ต่างประเทศ : 25 ปีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “รวันดา” บาดแผลที่รักษาไม่หาย

เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ชาว “รวันดา” ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เดินทางมาถึงปีที่ 25 แล้ว

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กินระยะเวลานาน 100 วัน เป็นจุดสูงสุดของความขัดแย้งระหว่าง “ชนเผ่าฮูตู” และ “ชนเผ่าทุตซี” ชนกลุ่มน้อยผู้อพยพจากประเทศเอธิโอเปีย ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 800,000 คน หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 10 ของประชากรประเทศทางตะวันออกของแอฟริกาแห่งนี้

ทุกๆ วันที่ 7 เมษายน วันแรกที่การฆ่าล้างได้เริ่มต้นขึ้น ประธานาธิบดีพอล คากาเม จะทำพิธีเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่ส่วนใหญ่เป็นชาวทุตซี ที่อนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี ในกรุงคิกาลีพื้นที่ซึ่งเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 250,000 คนถูกฝังอยู่

ก่อนที่ในช่วงบ่าย ประธานาธิบดีคากาเม ผู้ที่นำกลุ่มกบฏทุตซี ขับผู้ก่อการชนเผ่าฮูตูออกจากประเทศ และอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีนับตั้งแต่นั้นจะทำพิธีไว้อาลัยที่สนามกีฬาแห่งชาติ “อมาโฮโร” สนามกีฬาที่มีชื่อในความหมายว่า “สันติภาพ” และเคยถูกใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สำหรับชาวทุตซี ผู้ตกเป็นเป้าสังหารในเวลานั้นด้วย

โดยชาวรวันดาจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 100 วัน

 

กลุ่มกองกำลังทหารชนเผ่าฮูตู แนวคิดสุดโต่ง ผู้ก่อการที่เป็นสมาชิกอดีตทหารรวันดาที่ตั้งชื่อกลุ่มว่า “อินเตอร์ฮัมเว” ได้รับแรงหนุนจากกระแสการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านชนเผ่าทุตซี ออกไล่ล่าชาวทุตซี รวมไปถึงชาวฮูตู ที่ให้ความช่วยเหลือชาวทุตซี ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 1994

โดยปฏิบัติการเกิดขึ้น 1 วันหลังจากประธานาธิบดีชาวฮูตู จูเวนัล ฮาบีอาริมานา ถูกลอบสังหารด้วยการยิงเครื่องบินที่ประธานาธิบดีโดยสารอยู่ตก

เหตุนองเลือดไล่ล่าฆ่าชนเผ่าทุตซี ทั้งการทารุณกรรม ไล่แทง และใช้ปืนยิงเสียชีวิตจำนวนมากกินเวลายาวนาน 100 วัน ก่อนที่นายพลคากาเม ผู้นำกลุ่มกบฏแนวร่วมแห่งชาติชาวทุตซีรวันดา (อาร์พีเอฟ) ที่ในเวลานั้นมีอายุ 36 ปี จะสิ้นสุดการนองเลือดได้สำเร็จในวันที่ 4 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

นับตั้งแต่นั้น รวันดาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แม้ประธานาธิบดีคากาเมจะยังคงไว้ซึ่งอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ตาม

 

“ใน 25 ปี หลายสิ่งที่เราสามารถทำได้สำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ” บรูซ มูรินกิรา พนักงานบริษัทโฆษณาวัย 24 ปี ผู้ที่เกิดหลังเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกับประชากร 2 ใน 3 ของประเทศที่มีประชากร 12 ล้านคนระบุ และว่า ประเทศรวันดาสามารถพัฒนาขึ้นได้มากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาแอฟริกัน (เอเอฟดีบี) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของรวันดาเติบโตขึ้นถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ที่ผ่านมา

การเติบโตดังกล่าวเป็นผลส่วนหนึ่งจากความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติที่เจ็บปวดจากความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวได้

เช่น ฝรั่งเศส ที่เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนับตั้งแต่นั้น เมื่อรวันดากล่าวหาว่าฝรั่งเศสสมรู้ร่วมคิดกับผู้ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการสนับสนุนรัฐบาลฮูตู และยังช่วยให้ผู้ก่อการหนีออกจากประเทศไปด้วย

แม้ฝรั่งเศสจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดามาโดยตลอด แต่อดีตประธานาธิบดีนิโกลา ซาโกซี ก็เคยระบุไว้เมื่อปี 2010 ว่า “ฝรั่งเศสได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ผิดพลาดไป”

ประชาชนชาวรวันดายังคงหวังว่าแนวนโยบายแห่งการปรองดองจะช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นในประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยรัฐบาลรวันดาประกาศแบนการกล่าวถึง “เผ่าพันธุ์” ในที่สาธารณะ พร้อมทั้งเน้นไปที่การติดตามตัวผู้ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเวลานั้นให้มารับโทษตามกฎหมาย

ปัจจุบัน ประเทศรวันดายังคงปกครองโดยประธานาธิบดีคากาเมที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อำนาจซึ่งถูกมองว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยในประเทศ ทว่าก็ไม่สามารถปิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตกว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

ประธานาธิบดีคากาเมได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 7 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ที่ผ่านมา โดยได้รับคะแนนเสียงด้วยสัดส่วนสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เริ่มใช้หลังการทำประชามติเมื่อปี 2015

เปิดทางให้คากาเมอยู่ในอำนาจได้ยาวนานถึงปี 2034

 

ถึงกระนั้น ก็มีสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงของประธานาธิบดีวัย 61 ปีผู้นี้ เมื่อเริ่มมีการปล่อยตัวผู้นำฝ่ายต่อต้านเป็นอิสระจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ก็เริ่มมีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภาแล้วเป็นครั้งแรกเมื่อปีก่อน คือพรรคกรีนเดโมเครติกของนายแฟรงก์ ฮาบิเนซา ที่ได้ที่นั่งในสภาจำนวน 2 ที่นั่งด้วยกัน

“ผมคิดว่าพรรครัฐบาลเริ่มรับฟังความเห็นต่างได้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพรรครัฐบาลเริ่มฟังมุมมองของเรา นโยบายของเราถูกนำไปพิจารณาในโครงการของรัฐบาล” ฮาบิเนซาระบุ

อนาคตของรวันดาอาจจะดูสดใสและมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าสำหรับผู้ที่สูญเสียสมาชิกครอบครัวไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกจะยังคงเป็นบาดแผลที่รักษาไม่หาย

เมื่อมือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เปื้อนเลือดยังคงรอดพ้นน้ำมือกฎหมายในเวลานี้

ขณะที่ญาติอันเป็นที่รักก็ยังไม่พบแม้กระทั่งร่างไร้วิญญาณ