ต่างประเทศ : กม.ชารีอะห์ เครื่องมือกระชับอำนาจสุลต่านบรูไน?

โดนรุมสวดรุมประณามจากทั่วโลก

แต่ก็ไม่มีท่าทีหวาดหวั่นสำหรับบรูไน ประเทศเล็กๆ บนเกาะบอร์เนียว ที่ประชากรมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์เป็นชนมุสลิมมลายู และปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้พระราชอำนาจเด็ดขาดของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ สุลต่านผู้ปกครองบรูไน

ที่เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอาญาฉบับใหม่ภายใต้กฎหมายศาสนาอิสลาม หรือ “ชารีอะห์” ในประเทศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

โดยไม่สนเสียงก่นประณามทักท้วงจากโลกภายนอกที่ร้องเตือนว่าบรูไนจะกลายเป็น “รัฐนอกคอก” ด้วยการย่ำยีสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่กำหนดอัตราโทษรุนแรง

โดยเฉพาะบทลงโทษประหารชีวิตต่อผู้กระทำผิดฐานคบชู้นอกใจและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

นั่นส่งผลให้บรูไนเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเข้มข้นยิ่งกว่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ชาติเพื่อนบ้านอาเซียนที่เป็นชาติมุสลิมขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ด้วยกัน

ที่ในสองประเทศนี้ยังจำกัดอำนาจการใช้กฎหมายชารีอะห์อยู่เฉพาะในบางพื้นที่และบังคับใช้เฉพาะชนชาวมุสลิมเท่านั้น

และทำให้บรูไนจัดร่วมอยู่ในข่ายเดียวกับชาติมุสลิมหลายประเทศในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย ที่ยึดกฎหมายศาสนาบังคับใช้อย่างเคร่งครัดทั่วประเทศ

 

บรูไนเริ่มประกาศแผนการออกกฎหมายอาญาใหม่ ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ที่เข้มข้นมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนจะเริ่มบังคับใช้บทบัญญัติแรกในปีถัดมา ซึ่งมีบทลงโทษไม่รุนแรงนักต่อการกระทำผิดชั้นลหุโทษ

เช่น การมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือการไม่ทำละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติทางศาสนาของชนมุสลิม ซึ่งมีโทษปรับหรือจำคุก

แต่สำหรับกฎหมายอาญาฉบับเต็มที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 เมษายนนี้ มีบทบัญญัติที่กำหนดบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการปาหินใส่จนตายต่อผู้กระทำผิดในข้อหารักร่วมเพศ คบชู้ ข่มขืน ปล้นทรัพย์ และการดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม

ซึ่งอัตราโทษใหม่นี้มีความรุนแรงมากกว่ากฎหมายเดิมที่กำหนดให้การรักร่วมเพศของผู้ชายในประเทศบรูไน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่มีบทลงโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี

กฎหมายใหม่นี้ของบรูไนยังกำหนดโทษตัดมือตัดเท้าผู้กระทำผิดฐานลักขโมยด้วย

โดยอำนาจของกฎหมายชารีอะห์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับผู้กระทำผิดทั้งหมดในประเทศบรูไน ไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นชาวมุสลิมหรือไม่

และยังรวมถึงชาวต่างชาติในบรูไนที่กระทำผิดกฎหมายด้วย

 

ทารุณ โหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และคำก่นประณามอีกมากมายจากผู้นำหลายชาติ แวดวงนักการเมือง องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิ เหล่าคนดัง และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีที ต่างถาโถมเข้าใส่ประเทศบรูไนรัวๆ ให้เปลี่ยนใจและยับยั้งการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากขัดต่อบรรทัดฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้ความเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ของบรูไนว่าเป็นความป่าเถื่อนในการบังคับใช้บทลงโทษที่ล้าสมัยต่อการกระทำที่ไม่ควรถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญา

ขณะที่มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้ของบรูไนเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลและยังแสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของบรูไนเองด้วย

 

มีการตั้งข้อสังเกตของนักวิเคราะห์หลายคนที่ค่อนข้างมองไปในทางเดียวกันว่า การงัดเอามาตรการเข้มข้นทางกฎหมายมาบังคับใช้ครั้งนี้ของบรูไน น่าจะมีนัยยะบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ชี้เป้าไปที่ปัญหาเศรษฐกิจของบรูไน

เช่น แมตทิว วูล์ฟ ผู้ก่อตั้งบรูไนโปรเจ็กต์ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าเศรษฐกิจของบรูไน ประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน กำลังเริ่มเข้าสู่ขาลง ซึ่งอาจสั่นคลอนความนิยมเชื่อมั่นในรัฐบาลลงได้

จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นนี้ของผู้ปกครองบรูไนมีขึ้นเพื่อกระชับอำนาจที่อยู่ในมือของตนเองให้มั่นคงเหมือนที่เคยเป็นมา

ด้านบริดเจ็ต เวลช์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยจอห์นแคบอต ก็มองในลักษณะคล้ายๆ กันว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงของบรูไน ที่อาจทำให้ผู้ปกครองบรูไนมีความวิตกกังวลว่าจะเป็นตัวกัดกร่อนความนิยมที่มีต่อรัฐบาลลง

และมาตรการนี้ก็อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มุ่งจะเอาใจและดึงเอาความเชื่อมั่นจากกลุ่มหัวอนุรักษนิยมที่เคร่งครัดในศาสนาเอาไว้ให้อยู่มือ

 

นักสังเกตการณ์บางคนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า นี่ยังอาจเป็นยุทธวิธีที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาในประเทศของบรูไนอีกด้วย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบรูไนมีสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นกับจีนและจีนไม่เคยแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในบรูไนแต่อย่างใด

หากมีเหตุผลเบื้องลึกแบบอย่างหลังที่บรูไนคิดจะพึ่งจีนเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนตะวันตก ก็ไม่น่าจะคุ้มกัน เพราะตอนนี้มีกระแสเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันบอยคอตธุรกิจของบรูไนกันอย่างเซ็งแซ่

ซึ่งรวมถึงการประสานเสียงกันของคนดังอย่างจอร์จ คลูนีย์ ดาราฮอลลีวู้ด และเอลตัน จอห์น นักร้องชาวอังกฤษ ให้บอยคอตโรงแรมหรูที่เป็นของบรูไนที่ตั้งอยู่ในประเทศตะวันตก เพื่อต่อต้านการใช้กฎหมายฉบับนี้ของบรูไน

แต่ที่น่าห่วงวิตกเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือชะตากรรมของกลุ่มคนแอลจีบีทีในประเทศบรูไนจะเป็นอย่างไร เมื่อกฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิตต่อผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันมีผลบังคับใช้แล้ว

โดยมีรายงานว่ากลุ่มคนแอลจีบีทีชาวบรูไนหลายคนได้พากันหนีออกจากบรูไนก่อนที่กฎหมายชารีอะห์จะมีผลบังคับใช้

ซึ่งต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันที่จะไม่ขอกลับไปประเทศของตนเองอีก เพราะกลัวจะโดนประหารชีวิต!