ศัลยา ประชาชาติ : ธุรกิจกอดเงินสด 3.3 ล้านล้าน หยุดลงทุนลุ้นการเมืองฝ่าด่าน Dead lock

เพราะผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ออกมาแบบคะแนนสูสีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ฝั่ง “พลังประชารัฐ” และ “เพื่อไทย” ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลและการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยากยิ่งกว่ายาก

นั่นทำให้นักธุรกิจเริ่มกังวลว่าสถานการณ์ขณะนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ Deadlock หรือภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ลากยาว จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยาการค้าการลงทุนของประเทศไทย

เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจีดีพีจะเริ่มผงกหัวขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และเป็นลักษณะ “รวยกระจุก-จนกระจาย” ด้วยปัจจัยต่างๆ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

แน่นอน เสียงของนักธุรกิจส่วนใหญ่ขณะนี้คือขอให้ “การเมืองนิ่ง” รัฐบาลใหม่จะเป็นใครก็ตาม ขอให้มีเสถียรภาพและสานต่อนโยบายต่างๆ ที่ทำไว้

โดยเฉพาะการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ดังเช่นที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพแค่ไหน และคาดว่าโครงการเก่าจะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวได้อีก และจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่อย่างน้อยก็ทรงตัวหรือดีขึ้น

เหตุเพราะภาคธุรกิจก็เก็บเงินสดเพื่อรอจังหวะการลงทุนมานานแล้ว ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าภาคธุรกิจมีเงินฝากอยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ณ มกราคม 2562 สูงถึง 3.35 ล้านล้านบาท ที่เป็นเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุน

ทั้งนี้หากคำนวณจากช่วงปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ช่วงดังกล่าวภาคธุรกิจมีเงินฝากในธนาคารอยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท เรียกว่า 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจมีการเก็บเงินสดไว้ในธนาคารเพิ่มขึ้นถึง 1.16 ล้านล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะรอจังหวะ และยังไม่เห็นโอกาส

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อธิบายภาพที่เงินฝากในแบงก์ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นว่า เนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยอาจรอจังหวะการลงทุน อาจเพราะยังรอดูความชัดเจนทางการเมืองไทย รวมถึงผลจากปัจจัยต่างประเทศจากปัญหาสงครามการค้า ทำให้ชะลอการลงทุนไว้ก่อน

 

หนึ่งในมุมมองนักธุรกิจที่กังวลว่าสถานการณ์เวลาอาจนำไปสู่ภาวะ Deadlock ทางการเมืองก็คือ นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ที่ระบุว่า การเมืองปัจจุบันอยู่ในช่วงรอคอยว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้

สิ่งที่น่ากังวลคือพรรคที่เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล 2 ฝั่งมีคะแนนเสียงใกล้กัน ทำให้อาจจะเกิด Dead lock หรือภาวะที่ไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ แบบที่ประเทศสวีเดนเคยเผชิญ

“ต้องจับตาดูต่อว่าจะมีใครย้ายฝั่ง จากที่จะจับขั้วกันหรือไม่ และตัวแปรที่เห็นชัดเจนคือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คงต้องมองถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนใหญ่ หากมองในแง่การลงทุน การที่มีรัฐบาลเสียงน้อยเกินไปจะมีผลต่อการออกกฎหมาย รวมถึงการออกกฎหมายงบประมาณอาจผลักดันไม่ผ่าน” นางวรวรรณกล่าว

สอดคล้องกับนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ช่วงนี้คงเป็นช่วงสุญญากาศ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพราะยังต้องรอสรุปผลการเลือกตั้งที่ระบุจำนวนเก้าอี้อย่างชัดเจนจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งตามกรอบจะต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม

โดยขณะนี้ยังมีความก้ำกึ่งในการเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลของทั้งฝั่งพรรคพลังประชารัฐและฝั่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งยากจะคาดเดา แต่หากดูโครงสร้างจากรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้เห็นภาพได้ว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็อาจจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าสุญญากาศการเมืองที่เกิดขึ้น จะไม่ถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และต้องแยกว่าปีนี้มีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ดีมาก ถ้าไม่มีการถอนเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้น ก็จะไม่น่ากังวล

เพราะรัฐบาลปัจจุบันยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ เพราะไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพียงแต่ด้วยมารยาทคงไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนักช่วงนี้ และการเร่งเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนที่อยู่ในไปป์ไลน์อยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท คงเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็คงดำเนินไปตามกรอบได้

“เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับนานาชาติ ที่การเลือกตั้งอาจจะมีรัฐบาลผสม กระทั่งทำให้มีการยุบสภา แต่ถ้านโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ภาพเศรษฐกิจก็คงไม่มีอะไรเสียหาย เพียงแต่เศรษฐกิจอาจไม่เติบโตมาก และน่าจะอยู่ในกรอบใกล้เคียง 4% เหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา” นายธนวรรธน์กล่าว

ขณะที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยืนยันว่า หากการเมืองนิ่ง ในธุรกิจที่มีศักยภาพก็พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อ เช่นกรณีนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ระบุว่า หากการเมืองนิ่ง บริษัทก็พร้อมจะลงทุนต่อยอดจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน

ล่าสุดยังได้จัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตจำหน่ายรถยนต์ระบบพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Pure EV System) ภายใต้แบรนด์ “MINE Mobility” ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมงานคนไทยทั้งหมด

นั่นเป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างจากธุรกิจที่ยังคงเลือกที่จะตุนกระสุนเงินสดไว้ เพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมือง อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย

หากการเมืองมีความชัดเจนและรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวย เมื่อนั้น การลงทุนใส่เม็ดเงินกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยจึงจะเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง