สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ไทยไม่มนุษย์ต่างดาว มีประวัติศาสตร์ร่วมอุษาคเนย์

คนสมัยอยุธยายุคแรกสถาปนา พูดภาษาเขมร ถูกเรียกว่าขอม นานเข้าก็พูดภาษาไทย แล้วกลายตนเป็นคนไทย สอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ พระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา (ภาพนี้ถ่ายก่อนพัง) ได้ต้นแบบจากปราสาทอายุเก่าแก่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาในวัฒนธรรมเขมร เช่น ปราสาทพิมาย (จ.นครราชสีมา), ปรางค์ศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ (ภาพเก่าสมัย ร.5)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไทยไม่มนุษย์ต่างดาว

มีประวัติศาสตร์ร่วมอุษาคเนย์

 

“ไทยไม่เหมือนใครในโลก”

ถ้าจริงอย่างที่คนชั้นนำไทยชอบยกตนอวดอ้าง ไทยก็ต้องแปลกแยกเป็นมนุษย์ต่างดาว

ในความจริงแล้วไทยไม่ต่างจากเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีความเป็นมาร่วมกัน

ไทย เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีขึ้นจากการหล่อหลอมคนหลายเผ่าพันธุ์นับพันๆ ปีมาแล้วทางภาษาและประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ จนกลายตนเป็นไทย

ไทย ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไม่มีจริงในโลก แต่เป็นสิ่งสร้างใหม่ในยุโรปแล้วใช้ล่าเมืองขึ้น และใช้ทางการเมืองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คนไทยไม่มาจากไหน? แต่เป็นคนลูกผสมนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” อยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดยมีบรรพชนร่วมและวัฒนธรรมร่วม กับคนอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

  1. ไม่มาจากอัลไต ซึ่งเป็นแนวคิดสมัยอาณานิคม โดยลอกแบบอารยันอพยพจากทิศเหนือลงใต้
  2. ไม่เชื้อชาติบริสุทธิ์ เพราะเชื้อชาติเป็นสิ่งสร้างใหม่จากยุโรป เพิ่งเข้าไทยราว 100 ปีที่แล้ว แต่แท้จริงไทยเป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนมีสงครามกวาดต้อนผู้คนเข้ามาเป็นประชากร (ไม่ยึดครองดินแดน) จึงยิ่งผสมผสานร้อยพ่อพันแม่
  3. ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะอยู่กึ่งกลางอุษาคเนย์ คุ้นเคยคนแปลกหน้านานาชาติพันธุ์ไปมาค้าขายทั้งจากตะวันตกและตะวันออก มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูงมากทางสังคมและวัฒนธรรม นานเข้าก็ผสมกลมกลืนจนทุกวันนี้เรียกวัฒนธรรมไทย

 

ประวัติศาสตร์ร่วมอุษาคเนย์

 

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่ (ดินแดน) และผู้คน (ประชากร) เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว (ยังไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต) สืบเนื่องไม่ขาดสาย จนถึงสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีผู้คนทั้งไทยและไม่ไทยหลายชาติพันธุ์อยู่เคล้าคละปะปนกัน

ผู้คนพลเมืองในชีวิตประจำวันพูดภาษาตระกูลต่างๆ กัน ได้แก่ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต เป็นต้น โดยใช้ตระกูลภาษาไต-ไท เป็นภาษากลาง

ด้วยเหตุผลทางการค้าภายในภาคพื้นทวีป ผลักดันภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดึงดูดคนในตระกูลภาษาต่างๆ อยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท แล้วกลายตนเป็นไทย (ปรับปรุงจากคำอธิบายของ นิธิ เอียวศรีวงศ์)

ความเป็นไทยมีแรกเริ่มในรัฐอยุธยาจากคนนานาชาติพันธุ์ ลักษณะประสมประสานหลายเผ่าพันธุ์ สอดคล้องกับประวัติศาสตร์สยามในพระราชดำรัสของ ร.5

 

พระราชดำรัส ร.5 ประวัติศาสตร์สยาม

 

ร.5 ทรงแนะแนวทางประวัติศาสตร์สยามไว้ในพระราชดำรัส ทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร” เมื่อ พ.ศ.2450

[112 ปีมาแล้ว สมัยนั้นยังไม่มีศัพท์ว่าประวัติศาสตร์ ดังนั้น คำว่าโบราณคดี มีความหมายเดียวกับคำว่าประวัติศาสตร์]

มีสาระสำคัญว่าเริ่มที่รวบรวมประวัติศาสตร์เมืองสำคัญทุกแห่งในพระราชอาณาเขตประเทศสยาม ไม่ว่าเป็นชาติพันธุ์ใด, สมัยไหน ซึ่งบางแห่งย้อนหลังกลับไปได้นับพันปี โดยทรงจำแนกชัดเจนว่าประวัติศาสตร์ต้องไม่ใช่พระราชพงศาวดาร

บางตอนในพระราชดำรัสของ ร.5 มีดังนี้

“กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม”

[จากหนังสือ 111 ปี โบราณคดีสโมสร สมาคมโบราณคดี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 หน้า 17-22]

ครูบาอาจารย์นักวิชาการในสถาบันการศึกษาและหน่วยราชการเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ควรร่วมกันทบทวนอย่างถ่องแท้ในพระราชดำรัส ร.5 แล้วชำระสะสางประวัติศาสตร์แห่งชาติให้อยู่ในร่องในรอยมีหลักฐานวิชาการรองรับหนักแน่น

ถ้าไม่ทำ ผมก็ต้องเขียนซ้ำอย่างนี้ไม่สุดสิ้นดินฟ้าจนกว่าจะเปลี่ยนไป ตามภาระหน้าที่ของสื่อสาธารณะ

 

ประวัติศาสตร์แห่งชาติ

 

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยวิปริตผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยกีดกันคนไม่ไทย (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่) ออกไปพ้นๆ เพราะหลงเชื่อว่ามีจริงเรื่องชนชาติไทย “เชื้อชาติไทย” ตามที่เจ้าอาณานิคมยุโรปครอบงำไว้นานมากกว่า 100 ปีมาแล้ว

ประวัติศาสตร์ไทยเป็นเส้นเดี่ยวต่อเนื่องจากเหนือลงใต้ ซึ่งมีราชธานีไทยเป็นศูนย์กลาง เริ่มต้นที่อาณาจักรสุโขทัย ราชธานีแห่งแรก แล้วตามด้วยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ โดยขาดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ล้วนเป็นประวัติศาสตร์แต่งใหม่ “กึ่งนิยาย” เพื่อรับใช้การเมืองของรัฐไทยสมัยใหม่และสถาบันหลัก

[มีข้อมูลและแนวคิดอีกมากในหนังสือ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย ของ ธงชัย วินิจจะกูล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]