สงครามอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21

วิกฤติประชาธิปไตย (51)

สงครามอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21

สงครามอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21 มีด้านที่เป็นลักษณะพิเศษของตนหลายประการ

ขณะเดียวกันก็มีด้านของการสืบทอดจากการต่อสู้ในศตวรรษที่ 19 และ 20 และยังมีลักษณะร่วมกันอีกหลายประการ

ลักษณะร่วมและรูปแบบการต่อสู้ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

ข้อแรก สงครามอุดมการณ์ทั้งหลายนั้นกระทำต่อประชาชน ฝ่ายบริหารปกครอง และกองทัพของตนเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ขวัญกำลังใจ และความบากบั่นเสียสละ ยอมรับการนำจากศูนย์กลาง ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างพันธมิตรและข่มขวัญศัตรูคู่แข่งไปด้วย ในนี้ต้องมีการจัดตั้งองค์การสถาบันหลายรูปแบบเพื่อการเผยแพร่ข่าวสารที่ต้องการ

ข้อต่อมา ข่าวสารที่เป็นแกนกลางในการต่อสู้มีสามข้อด้วยกัน ได้แก่

ก) เราเป็นคนดี

ข) ศัตรูคู่แข่งเป็นคนเลว

ค) เราจะชนะ

เช่น การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทุนนิยมและสังคมนิยม ฝ่ายทุนนิยมจะส่งข่าวว่าทุนนิยมดี สังคมนิยมไม่ดี ทุนนิยมจะชนะ ฝ่ายสังคมนิยมก็จะกล่าวแบบเดียวกัน

ข้อที่สาม รูปแบบอาวุธทางความคิด ที่ใช้ในการโต้เถียงสร้างความชอบธรรม มีที่สำคัญคือ

ก) “คุณเป็นฝ่ายยั่วยุ เราเป็นฝ่ายป้องกัน” เช่น กลุ่มนาโตกล่าวว่ารัสเซียเป็นฝ่ายยั่วยุขณะที่ไปซ้อมรบประชิดพรมแดนรัสเซีย

ข) อธิบายความหมายที่ต่างกัน เช่น สหรัฐอธิบายความหมายของสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง จีนอธิบายอีกอย่างหนึ่ง

ค) การกล่าวว่าตนเป็นฝ่ายสันติภาพ เช่น สหรัฐที่ไปทิ้งระเบิดประเทศต่างๆ นับสิบก็กล่าวว่าเพื่อรักษาสันติภาพ

ง) “อะไรที่เป็นของฉัน ก็เป็นของฉัน อะไรที่เป็นของคุณ เอามาต่อรองกัน” (ดูบทความชื่อ The Return of Ideological Warfare ใน machenzieinstiture.com 28.04.2004)

สงครามอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมใหม่บางประการได้แก่

1) การขยายของโลกาภิวัตน์ และการแตกร้าวใหญ่ที่ตามมา

เหตุการณ์สำคัญที่แสดงการขยายตัวของกระบวนโลกาภิวัตน์ คือ

ก) จักรวรรดิสหภาพโซเวียตที่ได้ล่มสลายหันมาเดินทางทุนนิยม หลายประเทศในยุโรปตะวันออกและที่ร่วมในสหภาพโซเวียตเข้าร่วมกลุ่ม สหภาพยุโรป รัสเซียเองสลัดทิ้งอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์พัฒนาทุนตามแนวทางของตน

ข) จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกปลายปี 2001 หลังผ่านการเจรจามาราว 15 ปี การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แสดงว่าจีนได้ปรับเศรษฐกิจของตนให้บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งกลายเป็นหัวรถจักรหนึ่งของโลกาภิวัตน์

สังเกตได้ว่านับแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก สินค้าออกที่จีนส่งไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ยอดสินค้านำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทำให้สหรัฐต้องเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนมหาศาล ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อจีนในปี 2018 สูงถึงราว 419 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าทางการสหรัฐจะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากจีนแล้วก็ตาม การเป็นคู่ปรปักษ์และคู่แข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐจึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงได้ยาก

ในด้านการแตกร้าวใหญ่ของขบวนโลกาภิวัตน์ มีเหตุการณ์แสดงออกสำคัญคือ

ก) การก่อการร้ายสากลวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดปี 2001 ที่ต้องการต่อต้านการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐ และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ตามมายาวนานของสหรัฐ หลังสงครามนาน 17 ปี ลัทธิก่อการร้ายไม่ได้สงบลง ยังคงมีปฏิบัติการก่อการร้ายที่โน่นที่นี่ ไม่ได้ขาด บางส่วนแฝงอยู่ในการทหารของรัฐบาล เช่น การมีหน่วยปฏิบัติการข่าวสาร หน่วยรบพิเศษเคลื่อนที่เร็ว ปฏิบัติการลับ โดรนสังหาร เป็นต้น บางส่วนแทรกซึมเข้ามาในขบวนการชาตินิยมคนผิวขาว เช่น กรณีสังหารหมู่ที่สุเหร่า 2 แห่งที่นิวซีแลนด์ (ข่าวชื่อ “ชาวมุสลิมและผู้นำทั่วโลกประณามเหตุสังหารหมู่ที่นิวซีแลนด์” ใน voathai.com 15.03.2019)

ข) รัสเซียประกาศท้าทายโลกาภิวัตน์แบบสหรัฐ (2007) ต้องการสร้างโลกาภิวัตน์หลายขั้วอำนาจ โดยตนเป็นขั้วอำนาจหนึ่ง เสนออุดมการณ์ประชาธิปไตยเชิงอธิปัตย์ ขึ้นแข่งกับเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐ คอยเปิดโปงความไม่เป็นประชาธิปไตยในสหรัฐ เช่น การสอดส่องประชาชน การใช้สื่อกระแสหลักชักใยประชาชน การกระทำที่รุนแรงต่อประชาชนผิวสีและผู้อพยพ และที่สำคัญชี้ว่าสหรัฐเป็นพลังแห่งสงครามและความรุนแรง เป็นนักเปลี่ยนระบอบ ไม่ใช่พลังสันติภาพ การท้าทายนี้ขยายตัวเข้มแข็งขึ้นแม้สหรัฐตอบโต้อย่างดุเดือด มีใช้แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธสำคัญ

ค) วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ก่อผลกระทบสำคัญหลายประการ ทำให้สหรัฐที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง เพราะว่าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกไม่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจ ต่อมาทำให้พันธมิตรแอตแลนติก ต้องการมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นอิสระจากสหรัฐมากขึ้น เกิดความบาดหมางที่ยอมกันได้ยากระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป และที่สำคัญทำให้เกิดวิกฤติอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่และเสรีประชาธิปไตยขึ้นทั้งในสหรัฐและยุโรป

ง) ปักหลักเอเชีย (2011) เป็นนโยบายปิดล้อมการเติบโตของจีนตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา ก่อรูปแข็งตัวขึ้น จนมีปฏิบัติการเป็นเชิงสงครามในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงว่าการแตกร้าวในโลกาภิวัตน์ขณะนี้มีลักษณะเชิงโครงสร้างถาวรและยืดเยื้อ

2) อุดมการณ์สำคัญยิ่งขึ้น

โครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมมาสู่ภาคบริการ ทั้งด้านมูลค่าและคนงาน

สร้างคนงานทางด้านข่าวสารความรู้และวัฒนธรรมขึ้นจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่ง มีการพัฒนาของเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว เกิดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และสมาร์ตโฟน ที่มีการแข่งขันทางด้านการตลาดอย่างดุเดือด

ขณะนี้ (เดือนมีนาคม 2019) จำนวนผู้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตมีกว่าครึ่งของประชากรโลก ตกร้อยละ 56.1 และระหว่างปี 2000-2019 จำนวนผู้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1,104% และยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกา ปัจจุบันเอเชียเป็นทวีปที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดราว 2,190 ล้านคน เทียบกับในทวีปอเมริกาเหนือ 326 ล้านคน และยุโรป 718 ล้านคน

เกิดสื่อสังคมออนไลน์ ความจริงเสมือน สังคมหรือชุมชนเสมือนจริง การพัฒนาทางด้านการขนส่งเสริมให้ผู้คนสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

3) สังคมเปลี่ยนแปลงเร็ว จนยากที่จะมีอุดมการณ์หนึ่งครองใจผู้คนได้นาน มีผู้แสดงมากขึ้นตามไป การแบ่งงานกันทำที่ใหม่และซับซ้อน เกิดกลุ่มต่ำกว่ารัฐจำนวนมาก เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มความสนใจ กลุ่มเคลื่อนไหวสาธารณประโยชน์ ไปจนถึงกลุ่มก่อการร้าย ในระดับรัฐกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทวีความเข้มแข็งขึ้น

ในทางอุดมการณ์ เกิดบรรยากาศ “ร้อยบุปผาบานสะพรั่ง” แข่งขันกันว่าอุดมการณ์ใดจะครองใจผู้คนได้มากกว่ากัน อุดมการณ์ทุนนิยม เสรีประชาธิปไตย อุดมการณ์สังคมนิยม ลัทธิอนาธิปไตย ลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิพื้นฟูศาสนา เช่น อิสลาม คริสเตียน คริสต์ออร์ธอดอกซ์ และฮินดู ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ ลัทธิชนเผ่า ชาติภูมินิยม เป็นต้น

อุดมการณ์สมัยใหม่มักจำต้องมีการผสมหรือฟิวชั่นคล้ายกับอาหาร ต้องมีการปรุงให้ดีจึงนำมา โฆษณาขายออก เช่น จีนใช้ว่า ตลาดเชิงสังคมนิยม

การไต่ระดับสงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐ

ต้นปี 2019 มีรายงานกลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐ ชี้ว่า จีนกำลังทำสงครามอุดมการณ์เผยแพร่แนวคิด “ทุนนิยมแบบรวบอำนาจหรืออำนาจนิยม” เพื่อสู้กับอุดมการณ์ทุนนิยมเสรีหรือเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก

โดยโฆษณาว่า มีความเหนือกว่า ปฏิบัติการนี้จะกระทบต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและการปกครองของกฎหมายหรือ หลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานในการจัดการระเบียบโลกของตะวันตก กลุ่มงานข่าวกรองคาดหมายว่าจีนจะเพิ่มกิจกรรม ในการทำสงครามนี้ยิ่งขึ้น (รายงานข่าว US spies elevate China rivalry to war of ideologies ใน channelnewsasia.com 02.02.2019)

เอกสารฉบับนี้เป็นเหมือนการประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า สงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐได้เริ่มขึ้นแล้ว

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

สหรัฐจูบปากกับจีนในปี 1972 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันเดินทางไปเยือนจีน และได้เข้าพบประธานเหมา เจ๋อ ตง

ความหวานชื่นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเติ้ง เสี่ยว ผิง รัฐบุรุษของจีนเดินทางไปเยือนสหรัฐ และเข้าพบประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ในปี 1979

ทางฝ่ายสหรัฐคาดหวังว่า หลังจากปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ จีนที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก จะเกิดชนชั้นกลางและกระแสการเรียกร้องเสรีประชาธิปไตย กดดันให้รัฐบาลจีนจำต้องเปลี่ยนระบอบเป็นเสรีนิยมเหมือนตะวันตกไปด้วยในที่สุด แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง

กรณีเทียนอันเหมิน (ค.ศ.1989 ใกล้เหตุการณ์การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน) ที่ทางการจีนได้ใช้อาวุธหนักปราบปรามการลุกขึ้นสู้ทวงสิทธิประชาธิปไตยของนักศึกษา-ปัญญาชน-คนงานจีนจนราบคาบ ยืนยันการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไม่ยอมรับเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นอันขาด ได้จุดชนวนสงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรก

สหรัฐได้กดดันจีนในเรื่องนี้หลายประการ ได้แก่ การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ-การเมืองการทหารต่อจีน เป็นต้น

แต่สหรัฐกำลังติดภาระในการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก รุกคืบเข้าไปในรัฐที่เคยร่วมกับสหภาพโซเวียต และครอบงำรัฐบาลรัสเซียในสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน และไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเปิดศึก 2 ด้าน จึงไม่ปิดล้อมจีนอย่างหนาแน่น มีปฏิบัติการเพียงโจมตีทางอุดมการณ์ต่อจีนในประเด็นสิทธิมนุษยชน และเสรีประชาธิปไตยเป็นสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนการลุกขึ้นสู้ของชาวทิเบตและชาวซินเจียง เป็นต้น

ท่าทีสหรัฐต่อจีนแข็งกร้าวขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก (ดำรงตำแหน่ง 2001- ม.ค.2009) บุชประกาศในปี 2001 ว่า จะช่วยเหลือไต้หวันหากถูกโจมตี แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะช่วยเหลืออย่างไร

ที่ปฏิบัติมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การขายอาวุธทันสมัยให้แก่ไต้หวันในการป้องกันตนเอง

โดยรวมแล้วสหรัฐอยู่ในอาการพะว้าพะวัง ไม่รู้ว่าจะจัดการกับจีนอย่างไรดี ในขณะที่จีนเติบโตรุ่งเรืองขึ้นทุกที

ปี 2008 ที่เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐ อาการพะว้าพะวังดังกล่าวยิ่งสูงขึ้น เกิดปัญหาทางยุทธศาสตร์ว่า สหรัฐจะรักษาฐานะความเป็นอภิมหาอำนาจโลกต่อไปได้อย่างไร

มีคำตอบอยู่ 2 แนวทาง

ทางหนึ่งได้แก่ การสร้างกลุ่ม 2 คือแกนสหรัฐ-จีน ร่วมมือกันในการจัดระเบียบโลก อีกทางหนึ่ง คือการปิดล้อมจีน ประธานาธิบดีโอบามาเลือกปฏิบัติทั้งสองทาง

เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่ๆ โอบามาเดินทางไปเยือนจีนในปลายปี 2009 กล่าวว่า “เนื่องจากความร่วมมือระหว่างเราทั้งสอง ทั้งสหรัฐและจีนมีความไพบูลย์มากขึ้น มั่นคงมากขึ้น” ในอีกทางหนึ่งโอบามาประกาศนโยบายปักหลักเอเชีย ที่มีลักษณะปิดล้อมจีน และเดินหน้าทำความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจข้ามแปซิฟิกกับหลายชาติ โดยไม่ให้จีนเข้าร่วม

ท่าทีของโอบามาต่อจีนถูกมองว่าอ่อนเกินไปในสายตาของชนชั้นนำสหรัฐ

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปรับแก้ใหม่ให้แก่ชัดเจนขึ้น ประกาศทำสงครามการค้าและสงครามอุดมการณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะเริ่มต้น ท่ามกลางความระส่ำระสายของนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติสหรัฐเอง

ทางฝ่ายจีนได้เสนอชุดอุดมการณ์ที่มีลักษณะสู้รบอย่างจริงจังในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ประกอบด้วย ความคิดสำคัญจะกล่าวในที่นี้ได้แก่

ก) “ความฝันของชาวจีน” (2013) มีลักษณะชาตินิยมและมุ่งให้จีนแสดงบทบาท ในประชาคมโลกมากขึ้น

ข) “ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมหาอำนาจ” จีน-สหรัฐ (2014) ได้แก่ การไม่เผชิญหน้ากัน การเคารพซึ่งกันและกัน การร่วมมือมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นความสัมพันธ์ใหม่ที่เปิดทางให้แก่การพัฒนาของจีน สร้างโลกหลายขั้วอำนาจขึ้น

ค) โครงการแถบและทาง (2013 มีการปรับปรุงขยายความเป็นระยะ) แสดงว่าจีนเป็นผู้นำกระบวนโลกาภิวัตน์ในยูเรเซีย

ง) การมีอนาคตร่วมกันของประชาคมโลก กับการแก้การขาดดุล 4 ประการ ได้แก่

1) การขาดดุลทางการปกครอง แก้ด้วยการสร้างความเป็นธรรมและความมีเหตุผล

2) การขาดดุลทางความเชื่อมั่น แก้ไข ด้วยการเจรจาปรึกษาหารือและความเข้าใจซึ่งกัน

3) การขาดดุลทางสันติภาพ มีความพยายามร่วมกันและช่วยเหลือกันและกัน

4) การขาดดุลทางการพัฒนา สร้างผลประโยชน์ร่วมกันและการเล่มเกมแบบชนะ-ชนะ (ดูบทความชื่อ Xi outlines 4-pronged proposal on global governance ใน english.cctv.com 27.03.2019)

พิจารณาจากการปฏิบัติและข้อเสนอทั้งสองฝ่าย เห็นได้ว่าสหรัฐเน้นในเรื่องอดีต ส่วนจีนเน้นเรื่องปัจจุบัน และอนาคต

ฉบับต่อไปกล่าวถึงเนื้อหาและผลสำคัญของสงครามอุดมการณ์จีน-สหรัฐเป็นอย่างไร