สุจิตต์ วงษ์เทศ/ โลงหิน รากเหง้ารัฐสุโขทัย วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

กล่องหินในหลุมขุดค้น แหล่งโบราณคดีนายเสียน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

โลงหิน รากเหง้ารัฐสุโขทัย

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

สุโขทัย 2,000 ปี มีพยานหลักฐานวิชาการสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐสุโขทัย และต่อรากเหง้าวัฒนธรรมของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่

โลงหิน หรือ กล่องหิน พบแหล่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย เขตติดต่อระหว่าง อ.เมือง จ.ตาก กับ อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย

 

โลงหิน, กล่องหิน

 

โลงหิน หมายถึง โลงศพทำจากหินแผ่นที่ปักเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางยาวเท่าตัวคนนอนได้ แต่ทางวิชาการมานุษยวิทยาโบราณคดีเรียก “กล่องหิน” เพราะไม่พบศพอยู่ในโลงหินนั้น

กล่องหิน หรือ โลงหิน จัดอยู่ในวัฒนธรรมหินตั้ง (มากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว) เป็นงานขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังประจบ (ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก) เมื่อ พ.ศ.2549 โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ [อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์] มีเขียนบอกไว้ (พร้อมภาพถ่ายประกอบ) ในบทความวิชาการเรื่อง “วัฒนธรรมการทำกล่องหินที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ และนายเสียน หนึ่งในปริศนาที่ต้องช่วยกันขบคิด” [พิมพ์ในวารสาร ชุมทางอินโดจีน : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก (กรกฎาคม-ธันวาคม 2556) หน้า 211-240]

แผ่นหินตั้งรูปแบบที่หนึ่ง
แผ่นหินตั้งรูปแบบที่สอง

 

ฝังศพ แล้วขุดศพ

 

โลงหิน (กล่องหิน) พบร่องรอยการขุดรื้อในอดีต ทำให้พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อธิบายว่า “คงมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ที่มีการขุดของที่เคยอยู่ในกล่องหินแล้วนำออกไป” —- “เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขุดเก็บโครงกระดูกทุกชิ้นส่วนออกไป จนทำให้ไม่พบชิ้นส่วนโครงกระดูกเลย” (หน้า 226)

น่าเชื่อว่ามีการขุดกระดูกทุกชิ้นออกไปจากโลงหินตามประเพณีฝังศพครั้งที่สอง มีคำอธิบายรู้กันทั่วไปในหมู่นักโบราณคดี สรุปดังนี้

ฝังศพครั้งแรก เมื่อมีคนตายต้องทำพิธีเรียกขวัญคืนร่างโดยหมอขวัญกับหมอแคน (ตามความเชื่อสมัยนั้นว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายจากร่าง เมื่อเรียกขวัญคืนร่าง คนก็ฟื้น)

แต่ขวัญไม่คืนร่างก็เอาร่างคนตายไปฝังดินรอขวัญคืนร่างต่อไปอีก

ฝังศพครั้งที่สอง นานระยะเวลาหนึ่งหลังเนื้อเน่าเปื่อยหลุดจากกระดูกหมดแล้ว ขุดเอากระดูกล้างน้ำบรรจุใหม่ใส่ภาชนะ (เช่น แคปซูล หม้อไห เป็นต้น) แล้วทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง

ฝังศพตามประเพณีดั้งเดิมตามความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี มีร้องรำทำเพลงและฟ้อนระบำรำเต้น อึกทึกครึกโครมสนุกสนาน (ซึ่งเป็นต้นทางและต้นแบบงานศพปัจจุบันมีสวดอภิธรรม และมีมหรสพ เช่น โขนละคร, ลิเก, ภาพยนตร์, ดนตรีลูกทุ่ง, หมอลำซิ่ง ฯลฯ)

แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ
แหล่งโบราณคดีนายเสียน

 

ทอดน่องท่องเที่ยว

 

รากเหง้ารัฐสุโขทัยอยู่ในเขตพบโลงหิน, กล่องหิน รัฐบาลต้องสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศ และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนท้องถิ่นด้วย

  1. โลงหิน หรือ กล่องหิน เป็นวัฒนธรรมหินตั้ง 2,000 ปีมาแล้ว มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อวิชาการด้านมานุษยวิทยาโบราณคดี และประวัติศาสตร์ไทยเรื่องความเป็นมาแท้จริงของรัฐสุโขทัย ที่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศยังใช้ตำราล้าสมัย
  2. กระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชนอย่างตรงไปตรงมา เพราะพื้นที่วังประจบ ต่อเนื่องแหล่งประวัติศาสตร์สุโขทัย กับแหล่งธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรโดยรอบอีกมาก

 

จัดการตนเอง

 

หมู่บ้านต้องจัดการตนเอง ท้องถิ่นฟื้นแผ่นดินตนเอง, จังหวัดจัดการตนเอง ฯลฯ โอกาสก้าวหน้ามีมากกว่ารอขอส่วนบุญจากส่วนกลางที่ไม่รู้จะกรุณาเมื่อไร? เพราะส่วนกลางยังไม่พร้อมผลักดันเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิง “วัฒนธรรมชาติ”

แต่ที่ต้องมหัศจรรย์ใจ เพราะสถาบันการศึกษาเกี่ยวข้องประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยาไม่นำพาเรื่องนี้ ทั้งๆ เป็นแหล่งสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาการ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประวัติศาสตร์ไทย

พฤติกรรมไม่นำพาแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ (อ.เมือง จ.ตาก) จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ส่งผลให้ท้องถิ่นเสียโอกาสเข้าถึงรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการท่องเที่ยวท้องถิ่น และสังคมไทยโดยรวมเสียโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้