“นักสืบอาคม” กับ เส้นทางนักเขียนของ “จเด็จ กำจรเดช”

นักสืบอาคม “มันคือลูกชายของผม”

“พื้นฐานของนักสืบ อย่าลืมสังเกตผู้ต้องสงสัย คนทุกคนเป็นผู้ต้องสงสัย และของทุกชิ้นคือเบาะแส จินตนาการคือสิ่งที่จะผูกข้อสังเกตทั้งหมดเข้าด้วยกัน และมันจะทำให้เราคลี่คลายปริศนา” (น.28)

ก่อนเขียนถึง “นักสืบอาคม” งานวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกในชีวิตของ “จเด็จ กำจรเดช” นักเขียนรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ” ปี 2554 เราลองมาทำตัวเป็นนักสืบรุกเข้าไปสืบค้นที่มาหรือ “แรงบันดาลใจ” ในผลงานชิ้นนี้กันก่อนดีกว่า

ลองใช้แว่นขยายส่องเข้าไปที่ “คำนำนักเขียน” เราอาจพอแกะรอยหรือได้เบาะแสอะไรบ้าง

หนึ่ง วัยเยาว์ของผู้เขียนที่เติบโตมากับการอ่านวรรณกรรมเยาวชน

สอง ลูกชายคนเล็กที่ชอบอ่านการ์ตูนและวาดรูป และจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

สาม ฝันว่าลูกชายกลับมาในวัยสิบห้าปี

และสุดท้าย ลูกชายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสร้างสรรค์วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ขึ้นมา

“ผมให้เขาเป็นนักสืบฝึกหัด เข้าไปสืบเรื่องราวไม่ชอบมาพากลในวัด ที่ซึ่งเจ้าอาวาสเป็นหมอรักษากระดูกด้วยวิธีลึกลับ วัดที่เต็มไปด้วยรูปปั้นปีศาจ เขาไม่ต้องเป็นนักสืบจริงๆ เขาแค่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์แล้วคลี่คลายปริศนาทุกอย่าง ผมว่าถ้าเขาได้อ่านเขาคงชอบที่ตัวเองได้เข้าไปผจญภัยแบบนั้น?(น.7)

สิ่งซึ่งพอสัมผัสได้จากคำนำนักเขียน เราสืบความได้ว่านั่นคือคำสารภาพความในใจที่แสดงให้เห็นว่า “คนที่เรารักจะอยู่กับเราตลอดไป”

และเมื่ออ่านจนจบเล่ม เราอาจค้นพบความรู้สึกของการ “เฝ้ามอง” บางอย่างผ่านตัวละครนักสืบวัยสิบห้าปีที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ โดยมีพ่อผู้เป็นตำรวจเฝ้ามองอยู่นอกเหตุการณ์

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความรู้สึกของนักเขียนโดยแท้จริงที่อยากเห็นลูกชายจัดการกับปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตัวเอง

ความผูกพันที่ผู้เขียนมีต่อลูกชายคนเล็กจึงไหลเวียนอยู่ในเรื่องราว ราวกับว่าขณะที่เขียน เขาก็อ่านให้ลูกชายฟังไปพร้อมๆ กันจนเขียนจบ

“มันคือลูกชายของผม และผมเฝ้ามองเขาเติบโตอยู่ แม้ว่าความจริงอาจเป็นเขาที่เฝ้ามองผม”

ผู้เขียนบทความมักสนใจการเติบโตของนักเขียนเสมอว่า หลังจากที่ได้รับรางวัลซีไรต์การันตีแล้ว นักเขียนผู้ถูกประทับตราคนนั้นๆ จะมีพัฒนาการหลังจากนี้ต่อไปอย่างไร

อย่างนาม จเด็จ กำจรเดช นี่เห็นได้ชัดว่าเขาแตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้อย่างไม่หยุดหย่อน

นอกจากสไตล์การเขียนเรื่องสั้นที่กระชับ ตัดฉับ ไม่เยิ่นเย้อ รุกเข้าถึงอารมณ์ ลีลาวรรณศิลป์ในบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของเขาใน “ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า” ก็โดดเด่นพอๆ กับน้ำเสียงในเรื่องสั้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา

หรืออย่างในนวนิยายขนาดสั้นแต่ทรงพลังอย่าง “สะใภ้คนจีน” ถึงแม้จะสั้น แต่ก็สะท้านในอารมณ์และลุ่มลึกในความรู้สึกเมื่ออ่านจบไม่แพ้นวนิยายขนาดเขื่องเล่มใด

และพอจเด็จหันมาจับงานวรรณกรรมเยาวชน ก็แน่นอนว่าเราหยิบอ่านเพราะความคุ้นเคยกับชื่อนักเขียนก่อนเป็นอันดับแรก

ส่วนในลำดับถัดมาเราคงอยากรู้ว่าเขาจะนำเสนอวรรณกรรมเยาวชนออกมาในรูปแบบใดมากกว่า

ส่วนพล็อตโดยย่อก็อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำ แต่ถ้าจะให้ย่อยกว่านี้ ลงลึกในรายละเอียดมากกว่านี้ แนะนำว่าควรไปอ่านดื่มด่ำอรรถรสกันเอาเองน่าจะดีกว่า

เพราะสิ่งที่ผู้เขียนบทความให้ความสนใจและให้ความสำคัญ คือบทสนทนาสั้นๆ กับเจ้าของผลงานวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ต่างหาก

และนี่คือความคิดเห็นบางส่วนที่จเด็จเปิดใจเล่าให้ฟัง

“ผมไม่อยากให้คนซื้อเพราะเห็นเป็นชื่อของผมด้วยซ้ำ”

ความหมายก็คือ จเด็จอยากให้คนอ่านอ่านที่ “ผลงาน” มากกว่าติดที่ตัวนักเขียน แต่ครั้นจะเปลี่ยนไปใช้นามปากกาก็ดูจะยุ่งยากเกินไป เพราะกลุ่มแฟนที่รู้จักผู้เขียนอยู่แล้วก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่นักอ่านกลุ่มเยาวชนที่ไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขาเลยก็มีอยู่ไม่น้อย ผลงานชิ้นนี้อาจจะเจาะกลุ่มใหม่ๆ ได้โดยที่ชื่อของเขาไม่มีผลกระทบใด และโดยส่วนตัวผู้เขียนบทความก็เห็นแล้วว่าเป็นเช่นนั้นจริง เพราะจเด็จได้ลดทอน “สไตล์จเด็จ” อย่างที่แฟนๆ คุ้นเคยในกลิ่นอายสำนวนภาษาของเขาออกไปคือ เล่าง่ายขึ้น อ่านง่ายขึ้น และที่สำคัญน่าติดตามแบบหน้าต่อหน้า

“หน้าปกก็เหมือนกัน ไม่อยากให้ชี้นำเกินไป”

นี่คือความตั้งใจที่จเด็จอยากให้คนอ่านค่อยๆ ติดตามเรื่องราว สืบค้น และพบเจอความลึกลับบางอย่างที่ซุกซ่อนหรืออำพรางเอาไว้จริงๆ ภาพหน้าปกหนังสือเล่มนี้มีไม้ไผ่ตั้งเรียง มีเปรตตัวหนึ่งแทรกคั่น มีนกฮูก และด้านหลังมีพระจันทร์กลมโต หลังปกมีเปรตสองตัวยืนหันหน้าเข้าหากัน แน่นอนว่าในเรื่องจะต้องมีเปรต และมันคงมีความสำคัญจนต้อง “ขึ้นปก” แต่จะมีความสำคัญอย่างไรอันนี้น่าติดตาม

“แน่นอนว่ายังคงต้องมีเล่มต่อๆ ไป”

อย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ในคำนำว่า ตัวละครนักสืบของเขาจะยังมีต่อ เมื่อผู้อ่านอ่าน “นักสืบอาคม” เล่มนี้จบลงแล้ว “บางคน” อาจจะยังค้างคารู้สึกว่ามันจบแล้วจริงๆ หรือควรมีภาคต่อจากนั้น ซึ่งเหมือนว่าจบแบบนี้มันจะยังไม่คลี่คลายในความเป็นหนังสือแนวนักสืบ ตรงนี้ก็คงแล้วแต่ว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้โดยมีจุดเริ่มในใจว่าต้องมีตอนจบที่สมบูรณ์แบบอยู่ก่อนแล้วเหมือนงานของอกาธา คริสตี หรือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ หรือเปล่า ซึ่งตัวละครก็ได้บอกเป็นนัยไว้ในตอนต้นแล้วว่า “ผมไม่อินกับพระเอกคนนี้”

“เด็กวัยสิบห้าปี ยุคสมัยนี้ โตกว่าที่เราคิด”

และหากมีคำถามระหว่างทางที่อ่านกับนักสืบฝึกหัดวัยสิบห้าปีคนนี้ว่าทำไมมันช่างรอบรู้ กล้าพูดกล้าแสดงออกและโตเกินวัยขนาดนี้ คงเป็นสิ่งที่เราอาจคิดหรือรู้สึกไปเอง และความคิดหรือรู้สึกไปเองนี้ จเด็จก็ได้ดักทางคนอ่านโดยเขียนใส่ปากตัวละครไว้เรียบร้อยแล้ว “ผมเคยเถียงว่าพ่อก็เหมือนนิยายสำหรับเด็ก พวกนักเขียนถูกฝังหัวว่าเด็กต้องได้รับแต่สิ่งดีๆ ห้ามมีคำพูดหยาบๆ และฉากรุนแรง ดังนั้นเด็กจะได้อ่านแต่เรื่องที่เต็มไปด้วยสิ่งดีงาม คำพูดเพราะๆ แม้ว่าในชีวิตจริงจะอยู่กับแต่ความรุนแรง”

ซึ่งแน่นอนว่านวนิยายนักสืบสมัยใหม่อาจจะมีกลวิธีการนำเสนอที่ดึงดูดความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น งงงวยมากขึ้น และที่สำคัญไม่จำเป็นว่าจะสืบพบเจออะไรหรือไม่เจออะไรเลย ตัวอย่างนี้สามารถหาอ่านได้ในผลงาน New York Trilogy ของพอล ออสเตอร์ ซึ่งการเล่นและเล่าในลักษณะคลุมเครือ สะท้อนการกลับเข้าไปสำรวจตัวเองนี้ อาจทำให้คนอ่านต้องทำการบ้านเพิ่มหรือคิดต่อเอาเองตามความเข้าใจของแต่ละคน ผู้เขียนจึงไม่จำเป็นต้อง “ชี้นำ” หรือมีบทสรุปให้คนอ่านเข้าใจในแบบเดียวกัน

“ผมยังคงไม่บอกหมดตั้งแต่เล่มแรก ค่อยๆ เผย เหมือนเวทมนตร์ใน Harry Potter ค่อยๆ เดินเข้าไปสู่เหตุการณ์เหมือนใน The Lord of the Ring เหมือน Iron Man ที่ชุดเกราะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ”

ในวรรณกรรมเยาวชน “นักสืบอาคม” เล่มนี้ ช่างมีกับลูกชายและลูกสาวที่ช่วยกันทำเรือพระอยู่ที่วัดซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ลูกสาวที่ชื่อสาววัยเดียวกับอาคมนั้น เธอพูดไม่ได้ เป็นใบ้ แต่เธอสามารถสื่อสารทางจิตกับอาคมได้ ทั้งสองจะค่อยๆ พัฒนาความสามารถพิเศษนี้เพื่อใช้สื่อสารระหว่างกันในเวลาต่อมา ทักษะความสามารถนี้น่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเล่มต่อๆ ไป

และโปรดอย่าลืมว่า นี่คือบทเริ่มต้นก่อนเปิดประตูมิติของนักสืบที่ชื่ออาคม

เส้นทางอาชีพของเขายังคงเดินทางอีกยาวไกล ไม่ต่างจากเส้นทางนักเขียนของ “จเด็จ กำจรเดช” ซึ่งทำให้เราได้เห็นแล้วในวันนี้ โดยไม่ต้องไปสืบเสาะค้นหา คือคำว่า “นักเขียนต้องเขียน” และไม่หยุดอยู่กับที่นั้นเป็นอย่างไร