“เจ็บแล้วจำ” กับ ตำนาน และ สำนวนของชาวล้านนา ที่มาเพราะการจัดระเบียบ ?


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กิ๋นแล้วหื้อเก็บ เจ็บแล้วหื้อจ๋ำ”

แปลว่า เมื่อกินข้าวเสร็จแล้ว ควรจะเก็บทุกอย่างเข้าที่ให้เรียบร้อย และหากได้รับความเจ็บปวดก็ให้จดจำความเจ็บปวดนั้นไว้

ความหมายคือ เป็นคำสอนลูกหลานให้ฝึกฝนตนเองเป็นคนมีระเบียบ รู้จักเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยหลังจากกินข้าว หลังจากเสร็จงาน และหากถูกลงโทษเพราะทำอะไรผิด เช่น ถูกตีแล้วเจ็บ หรือกระทั่งทำผิดพลาดแล้วเจ็บตัว หรือเจ็บใจ ควรใช้ประสบการณ์ของความเจ็บปวดนั้นสอนตัวเองให้จดจำ

จะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก

ยังมีนักบวชเซนพี่น้อง 2 คนอาศัยอยู่ในกุฏิเดียวกัน คราหนึ่งได้รับธรรมะจากอาจารย์มาว่าต้องถือเป็นหน้าที่ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

วันหนึ่งมีแมงป่องตัวหนึ่งตกลงไปในบ่อน้ำเล็กๆ หน้ากุฏิ นักบวชพี่จึงเอามือไปช้อนแมงป่องขึ้นมาจากน้ำ ตามประสาแมงป่องที่ตกใจ จึงต่อยนักบวชคนพี่ที่ยื่นมือไปช่วยขึ้นมาจากน้ำ จนมือปวดบวม ได้รับความทุกขเวทนายิ่งอยู่หลายวัน

เวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งก็มีแมงป่องอีกตัวหนึ่งตกลงไปในบ่อน้ำ นักบวชคนพี่ก็เอามือไปช้อนมันขึ้นมา และถูกต่อยจนมือบวมเป็นคำรบสอง

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ มีนักบวชคนน้องเฝ้าดูอย่างเงียบๆ

เมื่อแมงป่องตัวที่สามตกลงไปในบ่อน้ำอีกครั้ง และนักบวชคนพี่จะช่วยช้อนแมงป่องขึ้นมา นักบวชคนน้องจึงกล่าวว่า

“พี่ท่าน ถึงแม้ว่าอาจารย์จะสั่งให้เราช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้สรรพสัตว์ แต่ไยท่านต้องทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ท่านเจ็บตัวแล้วหาได้รู้จักจำไม่ ท่านสามารถหาวิธีอื่นช่วยแมงป่องขึ้นจากน้ำได้นี่นา อย่างเอาทัพพีมาตัก หรือเอาไม้มาทอดให้มันไต่ขึ้นมาเอง ทำแบบนี้ไม่ดีกว่าจะยอมเจ็บเพราะถูกแมงป่องต่อยดอกหรือ”

แบบนี้แหละที่สำนวนล้านนาสอนว่า “เจ็บแล้วให้จำ”