ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ประชาธิปัตย์ตกต่ำ เพราะคนในพรรคไม่สุจริตต่อประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ผลการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เปลี่ยนทิศทางการเมืองของประเทศไปอย่างที่ไม่เคยเป็น เพราะถึงแม้พรรคอันดับหนึ่งของประเทศจะยังเป็นฝ่ายเพื่อไทยอย่างที่เป็นมาตลอดยี่สิบปี แต่จำนวนคนที่เลือกเพื่อไทยจาก 15.7 ล้านในปี 2554 ก็เหลือเพียง 7.9 ล้านในปี 2562 ซึ่งแปลว่าลดลงจากเดิมหนึ่งเท่าตัว

ในกรณีประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคอันดับสองในการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2538 ผลเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับสี่ไปอย่างน่าเจ็บปวด ยิ่งกว่านั้นคือจำนวนคนที่เลือกพรรคซึ่งมีถึง 11.4 ล้านในปี 2554 ก็เหลือเพียง 3.9 ล้านในปี 2562 เท่ากับว่าพรรคถูกเทโดยคนที่เคยเลือกไปถึง 66%

ท่ามกลางภาพใหญ่เรื่องคะแนนจากประชาชนที่ลดลงเหมือนกัน เพื่อไทยแสดงให้เห็นว่ามีผู้สนับสนุนเหนียวแน่นจนพรรคชนะในเขตเลือกตั้งต่างๆ 137 เขต ถึงจะส่งผู้สมัครเพียง 250 เขต ขณะที่ประชาธิปัตย์ชนะ ส.ส.เขตเพียง 33 เขต ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับที่เคยชนะ 115 เขต ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมา

ประชาธิปัตย์มีชะตากรรมตรงข้ามกับเพื่อไทย เพราะผลเลือกตั้ง 2562 ทำให้พรรคไม่เหลือ ส.ส.ในกรุงเทพแม้แต่คนเดียว สื่อบางค่ายถึงกับใช้คำว่าประชาธิปัตย์ตอนนี้ “สูญพันธุ์” ในกรุงเทพกับภาคใต้บางเขตไปแล้ว และน้ำหนักของความสูญเสียก็รุนแรงจนคุณอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคไปในทันที

สำหรับคนที่ไม่พอใจคุณอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ข่าวการลาออกแบบนี้คือข่าวที่น่ายินดีที่สุด แต่การสูญเสียนี้คือการสูญเสียหัวหน้าพรรคใหญ่ที่ไม่เอานายกคนนอก, ค้านรัฐธรรมนูญ คสช.รวมทั้งปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ การลาออกจึงหมายถึงโอกาสที่พรรคจะเปลี่ยนจุดยืนจากขาวเป็นดำทันที

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ประชาธิปัตย์กำลังเผชิญปัญหาสามข้อซึ่งถูกสถานการณ์บีบคั้นให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อแรกคือใครจะเป็นผู้นำพรรคแทนคุณอภิสิทธิ์ ข้อสองคือพรรคจะมีจุดยืนทางการเมืองเรื่องต่อต้านการสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ และข้อสามคือพรรคจะเอาอย่างไรกับการตั้งรัฐบาลปัจจุบัน

ต่อให้เป็นสถานการณ์การเมืองปกติ ปัญหาสามข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากโดยตัวเองอยู่แล้ว และในเวลาที่ประชาธิปัตย์ตอนนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผชิญวิกฤตอย่างถึงที่สุด การบรรจบกันของปัญหาสามข้อยิ่งทำให้พรรคเผชิญการตัดสินใจที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

ในเงื่อนไขที่ประชาธิปัตย์สูญเสียเสียงสนับสนุนและ ส.ส.ไปกว่า 60% สมาชิกพรรคฝ่ายต้านคุณอภิสิทธิ์ฉวยโอกาสสร้างวาทกรรมว่าพรรคถดถอยเพราะคุณอภิสิทธิ์นำไปในทางที่ผิด หมอวรงค์เปรียบเทียบว่าหัวหน้าพรรคเป็นกัปตันที่พาเรือล่ม ส่วนคุณถาวรก็บอกว่าพรรคต้องร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ทันที

ในคำอธิบายที่หมอวรงค์และคุณถาวรสร้างขึ้น ประชาธิปัตย์ถดถอยเพราะประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ , คนเห็นว่าพรรคไม่ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ต่อไปอีกแล้ว และการไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรคมีศัตรูใหม่คือ “ฝ่ายประยุทธ์” เพิ่มจาก “ฝ่ายทักษิณ” ที่เป็นศัตรูเดิม

ภายใต้คำอธิบายของหมอวรงค์และคุณถาวร “วาระ” ที่คนทั้งสองบอกพรรคและสังคมไทยคือพรรคการเมืองมีภารกิจเพื่อเข้าสู่อำนาจเท่านั้น คุณอภิสิทธิ์ผิดเพราะทำให้พรรคเข้าสู่อำนาจไม่ได้ และหนทางเดียวในการฟื้นฟูพรรคคือการกระเสือกระสนให้พรรคเข้าสู่วงจรอำนาจของ “ฝ่ายประยุทธ์” ทันที

ในโลกทัศน์แบบคุณถาวรและหมอวรงค์ ปัญหาเชิงหลักการว่าพรรคการเมืองควรสนับสนุนระบบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่เป็นเรื่องไร้สาระ พรรคที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นพรรคการเมืองที่ผิด และหัวใจของการเมืองมีแค่การทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้พินาศย่อยยับลงไป

คำถามคือหมอวรงค์และคุณถาวรรู้ได้อย่างไรว่าพรรคถดถอยเพราะคุณอภิสิทธิ์นำพรรคผิดทิศ เป็นไปได้หรือไม่ว่าความถดถอยของประชาธิปัตย์เกิดขึ้นเพราะพรรคเดินไปในทางที่ผิดมานานแล้ว และยิ่งกว่านั้นคือทั้งคู่รู้ได้อย่างไรว่าการเป็นลูกสมุน พล.อ.ประยุทธ์ จะฟื้นฟูความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคขึ้นมา?

ถ้าพรรคถดถอยเพราะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ผู้สมัครของพรรคในเขตต่างๆ ก็ควรชนะผู้สมัครจากพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจทั้งหมด แต่หมอวรงค์เองก็แพ้ผู้สมัครจากอนาคตใหม่ซึ่งต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแรงกล้า การสนับสนุนเผด็จการจึงไม่ได้ทำให้พรรคชนะอย่างที่หมอวรงค์มโน

จริงอยู่ คำประกาศของคุณอภิสิทธิ์เรื่องไม่เอาทั้ง “ฝ่ายทักษิณ” และ “ฝ่ายประยุทธ์” ทำให้พรรคเผชิญหน้าเพื่อไทยและพลังประชารัฐพร้อมๆ กัน แต่ความขัดแย้งกับ “ฝ่ายทักษิณ” สิบกว่าปีไม่ทำให้ประชาธิปัตย์ถดถอยเมื่อเทียบกับการที่พลังประชารัฐสาดโคลนว่าประชาธิปัตย์ทำให้บ้านเมือง “ไม่สงบ” ช่วงที่ผ่านมา

ในวาทกรรมที่พลังประชารัฐสร้างขึ้นหลังจากประชาธิปัตย์ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเพื่อไทย ประเทศมีปัญหาเพราะความ “ไม่สงบ” จากฝ่าย “เผาบ้านเผาเมือง” กับ “แพ้แล้วม๊อบ” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทำลายเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าข้อกล่าวหานี้จะเป็นจริงหรือไม่และในแง่ไหนก็ตาม

จากข้อเท็จจริงที่ผู้สมัครประชาธิปัตย์ในกทม.แพ้พลังประชารัฐแทบทุกเขต การถดถอยเกิดขึ้นเพราะคนเชื่อข้อกล่าวหาของพลังประชารัฐว่าพรรคเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดแน่ๆ ถึงแม้ความจริงก็คือสมาชิกพรรคกลุ่มที่มีบทบาทแบบนี้จะถูกลดบทบาทหรือออกจากพรรคไปแล้วก็ตาม

พูดตรงๆ คนจำนวนมากไม่พอใจประชาธิปัตย์เพราะคุณสุเทพ, คุณพุทธิพงษ์, คุณณัฐพลฯลฯ ล้มเลือกตั้งและสร้างเหตุรัฐประหาร และถึงแม้กระบวนการในพรรคจะทำให้คนกลุ่มนี้ออกไปตั้งพลังประชารัฐและรวมพลังประชาชาติ ภาพลักษณ์พรรคที่เสียหายด้วยน้ำมือคนกลุ่มนี้ก็เป็น “ตราบาป” ที่ลบได้ยากอยู่ดี

เมื่ออดีตประชาธิปัตย์กลุ่มนี้ทำให้พรรคเบี่ยงเบนจากประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ย่อมสูญเสียความเชื่อมั่นจาก “ฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่แทบทั้งหมด ผลก็คือพรรคไม่มีทางเลือก นอกจากต้องช่วงชิงคะแนนนิยมจาก “คนส่วนน้อย”ตามเงื่อนไขที่ยุทธศาสตร์นี้บีบให้พรรคมีผู้สนับสนุนน้อยลงตลอดเวลา

แก่นแท้ของประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน พรรคการเมืองที่ไม่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นพรรคที่เอาตัวเองไปเผชิญหน้ากับประชาชนอย่างที่สุด พรรคที่แข็งแกร่งคือพรรคที่มีรากหยั่งลึกในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพรรคที่อ่อนแอคือพรรคที่สายสัมพันธ์กับคนส่วนใหญ่หดแคบลงตลอดเวลา

ยิ่งประชาธิปัตย์เป่านกหวีด, ปล่อย ส.ส.เคลื่อนไหวล้มเลือกตั้ง , ป่วนสภา ฯลฯ พรรคก็ยิ่งผลักตัวเองสู่มุมอับซึ่งโดดเดี่ยวจากคนส่วนใหญ่ และทันทีที่เกิดพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.อย่างสุดโต่ง “คนส่วนน้อย” ย่อมหันไปสนับสนุนพรรคนี้จนทำให้ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างยับเยิน

หากประชาธิปัตย์เดินหน้าบนเส้นทางที่แยกขาดจากประชาชน ประชาธิปัตย์ย่อมกลายเป็นกองหนุนของพรรคพลังประชารัฐจนไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดต่อไปอีก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือพรรคไม่มีสิทธิอวดอ้างว่าตัวเองเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือกระทั่ง “ประชาธิปไตยสุจริต” อีกเลย

ฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ พยายามโค่นล้มคุณอภิสิทธิ์โดยอ้างว่านำพรรคไปในทิศทางที่ไม่ดี แต่ไม่ว่าคุณอภิสิทธิ์ในฐานะนายกจะเป็นอย่างไร คุณอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคคือคนที่ทำให้พรรคเติบโตจากการมี ส.ส.ระดับ 100 เป็น 172 ในการเลือกตั้ง 2550, 159 คนในการเลือกตั้ง 2554 และ 50กว่าๆ ในปัจจุบัน

หมอวรงค์และคุณถาวรสร้างวาทกรรมว่าประชาธิปัตย์จะโตขึ้น หากหนุนฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย แต่ตัวเลขส.ส.ของพรรคบอกว่าประชาชนให้ความไว้วางใจพรรคสูงสุดในเวลาที่คุณอภิสิทธิ์มีความสด และค่อยๆ ลดลงในเวลาที่พรรคถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาชน

สำหรับคนที่เข้าใจว่าหนทางสู่อำนาจของพรรคการเมืองต้องชนะใจมหาชน เส้นทางสร้างพรรคย่อมได้แก่การทำให้พรรคเป็นของคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด คำประกาศเรื่องไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เหตุให้พรรคล้มเหลว แต่พรรคล้มเหลวเพราะ “คนส่วนใหญ่” ไม่เชื่อว่าพรรคจะทำอย่างที่พูดจริงๆ

ในเวลาที่ผลเลือกตั้งชี้ว่าพรรคซึ่งเอา “ระบอบประยุทธ์”” อย่างพลังประชารัฐมีประชาชนเลือกแค่ 8 ล้านราย ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิราวๆ 20.4 ล้าน กลับเลือกพรรคซึ่งแสดงเจตจำนงว่าไม่ต้องการให้ระบอบนี้คงอยู่ต่อไปอีก หนทางสู่การฟื้นฟูประชาธิปัตย์จึงมีแต่การเดินบนเส้นทางเดียวกับคนส่วนใหญ่กว่าที่ผ่านมา

หากประชาธิปัตย์ยุคหลังคุณอภิสิทธิ์เปลี่ยนไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์ย่อมทรยศประชาชนที่เลือกพรรคเพราะไม่เอาการสืบทอดอำนาจราวๆ 3.9 ล้าน เพียงเพื่อเป็นกองหนุนของพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ จนประชาธิปัตย์เป็นพรรคไร้ราคาที่ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือทันที

ประชาธิปัตย์ไม่ได้ถดถอยในการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะคุณอภิสิทธิ์ประกาศแนวทางที่ผิดพลาด ประชาธิปัตย์ถดถอยเพราะเลือกเส้นทางที่ถอยห่างจากคนส่วนใหญ่มากว่าสิบปีแล้ว วิธีเดียวที่จะฟื้นฟูพรรคจึงได้แก่การนำพรรคกลับสู่เส้นทางนี้ หรืออาจถึงขั้นลดบทบาทสมาชิกพรรคที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบนี้ไปเลย

การ “ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ” ควบคู่กับสร้าง “ประชาธิปไตยสุจริต” ไม่ได้ทำให้ประชาชนเลือกประชาธิปัตย์น้อยลง แต่ประชาธิปัตย์พูดเรื่องนี้ในเวลาที่พรรคถูกมองว่าไม่สุจริตต่อประชาธิปไตยมานานแล้ว พรรคจึงต้องละทิ้งหนทางสู่หายนะแบบนี้แล้วเดินหน้าสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นขึ้นทันที

ประชาธิปไตยสุจริตไม่ใช่ปัญหาของพรรคเท่าความไม่สุจริตต่อระบอบประชาธิปไตย