ยุทธการขายท่องเที่ยว… บน “เรือครุยส์” นำเที่ยวขนาดใหญ่ เหนือทะเลบอลติก

ยุทธการขายท่องเที่ยว… บน “เรือครุยส์” นำเที่ยวขนาดใหญ่ เหนือทะเลบอลติก

ทะเลบอลติกเคยลี้ลับสำหรับคนไทยมาก่อน เนื่องจากอยู่ไกลถึงเขตยุโรปเหนือ มีคาบสมุทรสแกนดิเนเวียเป็นทะเลบริวารภูมิภาคเดียวกัน แล้วยังมีช่องแคบให้เชื่อมสู่ทะเลเหนือ มหาสมุทรแอตแลนติกได้อีกด้วย

ทะเลแห่งนี้เป็นท้องน้ำกว้าง 370,000 ตร.ก.ม. ขณะไทยมีอาณาเขตทะเล หรือ Maritime Zone ใกล้เคียงกัน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 อยู่ 323,488.32 ตร.ก.ม. โดยสามารถออกไปใช้น่านน้ำนอกเขตประเทศได้

บอลติกเป็นทะเล เคยอยู่ในความครอบครองของชนเผ่าไวกิ้ง ผู้เป็นทั้งนักรบ นักการค้า และนักแสวงหาแผ่นดินใหม่กลางทะเลลึก

ว่ากันว่า…ไม่มีชนชาติใดในยุคนั้นหาญกล้าเท่าชนเผ่านี้ ที่ชำนาญการเดินเรือ และใช้นกที่เลี้ยงไว้ในเรือเป็นนักสำรวจด่านหน้าบินขึ้นไปบนอากาศ

แล้วคอยสังเกตว่า ถ้านกบินกลับทางเดิม แสดงว่าทะเลไกลสุดกู่ไม่มีแผ่นดินปรากฏ แต่ถ้าบินตรงไปทิศใด ทิศนั้นก็จะมีแผ่นดินให้ชาวไวกิ้งค้นหากันต่อไป

ค.ศ.1066 เป็นยุคที่ชนเผ่านี้มีอิทธิพลเหนือสแกนดิเนเวีย คือ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ โดยได้ทิ้งมรดกความเป็นนักเดินเรือไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดกันมา

แล้วก็พัฒนารูปแบบเป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ เรียกว่า “เรือครุยส์ (Cruise)”

จัดเป็นเรือท่องเที่ยวเหนือทะเลบอลติก ให้ได้แรมวันแรมคืนไม่ต่างจากโรงแรม 5-6 ดาว เท่าอาคารสูง 12-20 ชั้น

ผู้นิยมเที่ยววิถีนี้มากสุดคือคนวัยหลังเกษียณ ซึ่งมีทุนทรัพย์และเวลามากพอที่จะสัญจรกับเรือประเภทนี้ได้นานเป็นเดือน ก่อให้เกิดธุรกิจเดินเรือนำเที่ยวกลางทะเลบอลติกขึ้นมามาก อาทิ ทัลลิ้ง ซิลย่า ไลน์สัญชาติสวีเดน, ไวกิ้ง ไลน์ สัญชาติฟินแลนด์, นอร์เวเจี้ยน, แคริบเบียน

ไทยมีพื้นที่ทะเลน้อยกว่าบอลติกเล็กน้อย แต่กลับไร้บทบาทเช่นทายาทไวกิ้ง ทั้งที่เรือเหล่านั้นก็ประสงค์จะนำคนหลายพันคนมาเยือนทะเลอาเซียน

ทว่าไม่สะดวกตรงที่แต่ละประเทศถึงจะมีทะเล ยกเว้น สปป.ลาว แต่กลับไม่มีท่าเทียบเรือมาตรฐานทันสมัยรับเรือครุยส์

มีเรื่องเล่ากันถึงเมื่อ 20 ปีก่อน…ในการประชุมประจำปีรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ได้เคยมีการเจรจาที่จะร่วมมือกันพัฒนาตลาดเรือครุยส์ จากทะเลบอลติก, สแกนดิเนเวีย, แอตแลนติก, แปซิฟิก โดยขอให้ทุกประเทศพัฒนาท่าเทียบเรือขึ้นมารองรับ

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ทำสำเร็จ เป็นอาคารเทอร์มินัลให้เรือครุยส์ขนาดใหญ่จอดเทียบได้ ล่าสุดเป็นเวียดนาม เหลือไทยกับอินโดฯ ที่พระเจ้าก็ตอบไม่ได้

…ใครจะเสร็จก่อนใคร?

ที่จริงไทยมีตำนานการเดินเรือโดยสารนำเที่ยวกับขนส่งสินค้ามาเมื่อ 50 ปีก่อน นั่นคือ “เรือภาณุรังสี” แล่นจากทะเลกรุงเทพฯ ถึงเกาะสมุยกับท่าเรือสงขลา สุดท้ายที่เกาะสิงคโปร์

เรือลำนี้ได้หายไปเมื่อมีการนำเรือซีทรานส์คิงส์และควีนส์ ซึ่งเป็นเรือมือสองสัญชาติญี่ปุ่น มีห้องนอนหรู ห้องอาหาร และห้องดนตรีบันเทิง ยกเว้นห้องพนันภายในลำเรือมาแล่นนำเที่ยวแทน แถบทะเลสมุย อ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เกาะช้าง จ.ตราด และข้ามไปเกาะตะรุเตา จ.สตูล เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ จ.พังงา และพีพี จ.กระบี่

แต่เคราะห์ร้ายเกิดไฟไหม้ขณะจอดอยู่ท่าเรืออ่าวขาม จ.ภูเก็ต ก่อนจะแล่นไปเกาะลังกาวี มาเลเซีย ในเช้าวันนั้น โดยไม่มีผู้เสียชีวิต

ช่วงเดียวกันมีเรืออันดามัน ปริ๊นเซส เรือมือสองสัญชาติสวีเดนชื่อ “มูฮีบ้า” ที่เป็นเรือคู่แฝด และมาเลเซียนำไปแล่นนำเที่ยวระหว่างท่าเรือกวนตันกับเกาะบอร์เนียวลำหนึ่ง แต่ไทยเราประสบปัญหาการขาดทุนในเวลาต่อมา จึงเลิกราไปโดยมีเรืออันดามัน เอ็กซ์เพรส มาแล่นอยู่พักหนึ่งก่อนเลิกราไปอีกราย

นี่คือบ่วงกรรมที่เคยเกิดกับเรือครุยส์ไทยในอดีต ขณะเรือครุยส์แห่งทะเลบอลติกมีแต่จะเติบโตบนตลาดท่องเที่ยวโลก และได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวผู้นิยมเที่ยวทางทะเล

แม้ตลาดเรือครุยส์ไทยจะอับปางลง แต่สายเลือดไวกิ้งสแกนดิเวียกลับรักที่จะเลือกไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยว ด้วยมีหาดทรายชายทะเลฝั่งอันดามันที่เชื่อว่ามีความงามเป็นทุนเดิม

ประกอบกับสวีเดนมีประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่มีคนออกเที่ยวต่างประเทศมากปีละ 10 ล้านคน/ครั้ง คือสวีดิช 1 คนเที่ยวต่างประเทศเกิน 1 ครั้งใน 1 ปี อีกทั้งเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ให้ลาพักผ่อนประจำปีได้ 3-4 สัปดาห์ หรือสะสมได้นานครึ่งปีโดยรัฐจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ

กระแสนิยมสวีดิชติดใจทะเลไทยนั้น ยิ่งใหญ่ถึงขั้นยกครอบครัวมากินนอนเกาะลันตา จ.กระบี่ ช่วงลูกหลานปิดภาคเรียน โดยนำครูร่วมคณะมาสอนหนังสือให้ลูกหลานตน กับลูก หลานชาวเกาะลันตาไปด้วย มีหลายรายตัดสินใจซื้อบ้านริมหาดใต้ทิวมะพร้าว แถบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกลายเป็นหมู่บ้านสวีดิช เพื่อจะเป็น Repeater มาเที่ยวไทยซ้ำครั้ง

ปี 2545 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) สบโอกาสเปิดตลาดด้วยการไปตั้งสำนักงานสาขาขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม เพื่อกระตุ้นตลาดสแกนดิเนเวียเที่ยวไทยนับแต่บัดนั้น

2 ปีต่อมาไทยตกบ่วงกรรมอีกครั้งจากภัยสึนามิทะเลใต้ กลืนชีวิตผู้คนไปกว่า 6,000 คน รวมถึงทายาทไวกิ้งที่กำลังนิยมเที่ยวไทย

แต่ใครจะไปนึกเล่าว่า บ่วงกรรมครั้งนั้นจะกลายเป็นบ่วงบุญให้กับไทย เมื่อพวกเขาสำนึกในน้ำใจคนไทยที่มีให้ในครั้งนั้น จึงพร้อมจะลบฝันร้ายแล้วกลับมาเที่ยวเมืองไทยใหม่

เหมือนจงใจลืมวันคลื่นลมทะเลหฤโหดวันนั้นไปโดยสิ้นเชิง!

ความจริงที่ยืนยันสิ่งนี้ได้ ก็เมื่อปี 2551 ไทยมีสวีดิชมาเที่ยว 392,274 คน นอร์เวย์ 124,600 คน เดนมาร์ก 149,683 คน โดยเขาเหล่านี้มีวันพักเฉลี่ย 13-17 วัน ใช้เงินคนละ 3,690-3,877 บาทต่อวัน

เมื่อศักยภาพตลาดสวีเดนดีขึ้น นลินี ปาณานนท์ ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.ททท. สำนักงานสตอกโฮล์ม จึงเกิดความคิดทำตลาดแบบท้าทายพฤติกรรมคนแถบนี้ ด้วยการประสานสถานเอกอัครราชทูตไทย ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ บุกเจาะตลาดโดยตรงสู่กลุ่มผู้บริโภค

ด้วยการจัดเทศกาลท่องเที่ยวไทย หรือ Thai Festival เป็นงานส่งเสริมการขายแบบ Consumer Sale โดยใช้สถานที่ภายในเรือครุยส์ขนาดใหญ่ของทัลลิ้ง ซิลย่า ไลน์ สูงขนาดตึกโรงแรม 12 ชั้น รับผู้โดยสารได้ 2,800 คน เรือลำดังกล่าวแล่นออกจากท่าเรือทัลลิ้ง ซิลย่า ไลน์ เหนือทะเลบอลติก กลางกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อเวลาย่ำเย็น 17.45 น.

การจัดงานมีขึ้นบริเวณลานต้อนรับกลางลำเรือ ที่ถูกปลุกบรรยากาศให้แลดูเหมือนเมืองไทย มีกิจกรรมสาธิตแกะผลไม้ไทย ศิลปะเขียนร่มกระดาษสา การเชิดหุ่นกระบอก และชวนชิมอาหารคาว-หวานไทย ผลไม้ไทย

พิเศษสุดคือการนวดแผนไทยโบราณ ที่ผู้โดยสารแห่มารอคิวโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการ เพราะนี่คือการขายท่องเที่ยวไทยที่สวีดิชก็นึกไม่ถึง

ระหว่างเรือแล่นอยู่เหนือทะเลบอลติก ภายในเธียเตอร์เรือเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของการนำศิลปะโขนชุดหนุมานจับนางสุวรรณมัจฉา การต่อสู้ศิลปะมวยไทยและกระบี่กระบองมาจัดแสดง ท่ามกลางผู้ชมนับพันคน

ถือเป็นการสร้างกระแสรับรู้ผ่านยุทธศาสตร์การตลาด ที่แสนจะคุ้มค่าแบบไม่ซ้ำซาก และท้าทายเหล่าลูก-หลานนักเดินเรือชาวไวกิ้งคิดวางแผนมาเยือนไทย

จนเมื่อเรือแล่นเข้าเทียบท่าทัลลินน์ กลางเมืองมรดกโลกประเทศแอสโทเนียเช้าวันรุ่งขึ้น เรือก็จะจอดรอผู้โดยสารชุดใหม่ 2,800 คน กลับกรุงสตอกโฮล์มเย็นวันเดียวกัน เพื่อจะได้สัมผัสความเป็นไทยอีกคณะหนึ่ง ตามแผนการขายท่องเที่ยวแบบปรับเปลี่ยนเวทีจัดงานใหม่ จากศูนย์ประชุมหรู มาสู่เรือนำเที่ยวทะเลลึกลำมหึมา เสมือนการย้อนหาแผ่นดินใหม่ของชาวไวกิ้ง

เชิงชั้นการทำตลาดเที่ยวนี้คงไม่ใช่การเหมาโหลเอาจำนวน Pax เป็นตัวตั้ง เพื่อหวังดึงปลาซิวปลาสร้อยมาเที่ยวไทย

หากแต่เป็นการจุดประกายให้บุคคลในกลุ่มตลาดเป้าหมาย คือนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเกิดการรับรู้ศักยภาพท่องเที่ยวไทยผ่านเวทีแห่งนั้น ที่มีผู้ร่วมทางถึง 5,600 คนทั้งไปและกลับ กับที่ผ่านสื่อสแกนดิเนเวียทุกแขนง ที่ทีมไทยแลนด์เชิญไปร่วมงานอีกจำนวนมหาศาล ได้รับรู้เป็นทางเลือกแล้วคิดวางแผนจะเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทย

นี่เป็นมิติใหม่ด้านตลาดท่องเที่ยวที่ไทยเคยมี แต่น่าเสียดาย…มันหายไปหมดแล้วในยุคนี้!