ศูนย์การค้าทางน้ำ และ “การสร้าง” ให้ประทับใจ

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

วิถีชีวิตริมน้ำ

เป็นพวกนอกกระแส เลยเพิ่งมีโอกาสไปมอง ไอคอนสยาม ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

วันที่ไปมองเป็นวันเสาร์ เลยมีทั้งคนไทยคนจีนเต็มไปหมด สถาปนิกเข้าใจออกแบบ ให้ชั้นล่างของศูนย์การค้าเหมือนตลาดสดที่สับสนวุ่นวาย

ถ้าเพิ่มน้ำนองน้ำขังตามพื้น คงสร้างเสริมประสบการณ์อะเมซิ่งไทยแลนด์ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ส่วนชั้นบนขึ้นไป สถาปนิกออกแบบกว้างขวาง โอ่โถง หรูหรา และทันสมัยทั่วทุกชั้น จึงแตกต่าง แปลกแยก เหมือนคนละบ้าน คนละเมือง

รูปแบบ บรรยากาศ และจำนวนผู้คน ระหว่างชั้นล่างและชั้นบน สามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย คนรวยกระจาย คนจนกระจุกได้อย่างชัดเจน

ที่น่าสนใจของไอคอนสยาม คงจะเป็นทำเลที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ต่างไปจากศูนย์การค้าอื่น ที่อยู่ริมทางหลวงหรือริมถนนสายหลัก ในยุคก่อน และริมทางรถไฟลอยฟ้าหรือใต้ดินในยุคปัจจุบัน

นอกจากเป็นการย้อนอดีตสภาพกรุงเทพฯ ที่อาจส่งผลต่อไปในอนาคต เพราะกระแสความเจริญ โดยเฉพาะตึกสูงริมน้ำทั้งสองฝั่งของเจ้าพระยากำลังมาแรง

แต่ที่แน่ๆ และเป็นปัญหาในตอนนี้ คือการเข้าถึงศูนย์การค้า เจ้าของโครงการคงรู้แล้ว จึงสนับสนุนและรอคอยโครงการรถไฟฟ้าสายสั้นๆ ที่เรียกขานอย่างโก้ว่าสายสีทอง และที่กำลังก่อสร้างอย่างรีบเร่งในตอนนี้ ส่งผลให้รถราติดวินาศสันตะโร จนไม่มีใครกล้าขับรถไปศูนย์การค้าแห่งนี้

การเข้าถึงศูนย์การค้านั้น เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต่อความสำเร็จ เจ้าของโครงการและสถาปนิกจักต้องมีประสบการณ์เท่านั้น จึงจะรู้และเลือกวิธีที่เหมาะสม

ไม่รู้ว่ายังจำได้หรือไม่ว่า เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่สองโครงการอภิมหาศูนย์การค้าคือสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์เปิดตัวพร้อมกัน ศูนย์การค้าสยามพารากอนตั้งอยู่หน้าสถานีสยาม ดูจะได้เปรียบศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่อยู่ไกลจากสองสถานี คือสยามและชิดลม

ทางเซ็นทรัลเวิลด์จึงแก้เกมด้วยการเสนอโครงการซีเอสอาร์ บริจาคสกายวอล์กเพื่อประชาชนให้กับกรุงเทพมหานคร ด้วยบาทวิถีลอยฟ้าที่เชื่อมสถานีชิดลมกับสถานีสยาม และข้ามทางแยกราชประสงค์ ที่มีมูลค่าทางการประชาสัมพันธ์กว่าร้อยล้านบาททันที

หลังจากนั้นอีกสองสามปี เมื่อการรีโนเวตศูนย์การค้าแล้วเสร็จ จึงทยอยสร้างทางเชื่อมเข้าศูนย์ ส่งผลให้ทุกวันนี้เซ็นทรัลเวิลด์ได้เปรียบสยามพารากอน ด้วยมีทางเชื่อมกับสองสถานี และรถไฟสองสาย

สกายวอล์กนั้นยังกลายเป็นรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาเมือง และกลายเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ หรือแม้ในต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นสกายพลาซ่า เชื่อมสถานีพร้อมพงษ์ และศูนย์การค้าเอ็มโพเรียมเจ้าเก่า กับเอ็มควอเทียร์เจ้าใหม่ หรือตรงสี่แยกปทุมวัน ที่เชื่อมศูนย์การค้ามาบุญครอง สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามสแควร์ เข้ากับหอศิลป์กรุงเทพฯ และสถานีสนามกีฬา รวมทั้งบริเวณสี่แยกสาทร นราธิวาส ที่กลายเป็นทำเลยอดฮิต สำหรับการถ่ายภาพ ภาพยนตร์ และมิวสิกวิดีโอ

รวมทั้งสกายวอล์กทั้งเก่าและใหม่ ที่ทำให้ราชประสงค์ประตูน้ำ กลายเป็นย่านการค้าการท่องเที่ยวสำคัญของไทย

อย่างว่าแนวคิดแบบนี้ย่อมไม่มีในต่างประเทศ เพราะเป็นวิธีคิดแบบไทยแท้ เมื่อย่านการค้า สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ต่างๆ ไม่ได้ออกแบบวางแผนให้สัมพันธ์กันในตอนแรก หากเกิดขึ้นตามๆ กันหรือตามใจไทยแท้ หรือตามยถากรรม จึงมีแต่สถาปนิกไทยเท่านั้นที่จะคิดวิธีแก้ไขหรือพัฒนาแบบนี้ได้

เสียดายว่า ที่ปรึกษาโครงการไอคอนสยามคงเป็นสถาปนิกนอกหรือนักเรียนนอก เลยไม่เข้าใจวิถีชีวิตคนไทยที่อยู่ริมน้ำมาช้านาน อาศัยทางน้ำเป็นทางสัญจรหลัก เหมือนกับคนไทยและคนเทศที่จะไปไอคอนสยาม ล้วนอาศัยเรือจากท่าสะพานสาทร ซึ่งที่จริงยังรวมไปถึงศูนย์การค้าอีสเอเชียติ๊กอีกแห่งหนึ่ง ด้วยการจราจรบนถนนเจริญกรุงไม่เคยเอื้อต่อการเข้าถึง

เสียดายว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศูนย์ไหนสนใจ จึงเป็นเพียงพื้นที่ใต้สะพานมืดมัวสลัว ทั้งไม่สะดวกและน่ากลัว

ยังดีที่มีผู้คนมากมายตลอดทั้งวันทั้งคืน

ลองนึกว่า ถ้าเจ้าของโครงการทั้งสองเปิดโครงการพัฒนาเมืองเพื่อสังคม บริจาคเงินสำหรับพัฒนาพื้นที่ ตั้งแต่ริมถนนเจริญกรุง ตามแนวคลองสาทร ไปจนถึงแม่น้ำ เพื่อให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อรถประจำทางทั้งใหญ่และเล็ก รถบริการทั้งสองสามและสี่ล้อ ระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟลอยฟ้าและเรือลอยน้ำ รวมทั้งพัฒนาท่าเรือให้กว้างขวาง

แบ่งแยกบริเวณพักรอทางขึ้น-ลงเรือบริการชนิดต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ส่วนศูนย์การค้าทั้งสองก็จัดเรือบริการขนาดต่างๆ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ เพื่อบริการลูกค้า ทั้งแบบพิเศษและแบบธรรมดาทั้งวันทั้งคืน

วิธีการนี้ นอกจากใช้งบฯ ลงทุนไม่มาก การเข้าถึงยังง่าย สะดวก และเป็นที่ประทับใจในการเข้าถึงศูนย์การค้าทางน้ำ สำหรับคนไทย เท่ากับร่วมกระแสย้อนยุคอุ่นไอรัก สำหรับคนต่างชาติ ผู้ชื่นชอบกับการเดินทางทางน้ำ ที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันในบ้านเขา และสำหรับคนอื่น จะใช้เป็นต้นแบบ พัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ที่รัฐบาลของนายกฯ ตู่เคยอยากได้แต่ไม่ได้ รวมทั้งจะเป็นต้นแบบพัฒนาเมืองเหมือนสกายวอล์กของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะกลับไปอ่านนิทานอีสป เรื่องช้างกับไก่ ที่ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาจนชนะ ผ่านอุปสรรคทั้งปวง