คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บนพื้นภูมิแห่งความว่าง การบูชาคือประตูสู่ “โลกศักดิ์สิทธิ์”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้รับโอกาสในการสอนเรื่อง “การบูชา” ที่สถาบันวัชรสิทธาอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากเคยสอนไปในปีที่แล้ว

ที่จริงก็รู้สึกแปลกใจอยู่นิดๆ ที่คอร์ส “บูชา” เป็นคอร์สที่มีผู้สนใจมาก ทั้งๆ ที่มันดูเป็นอะไรที่เหมือนจะล้าสมัย ไม่น่าที่คนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจเลย

แต่กลับผิดคาดเพราะผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น

ผู้เรียนในคอร์สนี้มาจากภูมิหลังและวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย มีทั้งนักวิชาการ อาชีพอิสระ เจ้าสำนัก นักธุรกิจ ฯลฯ

บางคนมาเพราะกำลังค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม

บางคนมาเพราะอยากรู้จักเรื่องพวกนี้

และน่าดีใจที่หลายท่านเป็นแฟนงานเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ (แฮ่) มีเพียงบางท่านที่มาเพราะสนใจด้านพิธีกรรมเป็นพิเศษ

โจทย์ยากสำหรับผมคือจะออกแบบการสอนอย่างไร ที่สามารถสื่อสารกับผู้เรียนที่หลากหลาย เพราะบางท่านสนใจเชิงหลักการ

บางท่านสนใจเชิงพิธีกรรมหรือตัวรูปแบบ และจะทำอย่างไรที่จะทำให้การสอนเรื่องบูชาเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับเส้นทางจิตวิญญาณของแต่ละคนได้

 

ผมคงต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังด้วยว่า เดิมทีผมมีท่าทีแบบอนุรักษนิยมในทางพิธีกรรมค่อนข้างมาก ผมเน้น “ความถูกต้อง” ของตัวรูปแบบ แล้วยังเน้นเนื้อหาสาระอีก จนตัวเองมีลักษณะเหมือนผู้พิทักษ์ความถูกต้องของศาสนาอะไรแบบนั้นละครับ

แต่มาวันนี้ หลังจากคบหาเพื่อนหลากหลายก็พบว่า ที่จริงการตีความ การเปิดพื้นที่ของความเป็นอื่น และการประยุกต์พิธีกรรมให้สมสมัยโดยเน้นมิติภายในของแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

ครูบาอาจารย์ผมจึงสอนว่า ถ้าพิธีกรรมมีแต่รูปแบบแต่ปราศจากเนื้อหาสาระก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าอยากรักษารูปแบบก็ต้องเข้าใจแก่นและคงเนื้อหาสาระของพิธีกรรมไว้ให้ได้ด้วย

ผมคิดว่า การเน้นมิติภายในและการใช้ภาษาปกติธรรมดา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับนักตีความและนักการศาสนาที่ประสงค์จะประยุกต์พิธีกรรมให้สมสมัย เพราะมันเป็นเรื่องที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้

สิ่งสำคัญอันหนึ่งไม่ว่าจะพราหมณ์หรือพุทธ เวลาที่เรากระทำบูชานั้นสามารถแบ่ง “ภาวะ” หรืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาออกเป็นหลายระดับ

ในระดับต่ำที่สุด มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่อยู่เหนือเรา มีอำนาจมากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือทวยเทพ แล้วเราก็เข้าไปด้วยความรู้สึกกริ่งเกรง เคารพนับถือ มอบกายถวายชีวิต และถวายสักการบูชาแด่สิ่งที่สูงกว่าตัวเรานั้น

ภาวะอันนี้ในศาสนาฮินดูเรียกว่า ความภักดีแบบ “ทาสยะ” หรือความรู้สึกว่าตนเองนั้นต่ำต้อยดุจทาสหรือผู้รับใช้

มีภาวะแบบอื่นที่น่าสนใจ เช่น “สาขยะภาวะ” (สาขยะ-สหาย) คือถือว่าสิ่งที่เราเคารพนับถือนั้นเป็นประดุจ “เพื่อน” ของเรา หรือแม้แต่ “มธุรยภาวะ” มีความรักหวานชื่นดุจเป็น “คู่รัก” กันก็ได้

ดังนั้น การที่เราจะรู้สึกว่าเราเป็น “เพื่อน” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในคตินิยมแบบแขกก็ไม่ผิดอะไรนะครับ

 

เพื่อนในความหมายนี้คือเป็นผู้ปกป้องดูแล สนับสนุนให้เราก้าวไปในเส้นทางของเรา ตักเตือนเมื่อทำผิด ยินดีเมื่อมีความก้าวหน้า แบ่งปันสุขทุกข์กันได้ ปราศจากความเกรงกลัวต่อกัน และไม่มีอำนาจมากกว่า

ในระดับสูงสุดนั้น คือภาวะที่เราตระหนักรู้ว่า เรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธะหรือทวยเทพ “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

พุทธศาสนาโดยเฉพาะในฝ่ายมหายาน ยืนยันว่าเราแต่ละคนมี “พุทธภาวะ” หรือความดีพื้นฐานในตัวเราอยู่แล้ว ส่วนในฝ่ายฮินดูก็ยืนยันว่า เราแต่ละคนมี “เทวภาวะ” ในตัวของเราแต่ละคนเช่นกัน

ปัญหาคือทำอย่างไร ให้ภาวะเหล่านี้ซึ่งเรามีอยู่แล้วปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน โดยอุบายวิธีต่างๆ ภายใต้ทัศนะเช่นนี้ ทุกผู้คนจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกัน

 

พิธีกรรมหรือการบูชาในระดับสูงสุด คือวิธีการหนึ่งที่จะคอยกระตุ้นย้ำเตือนว่า เราเองคือส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ที่เรากำลังบูชาอยู่ ขณะที่เราถวายสิ่งต่างๆ เพื่อปรนเปรออายตนะทั้งห้าของเทพ เราเองก็กำลังเสพเสวยความสุขด้วยอายตนะของเราในเวลาเดียวกัน

ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานและตันตระของฮินดู มีการ “ตั้งนิมิต” เพื่อเห็นตนเองเป็นพระพุทธะและพระโพธิสัตว์สำหรับการภาวนา (ธยานิพุทธ) หรือเป็นทวยเทพแห่งการสาธนา การตั้งนิมิตเหล่านี้ก็มิได้ย้ำเตือนความศักดิ์สิทธิ์ของเราที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ได้ช่วยย้ำเตือนว่า คนอื่นๆ ก็มีสภาวะศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกันด้วย

โลกทั้งโลกจึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง “สังสารวัฏ” อันน่ารังเกียจนี้ ในที่สุดก็คืออันเดียวกันกับพุทธเกษตรอันประเสริฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับญานทัศนะของเราในการเข้าสัมพันธ์กับมัน

ความศักดิ์สิทธิ์ที่ผมหมายถึง มิได้เป็นอำนาจทิพยศักดิ์อันเด็ดขาด ที่ไม่อาจตั้งคำถามหรือท้าทายได้ ดังที่เราคุ้นชินในวัฒนธรรมอำนาจนิยมของเรา ทว่าคือความดีงามพื้นฐาน หรือคุณค่าภายในของสรรพชีพ

ที่สำคัญ การบูชาที่จะช่วยให้เราเข้าใจ “โลกที่ศักดิ์สิทธิ์” หรือความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ได้ เราจำจะต้องเปิด “ที่ว่าง” บางส่วนในใจของเรา

ผมคิดว่าปัญหาบางส่วนของของนักปฏิบัติ คือการเต็มไปด้วยความคาดหวัง ความคิด เจตนารมณ์ในการปฏิบัติ

เราบูชาด้วยความคิดว่า การบูชานำผลเช่นนั้นเช่นนี้มาให้ เทพเจ้าต้องประทานสิ่งนั้นนี้มาให้ ความศักดิ์สิทธิ์ของเทพที่เราบูชาเป็นแบบนั้นแบบนี้

เมื่อในหัวเต็มไปด้วยความคิดและความคาดหวัง มันจึงไม่เหลือที่ว่างที่จะรับรู้ประสบการณ์ที่สดใหม่และเป็นจริงในขณะนั้นๆ ได้

เพราะขาด “พื้นที่” เราจึงไม่อาจสัมผัสความศักดิ์สิทธิ์ของโลกและตัวเราในแบบที่มันเป็น

 

คําสอนเรื่อง “ที่ว่าง” ซึ่งไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่า แต่คือความว่างที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพที่จะเกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นนี้ ผมเข้าใจว่า คือคำสอนเรื่อง “ศูนยตา” ที่เรารู้จักกันดี

สุดท้ายแล้ว การบูชาก็จะนำเราไปสู่เส้นทางสดใหม่ของประสบการณ์ในแต่ละวัน และจะขยายออกจากห้องบูชาไปสู่ประสบการณ์ในชีวิตสามัญ

เมื่อนั้น ขอบเขตของการบูชาจะค่อยๆ เลือนหายไป รวมทั้งขอบเขตของความศักดิ์สิทธิ์และความสาธารณ์ และนี่อาจเป็นไปได้ที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความรักต่อโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้ง

ดังนั้น บนพื้นภูมิแห่งความว่าง การบูชาคือประตูสู่ “โลกศักดิ์สิทธิ์”