หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ/’สหายไพร’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เก้ง - เก้งมีประสาทสัมผัสในการระวังไพรเป็นเลิศ สัตว์อื่นจะคอยดูเก้งว่าในแหล่งอาหารปลอดภัยหรือไม่ ก่อนจะออกมา

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สหายไพร’

 

มีสิ่งหนึ่งที่ผมมักบอกคนที่พบเจอ และมีโอกาสได้พูดคุยกันเสมอๆ ว่า

“ถ้าจะรักสัตว์ป่า เตรียมตัวพบกับอาการอกหักด้วย”

เพราะท่าทางที่สัตว์ป่าจะแสดงออกเมื่อพบเจอเรานั้น พวกมัน “ไม่รัก” เราเอาเสียเลย

แค่เพียงได้กลิ่นกายเรา พวกมันก็ตื่นหนี

หรือบางตัวแสดงอาการก้าวร้าวใส่เสียด้วยซ้ำ

พวกมัน “ไม่รัก” คน เพราะมีประสบการณ์อันเลวร้ายที่คนกระทำกับพวกมันมาเนิ่นนาน

ทั้งไล่ล่า ฆ่า และบุกรุกแหล่งอาศัย จับมากักขัง รวมทั้งเป็น “ผู้ร้าย” ในหนังสือ ภาพยนตร์ เรื่องเล่าสารพัด

สัตว์ป่าไม่วางใจคน

พวกมันรู้สึกว่า เราเป็น “ผู้ร้าย” เช่นกัน

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

มีบ้านพักที่สร้างขึ้นมาสำหรับเจ้าหน้าที่หลังหนึ่ง แต่หัวหน้าให้เราพักอยู่ก่อนได้ในระหว่างทำงาน

ผมเห็นบ้านหลังนี้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้าง จอแบ เจ้าหน้าที่ประจำเขต คุมงานก่อสร้างเสร็จภายในสองวัน รูปทรงบ้านเป็นแบบเดียวกับที่ชาวบ้านหมู่บ้านเซปะหละ และหมู่บ้านปะละทะ หมู่บ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลสำนักงานเขต สร้างเพื่ออยู่อาศัย

วัสดุเกือบทั้งหมดเป็นไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตองตึง ไม่ใช้ตะปู ไม้ไผ่มัดด้วยตอก

ผมยืนดูจอแบและลูกทีมสร้างบ้าน

ช่วยได้เพียงหยิบของส่งให้ ทุกคนคล่องแคล่ว คนนี้จักตอก คนนั้นสับฟาก อีกสองคนปีนขึ้นไปมุงหลังคา

ผมยืนดูการสร้างบ้าน แต่คล้ายกำลังดูการสร้างงานศิลปะ

ทุกคนล้วนมีทักษะที่ได้รับการสืบทอดต่อๆ กันมา

“ดูคนโตๆ ทำแล้วทำตามครับ” ทุกคนตอบเช่นนี้ กับคำถามว่า ทำไมชำนาญนัก

บ้านซึ่งใช้เวลาสร้างแค่สองวัน มีทุกอย่างครบถ้วนอย่างที่บ้านควรจะมี ที่นอน ที่นั่งเล่น สิ่งพิเศษคือ กระบะดิน ใช้เป็นเตาไฟ เหนือเตาไฟเป็นชั้นไม้ไผ่ไว้เก็บอาหาร ซึ่งถูกรมควันเสมอ นี่ย่อมเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง

เราใช้เตาไฟนี้ต้มน้ำ ทำกับข้าว

ที่สำคัญคือ มันเป็นเครื่องทำความร้อนในค่ำคืนที่อุณหภูมิลดเหลือเลขตัวเดียว

 

เราเรียกบ้านหลังนี้ว่า “สหายไพร”

ซึ่งมาจากคำว่า “ทีสุมาไลก่า” เป็นภาษาถิ่นของคนในหมู่บ้านยูไนท์ หมู่บ้านชนกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก

มีประชากรจากหมู่บ้านนี้และหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายหมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ในเขต

ความเหมือนกันอย่างหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกกับด้านตะวันตก คือ หน่วยพิทักษ์ป่าหลายหน่วยอยู่ห่างไกล เดินทางยาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน การจะหาเจ้าหน้าที่ไปประจำไม่ง่ายนัก

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ป่าทุ่งใหญ่ เกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นคนในพื้นที่

หน่วยไกลสุด อย่างหน่วยกะแง่สอด เป็นคนพื้นที่เกือบทั้งหมด หลายคนมาจากบ้านยูไนท์

เกือบทั้งหมดเช่นกัน ที่อายุไม่มากเมื่อเรียนจบมัธยมสาม หรือมัธยมหก พวกเขาสมัครเข้าทำงานในป่า

ไม่แค่ทักษะการใช้ชีวิตในป่าที่พวกเขามี เมื่อรวมกับทักษะต่างๆ ที่ได้จากการฝึกอบรม การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่ถือได้ว่าเป็น “เครื่องมือ” อันดีที่สุด และยอมรับทั่วโลกว่า การใช้ระบบนี้ลาดตระเวน ทำให้งานปกป้องชีวิตสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยพวกมันได้ผลมากขึ้น

บางคนใช้ภาษาไทยได้ไม่แข็งแรงหรอก แต่ใช้จีพีเอสอย่างคล่อง

ได้รับการฝึกทักษะการเข้าจับกุมผู้ต้องหา และการปะทะ

การลาดตระเวนในระบบนี้ นอกจากเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว มีการใช้วิทยาศาสตร์ร่วมด้วย

เมื่อตรวจพบแคมป์ผู้ลักลอบล่าสัตว์ เศษสิ่งของต่างๆ เช่น ซองบุหรี่ ซองยา ขวดน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง แม้แต่ก้นบุหรี่ การนำกลับมาเพื่อหาแหล่งจำหน่าย หรือการตรวจหาดีเอ็นเอ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

ถึงวันนี้ แม้ขบวนการค้าสัตว์ป่าจะใหญ่โตมีเครือข่ายซับซ้อน และมูลค่ามหาศาล

คนรับจ้างเข้าป่าฆ่าสัตว์เพื่อเอาซาก มีปัจจัยและอาวุธดีๆ

เหล่าพิทักษ์ป่าที่ทำงานเพื่อป้องกัน ก็พัฒนาขึ้นมากเช่นกัน

 

ผมถามจอแบว่า เพื่อนของป่า ในความหมายของเขาจะพูดว่าอย่างไร

“ทีสุมาไลก่า” เขาตอบ

บ้านหลังที่เราพัก จึงชื่อว่าสหายไพร

 

กับสัตว์ป่า เราใช้ความพยายามอย่างสูง ที่จะเป็นเพื่อนกับพวกมัน

ในงานของเรา สิ่งที่ต้องทำคือ ซ่อนตัวอย่างมิดชิด ไม่ให้สัตว์ป่ารู้ว่าเราอยู่ที่นั่น

และผมก็พบว่า ไม่ว่าจะซ่อนอย่างไร พวกมันก็รู้

ผมมีโอกาสได้เห็น เพราะพวกมันอนุญาต

กระนั้นก็เถอะ อนุญาตให้พบ ไม่ได้หมายความว่าจะยอมเป็นมิตร

 

เราเรียกบ้านหลังนี้ว่าสหายไพร

ถึงจะรู้ว่า ไม่ว่าจะพยายามเช่นไร สัตว์ป่าก็ไม่ยอมรับเราเป็นสหาย

แต่อย่างน้อย ก็เป็นสิ่งปลอบใจ

พยายาม “เป็นมิตร” แล้วโดนปฏิเสธ

นี่คล้ายจะเป็นเรื่องเศร้า อย่างแท้จริง