลกมีแพงโกลินอยู่ 8 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้พบในเอเชียอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ไชนีส แพงโกลิน กับซุนดา หรือมลายัน แพงโกลินอีก 6 สายพันธุ์ที่เหลืออยู่ในทวีปแอฟริกา

ถิ่นอาศัยของลิ่นมักเป็นป่าเมืองร้อน, ป่าโปร่ง หรือแม้แต่ในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าซาวันนาห์ ส่วนใหญ่มักอยู่กับต้นไม้ ใช้หางขดพันกิ่งห้อยตัวอยู่ในพุ่มใบ หรือไม่ก็โพรงไม้ มีแต่ลิ่นจีนที่ขุดรูอยู่ใต้ดิน และได้ชื่อว่าเป็นนักขุดผู้มากความสามารถ รูหรืออุโมงค์ลิ่นจีนบางแห่ง ผู้ชายตัวโตๆ ลงไปยืนได้เลย

อาหารหลักของลิ่นคือ มด ปลวก และแมลงทั้งหลาย

นักชีววิทยาระบุว่า มันเป็นตัวคุมประชากรแมลงที่สำคัญ เพราะปี หนึ่งๆ ลิ่นกินแมลงไปมากถึง 70 ล้านตัว

หยิบเรื่องราวของลิ่นหรือนิ่มมาแจกแจงไว้ ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสิงคโปร์ตรวจยึด “เกล็ด” ลิ่นได้มหาศาลถึง 12.9 ตัน บรรจุกระสอบ 230 กระสอบยัดมาในตู้สินค้าที่สำแดงชนิดสินค้าเอาไว้ว่าคือ “เนื้อวัวแช่แข็ง” ต้นทางของสินค้าลักลอบนี้ระบุว่ามาจาก “ไนจีเรีย” ปลายทางคือประเทศ “เวียดนาม”

ในตู้ยังมี “งาช้าง” อีก 177 กิโลกรัม ทั้งหมดรวมกันประเมินมูลค่าเบื้องต้นไว้ที่ 38 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 1,200 ล้านบาท

เฉพาะเกล็ดลิ่นอย่างเดียวก็ถือเป็นการตรวจจับการลักลอบค้าเกล็ดลิ่นครั้งใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว

คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (เอ็นพีบี) ของสิงคโปร์ ซึ่งมีส่วนร่วมในการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าครั้งนี้ร่วมกับสำนักงานศุลกากร บอกคร่าวๆ ว่า กว่าจะได้เกล็ดลิ่นจำนวนเท่านี้ต้องล่าลิ่นมากถึง 17,000 ตัว

เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์และนักวิชาการด้านนี้ที่บอกว่า ลิ่นเป็นสัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดในโลก

ล่ากันจนลิ่น 2 ชนิดในเอเชียแทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ต้องหันไปหาลิ่นแอฟริกา แล้วก็ทำให้ลิ่นอีก 6 สายพันธุ์ที่นั่นตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกัน

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะลิ่นตัวเมียตกลูกปีละครั้ง ครั้งละตัว ในบางกรณีอาจตกลูกแบบปีเว้นปีด้วยซ้ำไป

ลิ่นนำมาเลี้ยงไม่ได้ เคยมีคนพยายามทำฟาร์มลิ่น แต่นำมาเพาะเลี้ยงได้ 2-3 เดือน อย่างมากที่สุดไม่เกิน 1 ปี ตายเกลี้ยง

มันจึงเป็น “สัตว์ป่า” โดยธรรมชาติเท่านั้น

ตลาดใหญ่ของลิ่นอยู่ในเอเชีย ใหญ่สุดเป็นจีน-ฮ่องกง รองลงมาเป็นเวียดนาม คนกัมพูชาและลาวที่มีเศรษฐฐานะสูงก็นิยม

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ถึงได้ขยับลิ่นขึ้นมาบรรจุอยู่ในภาคผนวก 1 ถือเป็นสัตว์ป่าที่ห้ามค้าเด็ดขาดในทุกกรณีมาตั้งแต่ปี 2016

การล่าลิ่นเกิดขึ้นเพราะคนกินลิ่น และเชื่อว่าเกล็ดของมันมีคุณสมบัติในการรักษาโรคหลายอย่าง

คนกินลิ่นด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่ามันหายากและแพง จึงกลายเป็น “เมนูเลิศหรู” และกลายเป็น “สัญลักษณ์แสดงสถานะ” ของคนกินไป

แทนที่จะคิดว่าเรากำลังกินด้วยความ “อยาก” และ “อำมหิต” ไม่ใช่เพื่อยังชีพ

ตำรับยาพื้นบ้านของจีนมี “เกล็ดลิ่น” เป็นส่วนประกอบ เชื่อกันว่ารักษาได้หลายโรค ซึ่งก็ไม่จริงอีกเช่นกัน

เพราะตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ส่วนประกอบหลักของเกล็ดลิ่นคือเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในเล็บคนเรานี่เอง

ไม่มีคุณสมบัติทางยาใดๆ ทั้งสิ้น

ถือว่าบอกกล่าวกันแทนลิ่นก็แล้วกัน