คุยกับทูต ‘เยฟกินี โทมิคิน’ มุมมองของมหาอำนาจหมีขาว หลังผนวกไครเมียห้าปี

คุยกับทูต เยฟกินี โทมิคิน มุมมองของมหาอำนาจหมีขาว หลังผนวกไครเมียห้าปี (2)

“เราถือว่าความพยายามในการตั้งคำถามว่า คาบสมุทรไครเมียเป็นของรัสเซียหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ได้รับแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลในทางกฎหมาย”

เป็นคำชี้แจงจากนายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

“ประชาชนในคาบสมุทรไครเมียมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติโดยผ่านการออกเสียงประชามติที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลทั้งมวล ความพยายามใดๆ ที่จะตีค่าว่า การลงประชามติของชาวไครเมียทั้งหมดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.2014 เป็นสิ่งที่ผิด และตำหนิการครอบครองของรัสเซียนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะประชาชนในคาบสมุทรร้อยละ 97 ออกเสียงให้ความเห็นชอบในการกลับไปรวมตัวกับสหพันธรัฐรัสเซีย”

“คาบสมุทรไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1783 ต่อมาในปี ค.ศ.1954 รัฐบาลโซเวียตได้ให้คาบสมุทรไครเมียจากเดิมที่อยู่ในอำนาจศาลของสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพโซเวียตรัสเซีย (RSFSR) ไปอยู่ในอำนาจศาลของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (UkrSSR) เพื่อรำลึกถึงการครบรอบ 300 ปีของ “การกลับมารวมตัวของยูเครนเข้ากับรัสเซีย” (อ้างอิงถึงสนธิสัญญาเพเรยาสลาฟ – Treaty of Pereyaslav ที่ลงนามในปี ค.ศ.1654 โดยผู้แทนของเฮตม่านคอสแซ็กแห่งยูเครน-Ukrainian Cossack Hetmanate และซาร์อเล็กเซที่หนึ่งแห่งมัสโควี – Tsar Aleksei I of Muscovy)”

“รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความเชื่อใจและความรักอันไร้ขอบเขตที่ชาวรัสเซียมีต่อชาวยูเครน”

สนธิสัญญาเพเรยาสลาฟ มีเนื้อหาว่า ซาร์ตกลงพิทักษ์สาธารณรัฐคอสแซ็ก (Cossack Hetmanate)

“สนธิสัญญาดังกล่าวกระทำขึ้นแม้ว่าคาบสมุทรไครเมียไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับยูเครน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประวัติศาสตร์หรือจากความเป็นจริงทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ (ในทศวรรษ 1950 ประชากรของไครเมียซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.1 ล้านคนนั้น เป็นเชื้อชาติรัสเซียราวร้อยละ 75 และเป็นชาวยูเครนร้อยละ 25)”

ฉลองครบรอบปีที่ห้าของการรวมตัวของไครเมียเข้ากับรัสเซีย

“การเปลี่ยนแปลงเป็นนโยบายที่ได้รับการดลใจทางการเมืองของนายนิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้เคยได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขานุการเอกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในเดือนกันยายน ค.ศ.1953 แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างเหนียวแน่นในตอนต้นปี ค.ศ.1954 ยิ่งไปกว่านั้น ครุชชอฟยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูเครนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 จนถึงสิ้น ค.ศ.1949”

“สำหรับเมืองเซวัสโตปอล แม้กระทั่งในยุคโซเวียตก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไครเมียหากมองในแง่กฎหมาย และยังถูกปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลาง USSR ที่มอสโก”

“กระบวนการทางสังคมของคาบสมุทรไครเมียถูกกำหนดโดยการสนับสนุนที่ยั่งยืนและกว้างขวางจากประชาชนไครเมียด้วยเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาลสหพันธ์ ซึ่งอาจเห็นภาพได้จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นในสหพันธรัฐรัสเซียเมื่อวันที่ 18 มีนาคมปีที่แล้ว อันแสดงถึงผลอันขาดลอยในคาบสมุทร (ร้อยละ 71.43 ของรายชื่อผู้ลงคะแนนเสียง) และชัยชนะอย่างถล่มทลายของนายวลาดิมีร์ ปูติน (ร้อยละ 92.2 ของผู้ลงคะแนนเสียง)”

“วันนี้ สาธารณรัฐไครเมียและเมืองสหพันธ์แห่งเซวัสโตปอล ได้รับการบูรณาการเป็นอย่างดี โดยเป็นเขตสังคม-เศรษฐกิจ และกฎหมายเดียวกันของสหพันธรัฐรัสเซีย เราเห็นแผนงานการพัฒนาตามเป้าหมายถึงปี ค.ศ.2022 ที่ได้ถูกนำไปใช้ และการมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ตัวอย่างที่ดีของความคืบหน้าในเรื่องนี้คือ สะพานไครเมีย (Crimean Bridge) ซึ่งได้เปิดให้รถยนต์สัญจรแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว”

รัสเซียเปิดให้ประชาชนสามารถขับรถข้ามสะพานเชื่อมระหว่างรัสเซียกับแหลมไครเมียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.2018 หลังจากนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม และทดลองขับรถบรรทุกข้ามสะพานดังกล่าวด้วยตนเอง

สะพานเชื่อมไครเมียมีมูลค่ากว่า 228,000 ล้านรูเบิล หรือประมาณ 115,000 ล้านบาท เชื่อมจากภาคกราสโนดาร์ (Krasnodar) ทางตอนใต้ของรัสเซีย ข้ามทะเลดำ (Black Sea) และทะเลอาโซฟ (Sea of Azov) ไปยังเมืองเกียร์ช (Kerch) ของไครเมีย สะพานนี้มีความยาวทั้งสิ้น 19 กิโลเมตร เป็นทั้งถนนและทางรถไฟ จึงทำให้สะพานนี้เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป แทนสะพานบาสโก ดา กามา บริดจ์ (Vasco da Gama Bridge) ในเมืองลิสบอนของโปรตุเกส

“โดยไม่คำนึงถึงการมองเราในแง่ร้ายอย่างเป็นระบบ ไครเมียพอใจกับบรรยากาศที่ผู้คนต่างเชื้อชาติเข้ามาประสานสอดคล้องรวมกับคนกลุ่มน้อยทั้งหมด อีกทั้งรัฐบาลยังให้การรับรองต่อการปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไม่มีเงื่อนไข”

“ประชาชนหลากเชื้อชาติของไครเมียมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ทั้งในการพูด การชุมนุม และการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่ รวมทั้งภาษาตาตาร์ไครเมีย และภาษายูเครนซึ่งเป็นภาษาราชการ”